เตะฝุ่นของจริง? หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ อาจทำตำแหน่งงานหด 50% ใน 20 ปี

ภาพ : bloomberg.com

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organisation for Economic Cooperation and Development) โชว์ผลสำรวจเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตื่นตัวกับปัญหาแรงงานในยุคระบบอัตโนมัติ เตือนปรับการศึกษาก่อนจะเข้าไม่ถึงแรงงานตัวจริง ตั้งเป้าป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตึงเครียดทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะเลวร้ายต่อเนื่อง

การส่งสัญญาณเตือนของ OECD นั้นยิงตรงถึงรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว จุดนี้ OECD ให้เหตุผลว่าระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และโลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐของหลายประเทศจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดจริงจัง เพื่อป้องกันผลกระทบหรือการเผชิญหน้ากับภาวะร้ายแรงในอนาคต เพราะ OECD พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดอาจถูกลบล้างจนหายไป หรือเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า 

Stefano Scarpetta ผู้อำนวยการฝ่ายแรงงาน OECD ย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะน่าตกใจโดยเฉพาะเครือข่ายความปลอดภัยและระบบการฝึกอบรมที่สร้างขึ้นมานานหลายทศวรรษเพื่อปกป้องแรงงานคน ก็กำลังดิ้นรนเพื่อให้ทันกับ “megatrends” หรือเทรนด์แรงที่เปลี่ยนแปลงลักษณะของงานในยุคนี้ ซึ่งในขณะที่แรงงานบางกลุ่มจะได้รับประโยชน์เมื่อเทคโนโลยีช่วยเปิดตลาดใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่คนรุ่นใหม่ที่มีทักษะหรือประสบการณ์ทำงานต่ำ รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานพาร์ทไทม์นอกเวลาล้วนมีความเสี่ยงน่าเป็นห่วง

เตรียมเตะฝุ่น

ผู้บริหาร OECD ยืนยันว่าระบบอัตโนมัติอาจเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ลึกและเร็วนั้นเกิดขึ้นแบบปูพรมหลายประเทศหลักของโลก ซึ่งแม้จะทำให้ธุรกิจในประเทศเหล่านี้มีโอกาสใหม่ที่สำคัญเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงมากขึ้นในหมู่ผู้ที่ยังไม่พร้อม 

ประเทศที่ OECD เน้นคือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแม้จะมีประชาธิปไตยแข็งแรง แต่ทิศทางที่ชนชั้นกลางกำลังสูญเสียตำแหน่งงานในอนาคตเพราะเทคโนโลยี ก็อาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดในประเทศเหล่านี้ก็ได้ 

รายงานของ OECD พบว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจ้างงานจะส่งผลกระทบต่อแรงงานบางกลุ่มเป็นหลัก เช่น กลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า และผู้หญิงที่มีแนวโน้มที่จะเป็นลูกจ้างระดับล่างและทำงานในตำแหน่งที่ได้รับค่าแรงต่ำ 

ทางออกของปัญหานี้คือการฝึกอบรมที่มากขึ้น สิ่งที่ OECD ทำจึงเป็ยการเรียกร้องให้รัฐบาลขยายการคุ้มครองให้แก่แรงงานในพื้นที่สีเทาซึ่งไม่ชัดเจนระหว่างกลุ่มคนที่ทำงานอิสระและกลุ่มคนที่มักไม่ได้รับสิทธิเหมือนพนักงานบริษัท 

ระวังตึงเครียด

รายงานของ OECD ยังเตือนถึงเครือข่ายเชิงลบ ที่อาจเกิดขึ้นจากช่องว่างของคนในสังคม ประเด็นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาสังคมร้ายแรงตามมาได้อีกเป็นขบวน

ไฮไลต์อื่นของการสำรวจเรื่องแรงงานในอนาคต ไม่ได้มีเพียงสถิติที่ย้ำว่า 14 เปอร์เซ็นต์ของงานในอนาคต อาจหายไปเพราะระบบอัตโนมัติในอีก 15 ถึง 20 ปีข้างหน้า หรือ 32 เปอร์เซ็นต์ของงานที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง แต่การสำรวจพบว่าในขณะนี้ แรงงาน 1 ใน 7 คนเป็นคนทำงานอิสระที่เป็นลูกจ้างตัวเอง โดย 1 ใน 9 คนเป็นแรงงานแบบต่อสัญญาชั่วคราว

ที่น่าตกใจคือแรงงานปัจจุบันราว 6 ใน 10 คนยังขาดทักษะ IT ขั้นพื้นฐาน และสถิติการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน (Union membership) ในสหรัฐฯ นั้นลดลงเกือบครึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

สำหรับ OECD นั้นเป็นองค์กรที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในปารีส ฝรั่งเศส เป็นองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีสมาชิก 36 ประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 เพื่อกระตุ้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการค้าโลก สมาชิก OECD ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ทางเศรษฐกิจสูง สถิติปี 2018 พบว่าประเทศสมาชิก OECD รวมกันจะครองสัดส่วน 62.2% ของ GDP ทั่วโลก.

ที่มาhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2019-04-25/the-future-of-work-could-bring-more-inequality-social-tensions?utm_campaign=socialflow-organic&utm_source=twitter&utm_content=business&utm_medium=social&cmpid=socialflow-twitter-business