คนไทยติดกล้องหน้ารถใหม่ 1 แสนคันต่อปี!

เปิดสถิติไม่ธรรมดาในวงการกล้องติดหน้ารถหรือแดชแคมของตลาดไทย ผู้บริหารแบรนด์ “Mio” ระบุ วันนี้ผู้นำตลาดไทยตัวจริงคือแบรนด์จีนที่ครองส่วนแบ่งมากกว่า 80-90% ยอมรับคำสั่ง คปภ. ให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์กับรถยนต์ที่ติดตั้งกล้องหน้ารถมีส่วนกระตุ้นให้ตลาดไทยโต แต่ก็ยังโตไม่มากเพราะพบว่าวันนี้รถใหม่ป้ายแดงมีอัตราการติดกล้องคิดเป็น 10% เท่านั้น น้อยกว่าตลาดชั้นนำอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีสัดส่วนสูง 50-70%

เบื้องต้น Mio ยืนยันว่าการแข่งขันในตลาดกล้องติดหน้ารถวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ราคาเท่านั้น แต่จะอยู่ที่คุณภาพเครื่องด้วย จุดนี้เชื่อว่าคนไทยจะเรียนรู้ความผิดหวังจากการใช้งานกล้องไร้คุณภาพราคาประหยัด เหมือนที่คนไต้หวันเรียนรู้จนทำให้ Mio ครองส่วนแบ่งได้มากกว่า 45% 

สำหรับ Mio นั้นเป็นอดีตแบรนด์จีพีเอสที่เคยเปิดตลาดไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การกลับมาสู่ตลาดกล้องหน้ารถครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา Mio ระบุว่ารอบนี้จัดเต็มทุกกลยุทธ์เพื่อฉีกว่า Mio ต่างกับแบรนด์จีนอบ่างไร คาดว่า 3-5 ปีจะสามารถขึ้นแชมป์ตลาดกล้องติดรถไทยได้ไม่ยาก

ราคากล้องหน้ารถไทยเฉลี่ย 2,000 บาท

สรัณย์ ธีรวชิรกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ไฮเทค ไมโคร ซิสเท็ม จำกัด ให้ข้อมูลในงานเปิดตัวกล้องติดรถยนต์ MiVue รุ่นใหม่ในประเทศไทย ว่าแม้จะไม่มีการสำรวจค่าเฉลี่ยราคากล้องติดรถยนต์ในตลาดไทยที่แน่นอน แต่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับราคากล้องระดับบนที่มีราคาเฉลี่ย 4,000 บาทสำหรับกล้องหน้า และ 8,000 บาทสำหรับกล้องหน้าและหลัง ขณะที่แบรนด์เกาหลีนั้นก้าวกระโดดไปหลัก 1-2 หมื่นบาท

ผู้บริหาร Mio ยังให้ข้อมูลว่า ปริมาณรถยนต์ใหม่ในไทยที่ติดกล้อง มีจำนวนราว 9 หมื่นถึง 1 แสนคันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 10% ของตลาดรถใหม่ที่คนไทยออกรถป้ายแดงระหว่าง 9 แสนถึง 1 ล้านคันต่อปี สัดส่วนนี้ถือว่าเติบโตขึ้นแล้ว จากแรงผลักดันที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้ออกคำสั่งมีผลบังคับตั้งแต่ 3 มี.. 2560 ให้ส่วนลดจากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ 5-10% กับรถยนต์ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดหน้ารถ เพราะภาพจากกล้องแดชแคมเหล่านี้ช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวเลขนี้แม้จะถือว่าน้อยกว่าญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน หรือฮ่องกง ที่มีสัดส่วนรถใหม่ติดกล้องมากกว่า 50-70% แต่ผู้บริหาร Mio เชื่อว่ามีโอกาสงามรออยู่ในตลาดไทยโดยเฉพาะเนื่องจากกล้องติดรถจีนบางแบรนด์อาจไม่ทนทานอากาศร้อนของประเทศไทย อาจเป็นต้นเหตุให้จุกยางเสีย

ผลคือ Mio วางแนวทางการตลาดไว้ 3 ทางเพื่อบุกตลาดกลางถึงบน ทางแรกคือการไปที่ร้านเครื่องเสียง เพื่อเข้าถึงเจ้าของรถที่ต้องการอุปกรณ์ติดตาม ทางที่ 2 คือมุ่งไปที่ค่ายรถ ทั้งในแง่การโออีเอ็มเป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์เฉพาะค่าย และการจับมือกับโชว์รูมบางแห่งที่จะมีทีมติดตั้งและบริการแบบไม่เหมือนกล้องติดรถทั่วไป ทางที่ 3 คือการวางขายตามร้านไอทีและออนไลน์ เพื่อรองรับกรณีลูกค้ามาซื้อทั่วไป

ตลาดกล้องติดรถไทยเตรียมระอุ

งบการตลาดที่ Mio เตรียมไว้คือ 3 ล้านบาท เป้าหมายคือยอดจำหน่าย 5,000 เครื่องในปีนี้ คิดเป็น 5% ของตลาดรถใหม่ที่ติดกล้อง ปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10% คาดว่าต้องใช้เวลา 3-5 ปีข้างหน้าเพื่อเป็นผู้นำตลาดไทย

งบประมาณ 3 ล้านบาทอาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่สะท้อนว่าตลาดกล้องติดรถไทยกำลังจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่ความน่าสนใจคือ Mio เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มียอดขายมาแล้วมากกว่า 50 ล้านเครื่อง ในระดับโลกถือว่าติด Top 3 ซึ่งด้วยความที่เป็นฐานรับผลิตให้แบรนด์อื่นด้วย ทำให้ทีม Mio มั่นใจว่าจะสามารถเขย่าตลาดได้ด้วยคุณภาพ

นอกจากแบรนด์จีน ผู้บริหาร Mio ประเมินว่าแบรนด์อื่นในตลาดกล้องติดรถไทยคือโลคอลแบรนด์ที่บริษัทไทยเลือกซื้อแบบกล้องแล้วมาติดแบรนด์เอง ขณะที่แบรนด์คุ้นหูในตลาดอุปกรณ์เสริมสำหรับรถอย่าง Garmin ก็เน้นที่ระบบจีพีเอสนำทางและสายรัดสุขภาพ โดยแม้ Garmin กับ Mio จะเป็นแบรนด์ไต้หวันเหมือนกันที่ไล่บี้กันมานาน แต่ก็หนีกันไปตามความต่างของสินค้า โดยเฉพาะในตลาดแดชแคมที่ Garmin ครองส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก

วิธีการที่ Mio จะทำเพื่อฉีกให้ตลาดเห็นว่าต่างกับแบรนด์จีนอบ่างไร ไม่ใช่การรับประกัน เพราะยังกำหนดที่ 1 ปีเท่าเดิม (ผู้บริหารยืนยันว่าสามารถใช่้ได้นาน 5-6 ปีโดยไม่ต้องซ่อม) แต่อยู่ที่การกระชับมิตร 20 ศูนย์ตัวแทน ร่วมกับการทำเซอร์วิส มีทีมออนไซด์ที่เข้าถึงโชว์รูมรถหรูอย่างเบนซ์ บีเอ็ม และพอร์ช ซึ่งยอดขาย 3-4 เดือนที่ผ่านมาทำให้คาดว่ามีรถเบนซ์จำนวนมากที่ติดกล้อง Mio ไปวิ่งบนถนน

ตอนนี้ต้องบอกว่าผู้เล่นในตลาดกล้องติดรถไทยเป็นโลคอลแบรนด์ ไม่ใช่โกลบอลแบรนด์ มาร์เก็ตแชร์ไม่ได้เยอะมาก ผู้นำที่จริงคือสินค้าจีนมากกว่า มีบีเอ็มดับลิวที่พัฒนากล้องหน้าหลังของเขาเอง สำหรับแบรนด์รถระดับแมสอย่างโตโยต้า Mio ก็เริ่มเจรจาแล้วคาดว่าจะเห็นผลชัดครึ่งปีหน้า

Mio ระบุว่าได้เปิดการเจรจากับทั้งค่ายรถและศูนย์โชว์รูมในไทย ทำให้อาจจะมีพันธมิตรเป็นค่ายรถอื่นเพิ่ม หลังจากที่ Mio สามารถจับมือกับฟอร์ดในไต้หวัน พัฒนา Mio เป็นอุปกรณ์เสริมส่วนหนึ่งของรถยนต์แล้ว จุดนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ Mio สามารถแทรกตัวเป็น Option ให้ผู้ซื้อรถสามารถเลือกติดตั้งได้ที่โชว์รูมรถเลย ทั้งหมดนี้ Mio ทำได้เพราะได้มาตรฐาน ISO 16949 ซึ่งบริษัทใดที่ไม่ได้ ISO นี้ก็จะไม่สามารถเป็นโออีเอ็มผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ที่น่าเชื่อถือได้

เมื่อถามว่านับจากนี้ตลาดกล้องติดรถจะไปแข่งขันกันที่ไหน เควิน เกา ผู้อำนวยการฝ่ายของ Mio ประจำภูมิภาคเอเชีย ย้ำว่า มีความแตกต่างในบางประเทศ เช่น จีนและรัสเซียที่เน้นแข่งขันที่ราคา แต่ตลาดสหรัฐฯ หรือตลาดญี่ปุ่นก็เน้นแข่งขันที่คุณภาพ ซึ่งหากมองในไทย เชื่อว่าจะเป็นการแข่งขันที่ผสมผสาน เพราะคนไทยต้องการคุณภาพบนราคาที่จับต้องได้

เราต้องโชว์ให้ได้ว่าทำไมต้องซื้อแบรนด์เรา เราเลยเจาะกลุ่มบน ที่ผ่านมาเราเน้นช่างติดตั้ง จุดขายคือการเก็บสายให้เรียบร้อย ราคาสินค้า Mio วันนี้อยู่ที่ระหว่าง 3,500-8,900 ถือว่าสูงในตลาด แต่ก็ต่ำกว่ากลุ่มเกาหลีที่ตั้งไว้ระดับ 2 หมื่นบาท และแบรนด์อื่นที่ทำกล้องติดหน้าและหลังรถ

Mio ยังระบุว่าแม้บริษัทจะมีโปรเจกต์โออีเอ็มกับหลายค่ายหลายแบรนด์ทั่วโลก แต่ในภาพแบรนด์ยังมีสัดส่วนไม่แน่นอนในแต่ละประเทศ เช่น ไต้หวันที่ตลาดใหญ่ 100% เป็นแบรนด์ Mio ทั้งหมด แต่ในญี่ปุ่นไม่มีการทำแบรนด์ Mio เลย 

รากฐานความเก่งของ Mio ยังอยู่ที่ประสบการณ์ในตลาดจีพีเอส ซึ่ง Mio เคยเปิดตัวจีพีเอสรุ่นแรกในไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากจีพีเอสตลาดหดตัว Mio จึงเน้นพัฒนากล้องแดชแคมแทน สถิติการเปิดตัวที่ตลาดหลักอย่างไต้หวันคือ 40 รุ่น ยังมีโอกาสอีกมากที่ Mio จะปูพรมเปิดตัวรุ่นใหม่ในตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง

Mio เครือ Synnex 

อีกดีกรีน่าสนใจคือ Mio เป็นแบรนด์ในเครือซินเน็ค (Synnex) และมีเทค (MiTec) ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายคล้ายซีพีคลุมทั้งด้านอาหาร เคที และอุปกรณ์ไอที รายได้ของกลุ่มบริษัทนี้มีมูลค่ารวมกว่า 3.37 หมื่นล้านเหรียญต่อปี 

ความไม่โนเนมของ Mio ยังอยู่ที่การพัฒนาสินค้าตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้ซื้อโมเดลใครมาติดแบรนด์ แต่จดลิขสิทธิ์และพัฒนาเอง มีทั้งสินค้ากล้องกลุ่มที่ใช้ในรถยนต์ สมาร์ทซิตี้ และในอุตสาหกรรมและการแพทย์ ทั้งหมดนี้ Mio ระบุว่ามีแนวคิดเน้นความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้พัฒนาตัวสินค้าเพื่อสะท้อนแนวคิดเหล่านี้

หากมองที่ตัวสินค้า Mio ชูพันธมิตรเลนส์รายใหญ่อย่าง Sony เป็นจุดขาย ซึ่งนอกจากการรองรับไวไฟ (ที่ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องดึงเอสดีการ์ด แต่ใช้ไวไฟดึงไฟล์วิดีโอมาได้เลย) กล้องบางรุ่นของ Mio ยังมีระบบบอกพิกัดจุดตรวจจับความเร็วบนทางหลวงไทยด้วย ทำให้เตือนผู้ขับให้ลดความเร็วลงได้ทันการณ์ 

วันนี้ประเทศไทยมีจุดติดตั้ง SpeedCam ราว 400 จุด ตอนนี้เราเก็บได้ 200-300 แล้ว ระบบจะเตือนคนขับว่าอย่าขับเร็วไปเพราะมีกล้องเหล่านี้ ในอนาคตเราจะอัปเดตข้อมูลแบบ OTA ให้ผู้ใช้กดเพิ่มฐานข้อมูลจากเครื่องได้โดยตรง

อีกจุดเด่นคือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ใช้ Mio ไม่ต้องค้นหาเวลา แต่สามารถกดปุ่มเดียวเพื่อให้ไฟล์บริเวณนั้นไม่ถูกลบ และเมื่อไรที่มีเชื่อมต่อ จะดึงไฟล์ที่ต้องการได้โดยที่ภาพใหม่จะไม่รันทับ จุดนี้ผู้บริหาร Mio ย้ำว่าไฟล์ที่ได้จะครอบคลุมวิดีโอล่วงหน้าก่อนอุบัติเหตุ 5 นาทีด้วย

Mivne 786 หนึ่งในกล้องที่ Mio เริ่มทำตลาดไทยยังรองรับการทำเฟซบุ๊กไลฟ์ด้วย (ราคา 7,900 บาท) ซึ่งถือเป็นอีกฟีเจอร์ที่ตอบรับพฤติกรรมชาวโซเชียลที่น่าจับตามอง.