“ทีวีดิจิทัล” คืนไลเซ่นส์ได้เงินทันที ส.ค.นี้ ไม่รอเงินประมูลคลื่น 700 MHz คาด 5 ช่องเล็งคืน

การแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 สำนักงาน กสทช.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยการ “คืนช่อง” เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ไว้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นการยื่นสิทธิขอ “คืนใบอนุญาต” ในวันที่ 10 พ.ค. นี้  “ทีวีดิจิทัล” จึงไม่สามารถถอยหลังได้อีก

วันนี้ (7 พ.ค.) สำนักงาน กสทช.ได้เชิญผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง มาชี้แจงรายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล

“คืนช่อง” ได้เงินทันที

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การคืนช่องทีวีดิจิทัล คือ ผู้ประกอบการที่ต้องการคืนช่องให้แจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ไม่เกิน 16.30 น. จากนั้นให้ส่งเอกสารการขอคืนใบอนุญาตภายใน 60 วัน เพื่อให้ กสทช.พิจารณาอนุมัติ พร้อมทั้งกำหนดวันยุติออกอากาศ และมาตราการเยียวยาผู้บริโภค โดยทีวีดิจิทัลต้องขึ้นตัววิ่งที่จอทีวี ว่าจะยุติประกอบกิจการวันใด ระยะเวลาเยียวยาจะอยู่ที่ 30 – 45 วัน

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

หลังจากดำเนินมาตรการทุกอย่างครบแล้ว เมื่อยุติออกอากาศจะได้รับเงินชดเชยการคืนใบอนุญาตจาก กสทช.ทันที โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาก่อน ไม่ต้องรอเงินประมูลคลื่น 700 MHz ในปีหน้า

หลังจากประมูลคลื่นฯ 700 MHz แล้ว จะนำเงินส่งคืนกองทุนฯ อีกที ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการมือถือมายื่นขอรับจัดสรรคลื่นฯ 700 MHz แล้ว 1 ราย

“กระบวนการคืนช่องและยุติการออกอากาศน่าจะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค.นี้ หลังจากนั้น ทีวีดิจิทัลจะได้รับเงินชดเชยทันที ที่ต้องทำขั้นตอนให้เร็ว ไม่ต้องรอเงินประมูลคลื่นฯ 700 MHz ปีหน้า เพราะเมื่อมีชื่อทีวีดิจิทัลที่ยื่นขอคืนช่องถูกประกาศออกไป ก็จะกระทบกับพนักงานและการทำธุรกิจ ขั้นตอนจึงต้องทำให้เร็วขึ้น”

ทีวีดิจิทัลที่ต้องคืนช่อง หากติดค้างเงินประมูลงวดที่ 4 กสทช.จะนำไปหักกลบลบหนี้จากเงินชดเชย โดยไม่ต้องนำเงินงวดที่ 4 มาจ่ายก่อน

เผยเหตุห้ามคืนช่องเกรงขายใบอนุญาตต่อ

สำหรับทีวีดิจิทัลที่แจ้งคืนช่องในวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะไม่สามารถ “ถอนสิทธิ” คืนช่องได้ ต้องคืนแล้วคืนเลยเนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นทีวีดิจิทัลสามารถคำนวณเงินชดเชยที่จะได้รับคืนจากการคืนใบอนุญาตได้ทันที

นอกจากนี้การ “ไม่ให้” ทีวีดิจิทัลยกเลิกการคืนช่องได้ เพื่อป้องกันการเจรจาต่อรองเพิ่มราคากับผู้ที่สนใจซื้อช่องทีวีดิจิทัล หลังจากรู้ตัวเลขเงินชดเชยจาก กสทช.แล้ว เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัลในอนาคต จากผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้

เปิดสูตรเงินชดเชย

สำหรับสูตรชดเชยคืนช่องทีวีดิจิทัล คือ ให้นำเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 1 – 4 มาคูณกับระยะเวลาใบอนุญาตที่ยังเหลืออยู่ คือ 10 ปี จากนั้นหารด้วยระยะเวลาใบอนุญาตทั้งหมดคือ 15 ปี

จากนั้นนำไปหักกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการสนับสนุนการจ่ายค่าโครงข่าย Must Carry หรือโครงข่ายดาวเทียม ที่ กสทช.จ่ายให้ 100% ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 มีกำหนดสิ้นสุด ธ.ค. 2562 และค่าโครงข่าย Mux ที่ กสทช.จ่ายให้ 50% ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 มีกำหนดสิ้นสุด มิ.ย. 2563

โดยช่องทีวีดิจิทัลที่ได้รับประโยชน์จากโครงข่าย Must Carry และโครงข่าย Mux ไปจำนวนเท่าไหร่จนถึงวันที่กำหนดยุติออกอากาศ ให้นำมาหักจากเงินชดเชยด้วย จากนั้นให้นำมาหัก “กำไร” ที่เกิดจากการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะถือเป็นเงินชดเชยที่ได้รับ

ตัวอย่าง ทีวีดิจิทัลจ่ายเงินประมูลงวดที่ 1 – 4 มาแล้ว 400 ล้านบาท คูณ 10 หารด้วย 15 เท่ากับเงินชดเชยที่จะได้รับ 266 ล้านบาท โดยต้องนำไปหักจากค่าโครงข่าย Must Carry และโครงข่าย Mux  และกำไรก่อน จึงจะเหลือเป็นเงินชดเชยที่จะได้รับ

คาดคืนไลเซ่นส์ 5 ช่อง “ช่อง 3-เนชั่น-ไบรท์ทีวี” เคาะศุกร์นี้

อริยะ พนมยงค์

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC หรือช่อง 3 กล่าวว่า การพิจารณา “คืนช่อง” ทีวีดิจิทัลหรือไม่ ต้องประชุมคณะกรรมการและคำนวณเงินชดเชยที่จะได้รับ เพราะเพิ่งได้รับการชี้แจงจาก กสทช.วันนี้ โดยต้องพิจารณาทุกอย่างให้รอบครอบอีกครั้ง เพราะการคืนช่องหรือไม่คืน ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยมีเวลาถึงวันศุกร์นี้

หลังเข้ามารับตำแหน่งที่บีอีซี เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา หรือเพียง 2 สัปดาห์ การพิจารณาคืนช่องทีวีดิจิทัล ถือเป็นการตัดสินใจเรื่องใหญ่ จึงต้องขอเวลาประชุมคณะกรรมการอีกครั้ง โดยมีทีมงานที่ดูเรื่องนี้มาต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่ กสทช.ได้มีมาตราการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล และการออกหลักเกณฑ์การชดเชย ต้องถือว่าทำงานได้เร็วมาก  

สมชาย รังษีธนานนท์

สมชาย รังษีธนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถานีโทรทัศน์ไบรท์ทีวี กล่าวว่าหลังจากฟังการชี้แจงจากสำนักงาน กสทช.แล้ว ไบรท์ทีวีจะประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้ (7 พ.ค.) เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียของการคืนช่อง โดยต้องบอกว่า “ตัดสินใจยาก” เพราะการคืนหรือไม่คืน มีสิ่งจูงใจทั้งคู่ คงจะสรุปและแจ้ง กสทช.ในวันที่ 10 พ.ค. ตามกำหนด

กรณีคืนช่องไบรท์ทีวี จะได้รับเงินชดเชยประมาณ 400 ล้านบาท ก็ต้องพิจารณาว่า ระยะเวลาที่เหลือจะทำกำไรได้เท่านี้หรือไป แต่ที่ผ่านมามีผลประกอบการขาดทุนสะสม 700 ล้านบาท ซึ่งการหารายได้แต่ละปีมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากช่องทางออนไลน์

แต่การอยู่ต่อก็มีข้อดี เพราะหลังจากนี้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใบอนุญาตอีก 2 งวดที่เหลือ รวมทั้งค่าโครงข่าย Mux ตลอดอายุสัญญา ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานไม่สูง มีพนักงานราว 200 คน

“จากการประเมินและพูดคุยกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คาดว่าจะมีผู้สนใจคืนไลเซ่นส์ประมาณ 5 ช่อง”

ฉาย บุนนาค

ฉาย บุนนาค กรรมการบริหารและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG กล่าวว่า หลังจากฟังสูตรคำนวณค่าชดเชยคืนช่องแล้ว ต้องกลับไปประชุมกับคณะกรรมการอีกครั้ง โดยช่อง “เนชั่นทีวี” ไม่คืนแน่นอน เพราะเป็นธุรกิจหลักของ NBC บริษัทในเครือ NMG

ส่วนช่อง “สปริง 26” (Now 26) จะประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และยังมีเวลาถึงศุกร์นี้ ส่วนช่องสปริงนิวส์ 19 ไม่ได้อยู่ในเครือเนชั่น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อต้องปรับตัวรับมือกับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ขยายตัวสู่ออนไลน์ ซึ่งเครือเนชั่นได้มุ่งหน้าสู่ธุรกิจออนไลน์เช่นกัน.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง