รายได้โฆษณาไม่รุ่ง มุ่งโฮมช้อปปิ้งดีกว่า “อาร์เอส” ควง “ไทยรัฐทีวี” ลุยตลาด หวังขยายฐานลูกค้า

หลังเดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจจาก “สื่อ” สู่เชิงพาณิชย์ เริ่มด้วยธุรกิจสุขภาพและความงาม “ไลฟ์สตาร์” ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ “อาร์เอส” มาจากธุรกิจ Multi Platform Commerce หรือ MPC 50% รายได้จากสื่อเหลือเพียง 35% ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติ “อาร์เอส” ย้ายไปหมวดธุรกิจพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมนี้ 

เมื่อเข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์แล้วก็ต้องไปให้เต็มที่ นอกจากการขยายไลน์สินค้าให้หลากหลายทั้ง สินค้าสุขภาพและความงาม ของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว อาร์เอส ยังมองโอกาสการขยายช่องทางการขายโฮมช้อปปิ้ง ผ่านทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ นอกเหนือจากช่อง 8 ที่ยังต้องรักษาสัดส่วนของคอนเทนต์ให้น่าสนใจ ไปพร้อมกับโอกาสการทำตลาดธุรกิจพาณิชย์

“อาร์เอส” จับมือพันธมิตร “ไทยรัฐทีวี”

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปี 2562 เป็นปีแรกที่อาร์เอสจะเข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกเต็มรูปแบบ จึงมองโอกาสขยายธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (MPC) ร่วมกับพันธมิตรทีวีดิจิทัล เพื่อต่อยอดธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของอาร์เอส นอกจากสื่อในเครือ

นำร่องด้วยการจับมือกับพันธมิตรทีวีดิจิทัล ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ทำรายการโฮมช้อปปิ้ง “T จัดส่งฟรีเก็บเงินปลายทาง จำหน่ายสินค้าของ ลฟ์สตาร์”เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ในหลายช่วงเวลาหลักตลอดวัน เป็นรายการแนะนำสินค้าครั้งละ 5 นาที โดยรูปแบบธุรกิจเป็นการแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ผ่านเทเลเซลและ Line@tshopping

ช่องไทยรัฐทีวี มีจุดแข็งด้านคอนเทนต์ข่าวและกีฬาติดกลุ่มผู้นำทีวีดิจิทัล โดยมีฐานผู้ชมเป็นกลุ่มแมส อายุ 35+ ครอบคลุมทั่วไปประเทศ ทำให้การจับมือร่วมธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ขยายฐาน Big Data ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้กลุ่มธุรกิจ MPC ของอาร์เอส เพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคน จากการประเมินรายได้จากการร่วมธุรกิจกับไทยรัฐทีวี ปี 2562 อยู่ที่ 350 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 455 ล้านบาท

“ยังมีทีวีดิจิทัลหลายช่องสนใจร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับอาร์เอส เชื่อว่าบิสสิเนสโมเดลนี้จะเชื่อมโยงฐานผู้ชมทีวีดิจิทัลมาเป็นลูกค้าธุรกิจค้าปลีกได้อย่างลงตัว”

โฮมช้อปปิ้งแหล่งรายได้ทีวีดิจิทัล

ความเคลื่อนไหวของการจับมือเป็นพันธมิตร อาร์เอส”และไทยรัฐทีวี เพื่อลุยธุรกิจโฮมช้อปปิ้งของทั้ง 2 บริษัทในครั้งนี้ หากมองธุรกิจทีวีดิจิทัลต้องบอกว่าสถานการณ์การแข่งขันยังคงดุเดือด จากจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้น 22 ช่อง ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม โฮมช้อปปิ้ง”จึงเป็นอีกคำตอบของการหารายได้ เพราะดูจากแนวโน้มธุรกิจนี้ เรียกว่าเติบโตปีละ 20% สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) หรือ THA รายงานมูลค่าปี 2561 อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ปีนี้ยังเติบโตได้ 25-35%

ทีวีดิจิทัลจึงมองโอกาสจากตลาดโฮมช้อปปิ้ง เป็นอีกแหล่งรายได้ใหม่ โดยช่องที่มีความพร้อมและต้องการขยายธุรกิจ จะใช้รูปแบบการลงทุนเอง ทั้งการผลิตสินค้าหรือหาแหล่งสินค้ามาจำหน่าย จัดส่ง โดยทำการตลาดผ่านรายการโฮมช้อปปิ้ง ทางช่องทีวีดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีรูปแบบปล่อยเช่าเวลาให้กับผู้ประกอบการ “โฮมช้อปปิ้ง” เจ้าใหญ่ เช่น ทีวีไดเร็ค, ทรู ช้อปปิ้ง

อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่เข้าสู่ตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สื่อทีวี ซึ่งเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ เป็นช่องทางการทำตลาดหลัก.