“แสตมป์แห่งสยาม” เมื่อโปรโมชั่นแสตมป์ถูกตีตราโดยเซเว่น จ่าย 50 ได้คืน 1 บาท ไม่ใช่ประเด็นของคนคลั่งแสตมป์

เซเว่นอีเลฟเว่น (เซเว่น) ไม่ใช่แบรนด์ค้าปลีกรายเดียวที่หยิบแสตมป์มาใช้เป็นโปรโมชั่นปั่นยอดขาย แต่มีร้านค้าปลีกอีกหลายรายที่หันมาทำตามกัน แม้กระทั่งยูนิลีเวอร์ก็ยังหยิบมุกนี้ไปเล่นเพื่อให้ลูกค้าสะสมยอดซื้อสะสมดาวแลกของแถม ในร้านติดดาว ร้านโชห่วยในสังกัด เพราะไหนๆ ก็ทำโปรโมชั่นแบรนด์สินค้ากับเซเว่นอยู่แล้ว หยิบออกมาทำเองบ้างก็น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายและลอยัลตี้ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเซเว่นเป็นเจ้าบุญทุ่มที่จับจองความเป็นเจ้าตลาดการทำโปรโมชั่นกับแสตมป์ไปแล้ว และกลายเป็นประเพณีประจำทุกปีที่จะต้องมีแคมเปญออกมาให้ผู้ซื้อนักล่าแสตมป์ตามสะสม ขณะที่คนไม่สนใจก็มีสองทางเลือก คือได้แสตมป์ไว้ใช้แทนเงินสดในครั้งต่อไป หรือไม่ก็เลือกทำบุญร่วมขันกับเซเว่นไปเสียเลย กับอีกทางเลือกที่ไม่ตั้งใจคือปล่อยให้แสตมป์หล่นหายเพราะขี้เกียจคอยเก็บ

เพราะฉะนั้นคนสองสามกลุ่มหลังนี้จึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของแสตมป์เซเว่น เพราะกลยุทธ์หลักของแสตมป์เซเว่นนั้นโดยส่วนมากจะเลือกใช้คาแร็กเตอร์มุ้งมิ้งน่ารักที่กำลังดัง หรือดังมานานมีแฟนคลับจำนวนมากเพื่อนำมาล่อใจกลุ่มแฟนคลับให้ตามหาสะสมเพื่อใช้แลกของพรีเมียม ซึ่งจะทำออกมาพร้อมกันแลกเก็บไว้ใช้ ซึ่งตอนหลังเมื่อมีกระบวนการคอยเก็บสะสมแล้วแลกมาขายต่อคนที่ขี้เกียจสะสมแต่อยากได้ของ ก็เลยมีช่องทางหาสินค้าที่ชอบมาใช้ได้ง่ายขึ้น

สำหรับกลุ่มผู้ชื่นชอบเป็นแฟนตัวจริงของคาแร็กเตอร์ที่เลือกมาทำแสตมป์ บางกลุ่มก็เลือกที่จะสะสมด้วยตัวเอง

สิ่งหล่านี้คือความต้องการเบื้องต้นที่ถูกหยิบมาทำเป็นกลยุทธ์การตลาดที่เซเว่นจับมือกับพันธมิตรแบรนด์ต่างๆ ในร้าน คัดสินค้ามาทำโปรโมชั่นเพื่อให้ส่วนลดผ่านแสตมป์อีกทีเพราะเมื่อลูกค้าต้องการแสตมป์แล้วถ้าต้องการใช้สินค้าด้วยก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ต่อให้ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อสินค้าบางอย่างถ้าแถมแสตมป์หนักๆ เพื่อยอดแสตมป์สะสมก็ทำให้สินค้านั้นสร้างยอดขายในช่วงสั้นๆ ขึ้นได้เร็วกว่าปกติเช่นกัน

ตัวกลางผู้สร้างแคมเปญแสตมป์อย่างเซเว่นก็เลยได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะไหนจะได้แรงดึงดูดผู้ซื้อให้จ่ายขั้นต่ำสูงขึ้นก็ได้เงินจากกระเป๋า แบรนด์มาร่วมทำโปรโมชั่นสร้างความคึกคักให้กับร้านไปพร้อมๆ กัน บางแบรนด์ถึงกับทำโฆษณาโปรโมชั่นกระตุ้นให้คนไปซื้อที่เซเว่นอีกด้วย เพราะรู้ดีว่าช่วงจังหวะที่เซเว่นทำแคมเปญแสตมป์คือช่วงที่แบรนด์สามารถทำยอดขายเพิ่มได้เช่นกัน

ย้อนรอยแสตมป์เซเว่น

ก่อนจะมาเป็นแสตมป์แห่งสยาม เซเว่นเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2542 แนวคิดเริ่มต้นก็คือการให้ส่วนลดกับลูกค้าที่ใช้บริการ แต่ก็ต้องการสร้างสีสัน ความสนุกมากกว่าการให้ส่วนลดธรรมดา จนถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าไม่ว่าด้วยอะไรก็ตาม แสตมป์เซเว่นถือเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติมากกว่าแสตมป์หรือคะแนนสะสมของร้านค้าปลีกทั่วไป จากความถี่ที่มีลูกค้าเข้าร้านอย่างต่อเนื่อง ซื้อซ้ำ และมีสาขากระจายทั่วทุกแห่ง

ส่วนลดผ่านแสตมป์ยุคแรกเริ่มต้นจาก 30 บาท ได้แสตมป์ 1 ดวง จากนั้นปรับขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาท ตามลำดับ ส่วนแสตมป์พิเศษมูลค่า 3 บาทและจำนวนแสตมป์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการทำโปรโมชั่นกับสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในร้าน ซึ่งถือเป็นส่วนการใช้งบการตลาดของแต่ละแบรนด์สินค้าที่แถมแสตมป์ ก็ไม่ต่างจากสินค้าลดราคาตามห้างทั่วไปเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบมาให้ส่วนลดเพื่อใช้ในครั้งต่อไป ซึ่งถือว่าแยบยลกว่า

ปี 2555 เป็นปีแรกที่เริ่มขยับมูลค่าการซื้อขั้นต่ำเป็น 50 บาท เพื่อได้แสตมป์ 1 บาท 1 ดวง คำนวณแล้วเท่ากับให้ส่วนลดสำหรับนำไปซื้อสินค้าครั้งต่อไปเพียงแค่ 2% ซึ่งต่ำกว่าส่วนลดของบัตรสมาชิกหรือลอยัลตี้การ์ดของห้างค้าปลีกทุกประเภทที่มีอยู่ในเมืองไทย ซึ่งโดยทั่วไปจะให้ส่วนลดกับสมาชิกประมาณ 5% และ 10% ตามประเภทสมาชิก

ถ้าอยากได้สิทธิประโยชน์จากการสะสมแต้มใช้แทนเงินสดหรือแลกซื้อสินค้ามากขึ้น เซเว่นยังมีเซเว่นการ์ดให้ลูกค้าฝากเงินไว้ในระบบก่อนซื้อสินค้าได้อีก หรือใครสะดวกจะใช้ผ่าน TrueMoney Wallet ในเครือเดียวกันก็ได้ ส่วนแสตมป์ถ้าไม่ชอบเก็บเป็นดวงๆ ก็มีแอปเซเว่นอีเลฟเว่นให้สะสมผ่านแอปได้สมกับยุคดิจิทัล.