อั๊ยย่ะ!!…ไชน่าโอนลี่ ของแท้แพ้ของก๊อบ มูจิแพ้คดีร้านก๊อบปี้ในจีน

ในโลกของสินค้ามีแบรนด์ เรื่องลำบากก็มักจะมาจากการไม่ได้รับความนิยม หรือเสื่อมความนิยมลง แต่ปรากฏการณ์ล่าสุดที่จีนนี้ บอกเลยแบรนด์แท้มีอึ้ง จากกรณีที่ มูจิ (MUJI) ของแท้จากญี่ปุ่น ต้องเจอปัญหาร้านก๊อบปี้จนทำให้ยอดขายหล่น เท่านั้นไม่พอ ยังต้องมาถูกปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทางการค้าในจีนอีกด้วย เรื่องนี้เป็นบทเรียนให้แบรนด์ต้นตำรับหลายแบรนด์ต้องให้ความสนใจ เพราะตลาดจีนคือเป้าหมายของทุกแบรนด์โลกในปัจจุบัน

หนุ่มสาวชาวจีนยุค Millennial นั้นนิยมชมชอบความเรียบง่าย แต่ต้องเป็นของดีจริง ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าแบรนด์เนมหรูหราเหมือนสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่อีกต่อไป ดังนั้น “MUJI” ไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่ไม่มีสัญลักษณ์ตราสินค้า ขยายสาขาทั่วโลก จึงทำยอดขายได้ดีในแผ่นดินแดนมังกร

“MUJI” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1980 เริ่มต้นจากความต้องการที่จะผลิตสินค้าบนพื้นฐานความคิดที่ว่า ต้องเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่เรียบง่าย ต้นทุนต่ำ และมีคุณภาพ ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 850 แห่งในกว่า 25 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ได้แก่ เครื่องแต่งกาย เครื่องเขียน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว กระเป๋าและกระเป๋าเดินทาง

จากนั้นในปี 1981 ได้จัดตั้งบริษัท “Ryohin Keikaku” ต่อมาในปี 1991 ได้ขยายธุรกิจออกนอกญี่ปุ่นครั้งแรก ด้วยการเปิดช็อปที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และฮ่องกง

โดยยุคนี้ “จีน” เป็นตลาดทำเงินแหล่งใหม่ของ “MUJI” เพราะมีประชากรจำนวนมาก เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งที่นี่มีร้าน Muji 235 แห่งในเดือนกรกฎาคม ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์ People’s Daily

โดย ซาโตรุ มาซากิ ประธาน Ryohin Keikaku Corp. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Muji ระบุว่าจีนมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 17% ของรายได้ทั้งหมดจากแบรนด์ ตามหลังญี่ปุ่นที่มี 65%

การทำตลาดที่จีนของแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะแบรนด์จากญี่ปุ่นอย่างมูจิด้วยแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากต้องเจอปัญหาการเมืองที่เป็นประเด็นอ่อนไหว และการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยแล้ว ล่าสุด มูจิ ในนครเซี่ยงไฮ้ถูกทางการจีนสั่งปรับเป็นเงิน 200,000 หยวน (ราว 1,005,000 บาท) หลังใช้บรรจุภัณฑ์ที่ระบุว่าไต้หวันเป็น ประเทศ ไม่รวมถึงการเจอปัญหามูจิปลอม ซึ่งเป็นร้านขายปลีกจากเมืองหมู่ตันเจียง มณฑลเฮยหลง ทางตอนเหนือของประเทศจีน และในเมืองชิงเต่า ที่มีสินค้าและการตกแต่งร้านเหมือนแบรนด์มูจิราวกับแกะ ต่างกันแค่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Natural Mill และมีชื่อภาษาจีนว่า “Wu Yin Liang Pin”

ร้าน Natural Mill ดำเนินการโดยบริษัท Beijing Cotton field Textile Corp. บริษัทเอกชน ซึ่งยื่นฟ้องคดีละเมิดเครื่องหมายการค้า (Trademark) ต่อ Ryohin Keikaku Corp. บริษัทแม่ของมูจิในญี่ปุ่นและบริษัท Muji (Shanghai) Commerce Corp. โดยอ้างว่าร้านของตนไปขอยื่นจดทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2001 แล้ว แถมจดไว้ถึงปี 2021 ไวขนาดนี้จะเรียกว่าเข้าตำราปลาเร็วกินปลาช้าได้หรือเปล่านะ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่

กรณีนี้ ศาลกรุงปักกิ่งตัดสินให้ Ryohin Keikaku Corp. และ Muji (Shanghai) Commerce Corp. จ่ายค่าปรับกว่า 2.5 ล้านหยวน (359,925 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการละเมิดเครื่องหมายการค้าของ “Wu Yin Liang Pin” เพราะบริษัทอ้างว่าได้รับใบอนุญาตเครื่องหมายการค้าก่อนเป็นเวลา 4 ปี ขณะที่มูจิเริ่มเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศจีนเมื่อปี 2005

การต่อสู้ในชั้นศาลดำเนินไปจนท้ายที่สุด มูจิ ถูกสั่งให้จ่ายค่าธรรมเนียมชดเชยเป็นจำนวนเงิน 1,028,200 หยวน  (ประมาณ 148,000 เหรียญ) ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถตรวจสอบ Brand Awareness ในตลาดจีนได้

หลังแพ้คดี มูจิ จึงตัดสินใจที่จะขายผลิตภัณฑ์ในประเทศจีนภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Muji” ไปซะเลย เพราะแม้จะเป็นตลาดใหญ่ มูลค่าสูง แต่หากการทำธุรกิจที่จีนต้องประสบกับปัญหาหลายอย่างแบบนี้ก็ไม่สามารถสะท้อนถึงอนาคตที่สดใสได้

ทั้งนี้ ส่งผลให้กำไรสุทธิของ มูจิ ในไตรมาสที่สองซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 30 ส.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 8.56 พันล้านเยน (ประมาณ 76.2 ล้านดอลลาร์) เทียบกับ 9.54 พันล้านเยน (ประมาณ 85 ล้านดอลลาร์) ในไตรมาสแรกของปี และช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณลดลง 0.2 % (ที่มา: Global Times, อ้างจากข้อมูลรายงานทางการเงินของ Muji ในจีน)

อย่างไรก็ตาม นอกจากจีนยังมีอีกหลายประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่จีนดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการละเมิดมากที่สุด โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เคยประเมินว่า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนทำให้หลายประเทศเสียหายเป็นเงินจำนวนมหาศาล ประกอบกับส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งส่วนใหญ่จะแพ้มากกว่าชนะเมื่อสู้ในแผ่นดินจีน เพราะหลักฐานที่ศาลจีนเห็นว่ายังอ่อนเกินไป เหมือนเช่นกรณีนี้ที่ทำให้ฝั่ง มูจิ ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงต้องยอมพ่ายแพ้โดยดุษฎี.

ที่มา :