“KFC” เปิดครัว เปิดเคล็ดลับปรุงกันสดๆ สร้างความต่าง สู้ศึกตลาดไก่ทอด

เพิ่งเปิดร้านสาขาที่ 700 ตรงปั๊มน้ำมัน ปตทถนนสวนหลวงพุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ไปหมาดๆ สำหรับ “เคเอฟซี” แบรนด์ไก่ทอดจากอเมริกา ที่บอกว่าเสิร์ฟไก่ทอดให้กับคนไทยได้มากถึงราว 800,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 292 ล้านชิ้นต่อปี เฉลี่ยสาขาละ 1,500-2,000 ชิ้นต่อวัน

โดยครั้งนี้ เคเอฟซี ยังเปิดเคล็ดลับหลังครัว พาสื่อมวลชนเข้าไปถึง “ครัว” เพื่อดูที่มา ของไก่ทอด ที่ไม่มีนโยบายใช้ “ครัวกลาง” แบบเชนอื่นๆ แต่ให้ทุกสาขาทอดเอง

แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซีประเทศไทย บอกว่า การสร้างแบรนด์ร้านอาหารให้สามารถขยายสาขาไปทั่วไปประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย การรักษามาตรฐานให้คงที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

หลายเชนจึงเลือกรักษามาตรฐานด้วยการสร้าง “ครัวกลาง” แล้วค่อยส่งอาหารไปยังสาขาต่างๆ ซึ่งช่วยทั้งลดต้นทุนขนาดของร้าน อุปกรณ์ต่างๆ และพนังงานซึ่งต่างจาก “เคเอฟซี” ที่ไม่มีนโยบายสร้างครัวกลาง แต่ทุกสาขาที่ไปเปิดจะมีครัวเป็นของตัวเองเพื่อทำไก่ทอดแบบสดใหม่วันต่อวัน แม้ว่านั้นจะทำให้ต้นทุนเพิ่มแต่ “เคเอฟซี” ยอมเพื่อรักษาสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไว้

ราคาที่ขายชิ้นละ 37 บาทเมื่อเทียบร้านอื่นๆ ถือว่าเป็นราคาที่ไม่ได้แตกต่าง ดังนั้นเพื่อให้ผู้บริโภคแยกออกได้อย่างชัดเจน และเป็นตัวเลือกแรกเมื่อนึกถึงไก่ทอด ความท้าทายของเคเอฟซีจึงอยู่ที่การรักษามาตรฐานของรสชาติไว้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะขยายสาขาไปมากเท่าไหร่ก็ตาม”

การเปิดครัวในครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงการดูสูตรทอดไก่ แต่ “เคเอฟซี” ต้องการสื่อถึงความแตกต่างในตลาดไก่ทอด เพราะในเวลานี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนคนไทยสามารถหาไก่ทอดกินได้อย่างง่ายดาย

ไม่ว่าจะเป็น “แมคโดนัลด์” คู่แข่งที่อยู่ในตลาดร้านอาหารจานด่วนซึ่งก็มี ไก่ทอด เป็นหนึ่งในเมนูหลัก

รวมถึงคู่แข่งอย่าง “เท็กซัส ชิคเก้น” แบรนด์ไก่ทอดจากอเมริกา ที่ “ปตท. ซื้อแฟรนไชส์มาเปิดในไทย แม้วันนี้จะมีเพียงไม่กี่สิบสาขา แต่อย่าลืมว่า “ปตท.” อำนาจเงินอยู่ในมือ สามารถขยายสาขาได้ทั้งในปั๊มน้ำมันที่มีกว่า 1,600 สาขา และนอกปั๊มได้สบายๆ ก็ถือเป็นคู่แข่งที่น่าจับตา

ดังนั้นการเปิดตัวครัวครั้งนี้จึงเปรียบเสมือน “กลยุทธ์ตลาด” ที่ “เคเอฟซี” ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภคถึงที่มาสูตรไก่ทอด” แบบฉบับผู้พัน ซึ่งแตกต่างไปจากทั่วไป

เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ “เคเอฟซี” ได้ปรับสู่การเป็นธุรกิจแบบแฟรนไชส์ 100% ทำให้เคเอฟซีไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการขยายสาขา แต่จะมีเวลาไปโฟกัสเรื่อง “แบรนด์” และการควบคุมคุณภาพของอาหาร เพื่อต่อกรกับการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากคู่แข่งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่มีเกิดขึ้นตลอด

โดยภายในปี 2018 “เคเอฟซี” จะมีครบ 701 สาขา ในจำนวนนี้เป็นร้านแบบไดรฟ์ทรู 65 แห่ง โดยปีนี้มีการเปิดสาขาใหม่ทั้งหมด 75 สาขา ซึ่ง “แววคนีย์” บอกว่า เป็นปีที่เปิดสาขาใหม่มากที่สุดตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งปรกติแล้วจะเปิดเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 สาขา หรือรวมทั้งปี 52 สาขาเท่านั้น

“เคเอฟซี” 258 สาขาอยู่ภายใต้ “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” (CRG) ซึ่งเป็นแฟรนไชส์รายแรกของเมืองไทย ซึ่งในปีนี้เปิดร้านใหม่ 23 สาขา อีก 273 เป็นของแฟรนไชส์รายใหม่ล่าสุด “คิวเอสอาร์ออฟเอเชีย” (QSA) ซึ่งอยู่ได้ร่มเงาของ “เจ้าสัวเจริญ” ที่ทุ่มทุนในการปรับปรุงร้านเคเอฟซีถึง 47 สาขา

นอกจากนี้ยังมี “เรสเทอรองตส์ดีเวลลอปเม้นต์” (RD) ซึ่งเป็นแฟรนไชส์รายที่สองที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ จาก 130 สาขาในปี 2016 เป็น 170 สาขาในปี 2018 นี้ โดยปีหน้า RD บอกว่าจะขยายอีก 30 สาขา โฟกัสที่ภาคอีสานและภาคใต้เป็นหลัก ใช้เงินลงทุน 10-20 ล้านบาทต่อสาขา

เคเอฟซี” ตั้งเป้าภายในปี 2020 จะต้องมีสาขาทั้งหมด 1,000 แห่งทั่วประเทศ และเป็นร้านแบบไดรฟ์ทรูอย่างน้อย 100 สาขา โดยเป้านี้ได้ปรับจากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 800 สาขา แต่เพราะเป็นแฟรนไชส์ 100% ทำให้การขยายสาขาเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น.