หัวเว่ย ใช้หนังสั้น เชื่อมแบรนด์ให้เข้าใกล้ลูกค้า ต่อให้สเปกเทพแค่ไหน แต่ความรู้สึกต่อแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญกว่า

ความรู้สึกที่ส่งผ่านไปจากหนังสั้น ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างประสบการณ์ใช้งานมือถือหัวเว่ยทางอ้อมให้กับลูกค้า

รวมทั้งแมสเสจจากหนังสั้นก็กระตุ้นให้คนอยากออกไปล่าหาโมเมนต์ดีๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งเกิดกระแสอยากไปญี่ปุ่นร่วมด้วย ซึ่งแม้บางเรื่องจะไม่ใช่ผลโดยตรงที่กลับมาที่แบรนด์ แต่ชาญวิทย์ก็ถือเป็นผลตอบรับที่ดีด้วยการกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

ความแรงขอสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ที่ใส่ความโดดเด่นเรื่องกล้องหลังจากการหยิบยืมชื่อของไลก้า (Leica) เข้ามาเป็นฟรีฟีเจอร์ในมือถือมานาน แม้จะทำให้มือถือหัวเว่ยได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีติ่งเล็กๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มยังไม่เปิดใจให้กับแบรนด์นี้เต็มที่ แม้ความรู้สึกต่อแบรนด์หัวเว่ยจะดีขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะการยอมรับเรื่องคุณภาพที่ค่อยๆ ทิ้งห่างแบรนด์อื่นๆ จากประเทศจีน

ชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย ก็ยืนยันว่า ทุกต้นปีที่มีการสรุปผลเรื่องแบรนด์เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ข้อมูลจากต้นปีที่ผ่านมาก็พบว่า หัวเว่ยเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคมีความชื่นชอบในตราสินค้า (Brand Preference) เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีการพิจารณาแบรนด์เพื่อซื้อสินค้า (Brand Consideration) เติบโตประมาณ 3 เท่า

“ยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ในชั่วข้ามคืน มันต้องใช้เวลา แต่ที่ทำมาก็ต้องถือว่าหัวเว่ยสร้างการยอมรับได้ค่อนข้างเร็วกว่าตลาดอยู่แล้ว และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับหัวเว่ยเรื่องสเปกทั้งภาพนิ่งและภาพวิดีโอ แต่เราอยากจะให้ก้าวข้ามเรื่องสเปกไปสู่เรื่องความรู้สึก และอีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามีกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่ยอมรับ อาจจะเป็นเรื่องของคนที่ยังไม่มีประสบการณ์ใช้งานตรงกับมือถือของเรามากกว่า”

ดึงมือผู้กำกับผลงานเด่นเป็นอินฟลูเอนเซอร์ สร้างประสบการณ์ทางอ้อมให้ลูกค้า

ภาพจาก : facebook.com/pg/ternawapol

ครั้งนี้มือถือหัวเว่ยเลยทดลองเลือกใช้เครื่องมือการตลาดแบบใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อนในตลาดไทย โดยทำแคมเปญ Collaboration กับผู้กำกับท็อปลิสต์ของไทยในปัจจุบันอย่าง เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เข้ามาเป็นตัวช่วย จากแรงดึงดูดของการเป็นผู้กำกับที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านภาพและการเล่าเรื่อง ด้วยการทำ Branded Short Film เป็นวิดีโอมาร์เก็ตติ้ง แคมเปญสำหรับสมาร์ทโฟน HUAWEI Mate 20 Series

HUAWEI Mate 20 Series

โดยมีเป้าหมายว่าจะทำให้แบรนด์เข้าใกล้ผู้บริโภคมากกว่าเคย จากความรู้สึกที่ส่งผ่านไปจากหนังสั้น ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างประสบการณ์ใช้งานมือถือหัวเว่ยทางอ้อมให้กับลูกค้า

ที่สำคัญ การได้ชื่อของ เต๋อ นวพล มาร่วมสร้างผลงาน ก็ทำให้หนังสั้นสร้างแบรนด์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับดี มียอดผู้ชมรวมกันทะลุล้าน รวมกันทุกช่องทางออฟฟิเชียลออนไลน์ของหัวเว่ย ทั้งยูทูป ไลน์ เฟซบุ๊ก ที่เริ่มปล่อยออกไปเมื่อวันพุธที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง และมียอดแชร์หลักพันในช่วงชั่วโมงแรกหลังอัพโหลด

คนสนใจหนังสั้นเรื่องนี้เพราะผู้กำกับและความเป็นหัวเว่ยอย่างละครึ่งๆ

ทั้งชาญวิทย์ และเต๋อ เห็นพ้องต้องกัน

ด้วยเหตุผลนี้ แม้แคมเปญนี้จะไม่ได้ตั้งโจทย์ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง แต่ด้วยชื่อเสียงและผลงานของผู้กำกับที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ก็ถือได้ว่ามีอิทธิพลที่จะเข้ามาเปลี่ยนความรู้สึกของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งต่อแบรนด์หัวเว่ยไปพร้อมกันได้ด้วย

“คุณเต๋อ เป็นเพอร์เฟกต์แมตช์ของโปรเจกต์นี้ ในฐานะผู้กำกับที่โดดเด่นของยุค ที่มีการนำเสนอมุมมอง และแนวคิดใหม่ๆ ที่สร้างผลงานให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ตรงกับแนวคิดของหัวเว่ย ซึ่งอยากนำเสนอให้ผู้บริโภคเห็นประสบการณ์ที่ดีขึ้น ทั้งยังลงตัวกับคำว่า Mate Series ซึ่งมีคีย์เวิร์ดเริ่มต้นแคมเปญว่า from Mate to Mate ทำให้ทุกอย่างสอดคล้องกันไปหมด”

มือถือหัวเว่ย สู่ไอเดียการสร้างโมเมนต์ในหนังสั้นของเต๋อ นวพล

เต๋อ ใช้เวลาเรียนรู้การใช้งานมือถือหัวเว่ย 2 วัน ใช้เวลาเพื่อเก็บภาพเรื่องราวต่างๆ ในญี่ปุ่นประมาณ 1 อาทิตย์ สำหรับหนังสั้นที่ให้ชื่อเรียกว่า ของฝาก หรือ Souvenir ซึ่งเป็นไอเดียจากผู้กำกับล้วนๆ ชาญวิทย์เล่าว่า

“พอจะทำหนังจริงๆ เรามีแค่คีย์เวิร์ดไม่ได้ให้โจทย์ เรียกว่าแอบให้คุณเต๋อช่วยทำงาน เราบอกดื้อๆ เลยว่า เป็นมือถือรุ่นใหม่ เป็นแฟลกชิปโมเดล ที่ทุกคนจะคาดหวังว่ากล้องจะเป็นอย่างไรแล้วก็โจทย์เรื่องแบรนด์ที่บอกตั้งแต่ต้นว่าเราอยากก้าวผ่านเรื่องสเปกสินค้า เพราะคนรู้กันแล้ว เลยอยากให้คุณเต๋อทำอะไรก็ได้ให้คนรู้จักหัวเว่ย Mate Series ในมุมมองที่ข้ามจากโปรดักต์สเปกไปถึงเลเวลของความรู้สึก แล้วก็ได้เป็นหนังสั้นเรื่องนี้มา”

ด้าน เต๋อ เล่าถึงไอเดียของหนังเรื่องนี้โดยสรุปว่า

“พอได้รับคีย์เวิร์ด from Mate to Mate ผมเอาสองคำนี้มาผสมกับกล้อง ผสมกับมือถือ แล้วลองตีความดู เหมือนเวลาไปต่างประเทศเพื่อนชอบโทรฝากซื้อของก็เลยรู้สึกเรื่องนี้น่าสนใจดี ก็เริ่มคิดถึงคำว่า ของฝาก จากนั้นก็ตีความคำว่า ของฝาก จำเป็นต้องเป็นของไหม ซึ่งผมคิดว่าบางทีของฝากมันก็เป็นโมเมนต์ที่เราไปเจอมาแล้วเราอยากส่งกลับไปให้เพื่อนหรือคนที่เราคิดถึง จึงอยากลองใช้หัวเว่ยอัดถ่ายคลิปที่เราไปญี่ปุ่น แล้วก็เอาโมเมนต์ซึ่งก็คือไฟล์หรือวิดีโอตัวนั้นใส่ส่งกลับไปให้เพื่อน ไม่ส่งผ่านโปรแกรมบนมือถือ เพราะผมรู้สึกว่าการส่งจดหมายได้ความรู้สึกที่ดีกว่า เหมือนเราซื้อของมาฝากเพื่อน เพื่อนก็ไม่รู้หรอกว่า เอาอะไรมาให้ มันก็มีระยะเวลาการรอ เราก็เลยรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์นี้ดีน่าสนใจ ก็เลยลองทำดู”

ส่วนด้านเทคนิคสำหรับการใช้มือถือเพื่อการถ่ายทำหนังสั้นตลอดเรื่อง เต๋อ บอกว่า เขาเองก็ท้าทายมือถือรุ่นนี้ด้วยว่า จะใช้ได้ในหลายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้จริงไหม

สำหรับไอเดียที่คาดว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่และสร้างความรู้สึกจากหนังสั้นเรื่องนี้ ก็คงหนีไม่พ้นแก่นสำคัญของเรื่อง ซึ่ง เต๋อ ต้องการให้โมเมนต์ต่างๆ ที่นำเสนอเป็นของฝากที่ดีที่สุด แม้จะไม่มีอะไรที่เป็นของที่จับต้องได้ มีแต่นามธรรมที่เหมือนการเก็บช่วงเวลาดีๆ ไปฝากเพื่อน ที่ตอบโจทย์เรื่องความรู้สึกจากการใช้กล้อง

“ในมุมมองของผม หนังสั้นเรื่องนี้อาจจะดูไม่น่าสนใจเท่านี้ ถ้าถ่ายด้วยกล้องวิดีโอหรือกล้องโปรเฟสชันแนล โดยเฉพาะหลายฉากหลายโมเมนต์ที่ต้องอาศัยความไวในการใช้กล้อง ถ้าใช้กล้องใหญ่ก็คงมีข้อจำกัดที่อาจจะทำให้ไม่สามารถเก็บภาพในบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้” ชาญวิทย์ กล่าว พร้อมบอกว่าค่อนข้างพอใจกับผลตอบรับเมื่อพบว่า

จากคอมเมนต์ของผู้ชมหนังสั้น ถือได้ว่าแคมเปญนี้ตอบโจทย์ทั้งในเชิงการตลาดของหัวเว่ยที่เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมทั้งแมสเสจจากหนังสั้นก็กระตุ้นให้คนอยากออกไปล่าหาโมเมนต์ดีๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งเกิดกระแสอยากไปญี่ปุ่นร่วมด้วย ซึ่งแม้บางเรื่องจะไม่ใช่ผลโดยตรงที่กลับมาที่แบรนด์ แต่ชาญวิทย์ก็ถือเป็นผลตอบรับที่ดีด้วยการกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

เราเชื่อว่าแคมเปญการตลาดที่ดี มันควรจะต้องเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้ในแง่ของความรู้สึก ผมเชื่อว่าที่ผ่านมาหัวเว่ยก็พยายามจะไปถึงตรงนั้น แล้วก็พยายามมากขึ้นเรื่อยๆ