“LINE Idol” ร่วมสงครามนักปั้น “อินฟลูเอนเซอร์”

การเติบโตขึ้นของ “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งเชื่อว่าจะครองเมืองในปี 2019 นี้ ทำให้แม้แต่ “LINE” แอปพลิเคชั่นแชตที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 44 ล้านคนในเมืองไทย ยังต้องกระโดดเข้ามาร่วมวง ผ่านการออกบริการที่ชื่อว่า 

“LINE Idol”

“LINE Idol” นับเป็นบริการที่ 3 (เท่าที่เปิดตัว ณ วันนี้ ไม่นับบริการที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอีก) ที่มีจุดเริ่มต้นจากในเมืองไทย ต่อจาก LINE Man และ LINE TV โดยมีอายุราว 1 ปีกว่าแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงของการ Soft Launch ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ Official Launch อย่างเป็นทางการ

บริการนี้วางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวม อินฟลูเอนเซอร์ไว้ด้วยกัน เบื้องต้นจะคัดจากอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามอย่างต่ำ 1 ล้านราย ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง Facebook Twitter Youtube และ Instagram โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ ศิลปิน, เน็ตไอดอล, บล็อกเกอร์ และ Publisher 

ปัจจุบันมีทั้งหมด 37 ราย มีทั้งที่ LINE ติดต่อไปก่อนและติดต่อเข้ามาเอง โดย LINE จะเข้าไปซัพพอร์ตด้านเครื่องมือ เทคนิคการใช้ รวมไปถึงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเปิดเป็น Official Account ที่สามารถมีจำนวนผู้ติดตามได้ไม่จำจัด ต่างจาก LINE@ ที่มีข้อกำหนดผู้ติดตามได้ไม่เกิน 300,000 ราย

เป้าหมายของการมี LINE Idol คือหา คอนเทนต์ อย่างอื่นจากอินฟลูเอนเซอร์ในสังกัด เข้ามาเสริมใน “Timeline” มากกว่าแค่ผู้ใช้โพสต์เรื่องตัวเอง ซึ่งแม้จะมียอดการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 1,000 ล้านวิวต่อเดือน แต่ LINE เชื่อยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่านี้อีก เพราะเมื่อมีคอนเทนต์เข้ามาเสริม นั่นหมายถึงทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเพจวิวที่จะหลั่งไหลเข้ามา

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร Commercial Director, LINE ประเทศไทย กล่าวว่า

คอนเทนต์จะอยู่บน Timeline แม้บางคนจะมองว่าไม่เคยเข้าไปดูหรือโพสต์เลย แต่มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งของคนไทยคือชอบส่องและก็ชอบอ่าน ถึงขนาดที่เพจวิววของ Timeline เมืองไทยสูงที่สุดในโลก สูงกว่าญี่ปุ่นที่ชอบอ่านเสียมากกว่า

โมเดลการหารายได้จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการหักรายได้จากอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ในสังกัด เพราะหากแบรนด์ต้องการลงโฆษณาต้องติดต่อไปที่เอเจนซี่ที่ดูแลอีกทีหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าต้องลงเฉพาะบน Timeline เท่านั้น สามารถซื้อเพื่อลงในแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย ขณะนี้มีการซื้อเข้ามาแล้ว โดยเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มสินค้า FMCE

โดยสิ่งที่ LINE ได้คือ การขายโฆษณาที่อยู่บน Timeline โดยตรง ผ่าน “LINE Ads Platform : LAP” ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งการมี LAP จะทำให้แบรนด์เล็กๆ สามารถซื้อ Ad ลงใน LINE ได้ จากแต่ก่อนเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ที่ซื้อผ่านเอเจนซี่เสียมากกว่า แต่ทั้งนี้ LAP ยังคงต้องซื้อผ่านเอเจนซี่อยู่ดี เพราะมีเรื่องของอาร์ตเวิร์กที่ต้องดู ยังไม่เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้ซื้อตรง โดย LINE ได้ดีลกับเอเจนซี่ขนาดเล็กรวม 200 รายไว้รองรับแล้ว

LINE บอกว่า จุดแข็งของ Timeline อยู่ที่ Organic Reach 100% เพราะแค่เพื่อนกดไลก์คอนเทนต์นั้นๆ ก็จะขึ้นในหน้าฟีดให้ทุกคนที่เป็นเพื่อนในไลน์ได้เห็นด้วย และเพื่อป้องกันดราม่าที่สามารถเกิดขึ้นได้ LINE จึงมีกฎที่สามารถลบโพสต์ที่สุ่มเสี่ยง โดยที่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าได้

จริงๆ แล้ว LINE มี “LINE TODAY” ที่รวบรวมคอนเทนต์อยู่แล้ว โดยนรสิทธิ์ เปรียบเทียบ LINE TODAY เหมือนหนังสือพิมพ์ ส่วน LINE Idol เหมือนนิตยสาร ทุกคนอาจอ่านหนังสือพิมพ์เหมือนกัน แต่นิตยสารอยู่ที่ความชอบของแต่ละคน เช่นเดียวกับ LINE TODAY ที่คนอ่านเพราะต้องการอัพเดตเรื่องราวในแต่ละวัน แต่สำหรับ LINE Idol เลือกที่จะตามเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์ที่ตัวเองชอบเท่านั้น

จนถึงขนาดนี้ LINE ยังไม่ได้วางกำหนดที่ชัดเจน สำหรับการเปิดตัว “LINE Idol” อย่างเป็นทางการ เพราะด้วยตัวเลขอินฟลูเอนเซอร์ 37 รายที่อยู่ในมือ LINE ยอมรับยังไม่ใช่ตัวเลขที่สวยหรูมากนัก จึงต้องใช้เวลาในการเพิ่มจำนวน รวมไปถึงทดลองให้แน่ใจเสียก่อน.