กสิกรไทย กางแผนโกดิจิทัลแบงกิ้งอีกสเต็ป จับมือฟินเทค-แพลตฟอร์ม-ขยาย ตปท. รับมือลูกค้า-เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วจี๋

ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับ “ธนาคารกสิกรไทย” กับเกมการต่อสู้ครั้งสำคัญ” เพื่อรับมือกับคลื่นของการเปลี่ยนแปลงจาก “ลูกค้าและเทคโนโลยี” จึงต้องวิธีในการ “ตั้งรับ” และเปิดเกมรุก ก้าวไปสู่เดิมพันครั้งใหม่กับ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” ที่ต้องพร้อมทั้งเทคโนโลยีและทีมบริหาร 

หลังจาก สมคิด จิรานันตรัตน์ ลาออกจาก ประธาน  KASIKORN Business – Technology Group (KBTG) ไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2561 ไม่ทันไร ธนาคารกสิกรไทย จึงประกาศแต่งตั้ง กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ขึ้นชื่อเรื่องสตาร์ทอัพ และเป็น ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks ขึ้นมารับตำแหน่ง ประธาน KBTG แทน มีผล 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทิงนั้น เป็นที่ปรึกษาของ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหนาที่บริหารมาแล้วหลายปี

ล่าสุด 5 ผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทย ประกอบไปด้วย กรรมการผู้จัดการทั้ง 4 คน และประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป ร่วมกันประกาศวิสัยทัศน์ ปี 2562 ภายใต้ชื่องาน A year of i

เริ่มจาก ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เริ่มด้วยการภาพรวมของธนาคารว่า ธนาคารต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี ดูได้จากปริมาณธุรกรรมบนโลกดิจิทัลที่ขยายตัวต่อเนื่อง สัดส่วนประชากรไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ 82% ทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง 74% และซื้อสินค้าออนไลน์ 48.5%

โลกดิจิทัลนี้เองทำให้คู่แข่งจึงไม่ใช่แค่ธนาคารด้วยกันอีกต่อไป แต่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม บรรดาฟินเทค ที่จะทะลุทะลวงเข้ามา

ธนาคารไทยจึงต้องปรับตัว ยึดคติ “รวมกันเราอยู่” ร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน โครงการพร้อมเพย์ที่มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 46.5 ล้านไอดี มีปริมาณธุรกรรม 4.5 ล้านรายการต่อวัน สร้างมาตรฐานคิวอาร์โค้ด มีร้านค้าใช้แล้ว 3 ล้านราย โครงการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตแทนเงินสด ส่งผลให้มีผู้ถือบัตรเดบิตทั้งสิ้น 59 ล้านใบ มีเครื่องรูดบัตร (EDC) รวม 700,000 เครื่อง

ภายใน 2 ปี ยังคงจับมือกันเพิ่มบริการทางเงินใหม่ๆ เช่น ต่อยอดโครงการพร้อมเพย์ ขยายไปสู่การใช้งานในต่างประเทศ CLMV+3 และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์โค้ดของลูกค้าผู้ชำระเงิน (B Scan C)

โครงการ Thailand Blockchain Community Initiative เริ่มด้วยหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) คาดว่าในปีนี้จะมียอดธุรกรรมประมาณ 40,000 และจะมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนต่อยอดสู่บริการรับรองเอกสารทางการศึกษา (E-Transcript) ให้แก่นิสิต นักศึกษาที่จบใหม่ รวมทั้งบุคคลที่ต้องการหาตำแหน่งงานและองค์กรที่กำลังเปิดรับบุคลากร

โครงการ National Digital ID (NDID) ให้ลูกค้ายืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ สามารถเปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขา การขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ รวมทั้งโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น

ปรีดีเชื่อว่า จะเป็นการยกระดับการให้บริการของสถาบันการเงินในประเทศไทยให้อยู่ระดับแนวหน้าในอาเซียน หลายบริการเทียบเท่าประเทศชั้นนำของโลกแล้ว

ใช้บิ๊กดาต้า เจาะลูกค้ารายบุคคลดันปล่อยกู้ 3 หมื่นล้านบาท

ทางด้าน ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีผนวกกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ปริมาณข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้นมหาศาล การใช้ชีวิตของลูกค้ามีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ธนาคารต้องมุ่งเรื่อง Analytics แปลงข้อมูลมาเป็น insight เพื่อให้รู้ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล

เมื่อลูกค้าใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น อยู่กับแพลตฟอร์มต่างๆ ธนาคารกสิกรไทยจะตามเข้าไปดูแลลูกค้า เรื่องการชำระเงินทุกที่ ทุกเวลา แบบไร้รอยต่อ นำเทคโนโลยีมาใช้เรื่อง Data Analytics ช่วยให้ชีวิตลูกค้าง่ายกว่าเดิม เช่น เห็นแค่ใบหน้าก็สามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา หรือใช้เสียงจ่ายเงินได้ หรือการถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือโทรศัพท์มือถือ

ธนาคารเชื่อว่า ด้วยบริการตรงใจลูกค้าจะสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและเข้าถึง “สินเชื่อ” ให้ลูกค้าที่เข้าไม่ถึงธนาคาร หรือ Unbanked และ Underbanked คนที่มีบัญชีธนาคารแต่ไม่ค่อยใช้ หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่สม่ำเสมอ

ขัตติยา บอกว่า ธนาคารต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของข้อมูล เพื่อใช้วิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เตรียม เทคโนโลยี และบุคลากร มีทีมด้าน Business Analytics ไปแล้วกว่า 500 คน และ Machine Learning Analytics 284 คน

ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าหมายปี 2562 ของ Data-Driven Lending จะช่วยปล่อยกู้เป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสร้างรายได้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด

KVision ลงทุนฟินเทค 5 ประเทศ

ทางด้านธุรกิจต่างประเทศภายใต้การนำ พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองถึงการผลักดันธุรกิจไทยสู่ต่างประเทศและเชื่อมโยงการค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภครายย่อย โดยมองโอกาสตลาดภูมิภาค ในกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย)

รวมทั้งมองโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งฟินเทค สตาร์ทอัพ ข้ามประเทศ ข้ามอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับบริการของธนาคารเข้าสู่ตลาด CCLMVI

โดยกสิกรไทยได้ตั้ง KVision เพื่อมองหาเทคโนโลยีและลงทุนในฟินเทค หรือสตาร์ทอัพ ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท โดย KVision ได้จัดตั้ง Innovation Lab ขึ้นใน 5 ประเทศ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหา Innovation, Tech Partner, และ Tech Talent ใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาบริการของธนาคารใน CCLMVI เพื่อช่วยต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ไร้พรมแดน

ในปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคใน CCLMVI โดยให้คำแนะนำและเชื่อมโยงพันธมิตรในท้องถิ่น ให้ลูกค้าและให้บริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า เริ่มให้บริการในลาวและกัมพูชาก่อน โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การชำระค่าสินค้า

รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค (Single Regional Payment Platform) ผ่านโครงการ “QR KBank” แอปกระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว นำร่องให้บริการที่ตลาดหนองจัน หรือ “ตลาดขัวดิน” เป็นพื้นที่แรก คาดจะมีธุรกรรมผ่าน “QR KBak 2 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 36,000 ล้านกีบหรือประมาณ 115 ล้านบาท

โดยธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศกว่า 8 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ทางด้านลูกค้ารายย่อย พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองถึงผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มในการขยายฐานลูกค้า ทั้งบนแพลตฟอร์มของธนาคารเอง ผ่าน K PLUS และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ทั้งในโลกโซเชียล แชต ช้อปปิ้ง การเดินทาง ฯลฯ

โดยวางแผนสร้างรายได้จากการให้ “สินเชื่อลูกค้าบุคคล” ที่มีจำนวนผู้กู้ยืมประมาณ 31.3 ล้านราย ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7% และตั้งเป้าหมายจะดันส่วนแบ่งตลาดเป็น 16% โดยการผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มเพื่อไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่

“วิธีนี้ช่วยให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์ความต้องการสินเชื่อและความสามารถชำระคืน แล้วส่งข้อเสนอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ใหม่ชดเชยการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัลและการชะลอตัวของธุรกิจประกัน”

ควัก 5,000 ล้านลงทุน KBTG

ทางด้าน เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวถึงภารกิจของ KBTG ในการผลักดันธนาคารกสิกรไทยไปสู่เป้าหมายการเป็น ดิจิทัล แบงกิ้ง

โดยการนำ Augmented Intelligence (AI) มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร ผสมกับประสบการณ์ของพนักงานธนาคาร เพื่อไปสู่บริการการเงินใหม่ที่เรียกว่า Cognitive Banking ต้องมีบริการที่รู้ใจ ปรับรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ลูกค้าแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง

โดย Cognitive Banking จะทำให้บริการดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยก้าวไปไกล กว่าการเป็นเพียงธนาคารหรือแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ

ในยุค Disruption การสร้างพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ ธนาคารจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือองค์กรธุรกิจ ผ่านความร่วมมือ 3 รูปแบบ ได้แก่ Open Banking API การต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตร K PLUS Business Platform ขยายจากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่พันธมิตรนำไปต่อยอดสร้างบริการแบบดิจิทัล Innovation Sandbox คือ สนามทดลองเพื่อทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ๆ ของกลุ่มสตาร์ทอัพ

โดยปีนี้ KBTG จะใช้งบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ในปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท.