ตามติดชีวิต "ซิลิคอน วัลเล่ย์"

เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ผมบินไปซานฟรานซิสโก เพื่อไปร่วมการสัมมนาของ Yahoo! ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่นั่น เลยมีโอกาสเดินไปสำรวจ “ซิลิคอน วัลเล่ย์” เลยขอหยิบเอา “บรรยากาศ” ความเคลื่อนไหวของซิลิคอน วัลเล่ย์ที่นักการตลาดไทยน่าจะสนใจกันมาฝากนะครับ

พลังของ “Cyber Monday”

ผมเดินทางจากสิงคโปร์ถึงซานฟรานซิสโกในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งตอนนั้นเพิ่งพ้นผ่าน Black Friday ที่ฝรั่งเขาว่ากันว่าขาช้อปเดินกันสนั่น เพราะวันนั้นร้านค้าปลีกจะลดราคากันกระหน่ำมาก ไม่ใช่ลดกันธรรมดาๆ แม้ผมจะไม่ได้เห็นบรรยากาศนั้นด้วยตัวเอง แต่เพื่อนๆ คนไทยที่ทำงานกันในซิลิคอน วัลเล่ย์หลายต่อหลายคนบอกว่าลดกันสนุก 50-80% ก็มี แต่ที่น่าสนุกไปกว่านั้นก็คือ เขามี “Cyber Monday” ในวันที่ 30 พฤศจิกายนกันด้วยครับ

Cyber Monday เป็นแนวคิดการตลาดง่ายๆ แต่น่าสนใจดี คนที่คิดก็คือ National Retail Federations โดยประกาศเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2005 จับเอากระแสของ Black Friday ว่าวันศุกร์เป็นวันลดราคาของ “ออฟไลน์” ดังนั้นวันจันทร์ ที่กำลังจะถึงนี้เป็นวันลดราคาของ “ออนไลน์” และแน่นอนว่ามีหลายคนพลาดสินค้าราคาถูก จาก Black Friday เราก็มี Cyber Monday เป็นทางออกของนักช้อปที่ต้องการของดีราคาถูก เพียงแต่ต้องมาซื้อออนไลน์ เท่านั้น งานนี้คนที่รวยคือ Amazon และเว็บ Retail รายอื่นๆ เมืองไทยจะจัดวันช้อปปิ้งออนไลน์แบบนี้บ้างก็ไม่เลวนะครับ อาจช่วยกระตุ้นให้มีการซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้นก็ได้ ดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีการอ้างอิงกันไว้ในวิกิพีเดียว่า Cyber Monday สร้างรายได้ในวันที่ 7

ธันวาคม ปี 2007 881 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ Black Friday ทำได้ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงจะห่างกันมาก แต่ก็เป็น “Marketing terms” ที่มีพลังทีเดียว

ทำไมต้องเป็น “ซิลิคอน วัลเล่ย์”

ขณะที่เดินทางคราวนี้ ผมก็ถามเพื่อนๆ ว่าเหตุผลที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ ดึงดูดให้คนมาลงทุนที่นี่ และเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของโลกดิจิตอลเทคโนโลยีมันเพราะอะไร ก็ได้คำตอบว่า ที่นี่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ในนิเวศวิทยาของมัน 3 อย่างคือ บุคลากร เงินทุน และวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการ และความคิดสร้างสรรค์

1.บุคลากร
ในซิลิคอน วัลเล่ย์ อุตสาหกรรมดิจิตอลเทคโนโลยีจะขับเคลื่อนไปได้ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถ ที่นี่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายต่อหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ สแตนฟอร์ด ที่ผู้ก่อตั้งบริษัทดังๆ ก็จบจากที่นี่ อย่าง Jerry Yang, David Filo แห่ง Yahoo! และ Sergey Brin, Larry Page แห่ง Google เรียกได้ว่านอกจากเป็นแหล่งผลิตบุคลากรชั้นดีแล้ว ก็ยังสามารถ รับสมัครพนักงานเก่งๆ รุ่นใหม่ได้จากที่นี่โดยตรงอีกด้วย

2.เงินทุน
บรรดาคนทำงานด้านดอทคอมทุกคนจะรู้จักถนน Sandhill ที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งรวมของบริษัท Venture Capital หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า VC ใครที่มีไอเดียใหม่ๆ ใครที่อยากได้คำแนะนำดีๆ อยากได้เงินนำไปลงทุน ก็มาคุยกับ VC อย่าง Kleiner Perkins ที่นี่ได้ หรือเลยออกไปทาง Menlo Park ก็จะมี Sequoia Capital ลองไปเสิร์ชกันดูนะครับว่าบริษัทเหล่านี้ลงทุนกับบริษัทดอทคอมอะไรกันบ้าง แต่ทั้งนี้ระบบ VC นั้นในเมืองไทยได้ยินมาว่าเริ่มมีบริษัทต่างชาติเริ่มเดินสายเข้าไปบ้างแล้ว

3.วัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการและความคิดสร้างสรรค์
ด้วยความโด่งดังและความสำเร็จของซิลิคอน วัลเล่ย์ มาหลายยุคหลายสมัย ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกฝันอยากจะสร้างซิลิคอน วัลเล่ย์ในประเทศของตัวเองบ้าง เช่น บังกาลอร์ ที่อินเดีย ไซบีเรียที่รัสเซีย จงกวนชุน ที่เมืองจีน หรือในประเทศไทยเองก็เห็นว่าเราพยายามผลักดันภูเก็ตให้เติบโตอย่างนั้นบ้าง

แต่สิ่งที่แตกต่างที่สุด (และผมว่าน่าจะสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่เลียนแบบซิลิคอน วัลเล่ย์ยาก) ก็คือวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของกิจการ และความคิดสร้างสรรค์

ถ้าทุกๆ ประเทศเน้นย้ำเรื่องวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ การศึกษา ที่บ่มเพาะให้คนได้คิด ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของระบบการศึกษา และระบบความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของกิจการที่ต้องปลูกฝังกันยาวนานถึงจะสำเร็จได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต่างกัน อย่างเมืองไทย ปัจจัยขั้นพื้นฐานเรายังต้องพัฒนาเพิ่มเติม อย่างง่ายๆ เช่น ไฮสปีตอินเทอร์เน็ตบ้านเรา ตอนนี้ที่ว่าเร็ว 8 MB แต่ที่อเมริกาปา เข้าไปอย่างต่ำเป็นหลักร้อย MB ในราคาที่ไม่แพงเช่นกัน แต่อันนี้ก็น่าเห็นใจว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในบ้านเรามีฐานลูกค้าแค่ในเมืองไทย คนใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 16.1 ล้านคน อาจจะเทียบไม่ได้กับที่อเมริกา

แนะนำให้คุณผู้อ่านลองอ่านบทความเรื่อง “มองการลงทุนนอกกรอบซิลิคอน วัลเล่ย์” เพิ่มเติมนะครับ http://www.quickpcextreme.com/blog/archives/1142

กินอะไรใน yelp.com

การเดินทางไปซิลิคอน วัลเล่ย์คราวนี้ผมฝากท้องไว้กับเพื่อนๆ คนไทยที่ทำงานที่นั่น และถามเขาเรื่องการใช้ชีวิตมากกว่า เพื่อซึมซับเอาบรรยากาศ และทำความเข้าใจว่า ทำไมซิลิคอน วัลเล่ย์ถึงเป็นจุดที่นักลงทุนจากทั่วโลกเดินทางมาปักหลักลงทุน

ตามประสาคนทำงานที่นั่น ถ้าผมไปถามอะไรที่เป็นทฤษฎีจ๋ามากๆ คงไม่มีใครตอบ เลยอาศัยมองดูรอบๆ ตัวว่าคนที่นั่นใช้ชีวิตกันยังไง เอาอย่างง่ายๆ ว่าไปกินข้าว ผมถามว่าจะไปกินข้าวที่ไหนดีวันนี้ มีอะไรแนะนำบ้าง เพื่อนผมเสิร์ชแล้วไปเจอเว็บ Yelp.com เว็บดังที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนว Social

Networking ที่คนอเมริกันจะเข้าไปเขียนรีวิวกันว่า ไปกิน ไปเที่ยวที่ไหนมาแล้วชอบหรือไม่ชอบอย่างไร แล้วก็จะได้เพื่อนที่ชอบกินชอบเที่ยวที่เดียวกันเพิ่มขึ้นเราก็ลองไปตามร้านที่สมาชิกใน Yelp.com แนะนำกัน
พอไปถึงหน้าร้านก็เจอป้ายนี้ครับ

ร้านอาหารอิตาเลียนร้านนี้ภายนอกดูธรรมดาๆ ไม่ได้ไฮเทคอะไรเลยครับ แต่ว่าเจ้าของร้านเข้าไปทำการตลาดของร้านตัวเองผ่านทาง Yelp.com เป็นประจำ และเขายังเข้าไปตอบคำถามลูกค้าทาง
CitySearch.com อีกด้วย ลูกค้าบางรายบอกว่าอาหารอร่อยมากก็เข้าไปขอบคุณ ใครบอกว่าไม่อร่อยเลย เขาก็เข้าไปตอบว่าจะปรับปรุง พอสมาชิกของ Yelp.com คนอื่นๆ มาเห็นก็ทำให้ “เชื่อ” ได้ว่าร้านนี้ยังมีการปรับปรุงและใส่ใจลูกค้าตลอด แบบนี้น่าไปอุดหนุน เมืองไทยน่าจะมีเว็บแบบนี้กันบ้างนะครับ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่เจอคือ เวลาผมเดินไปตามจุดต่างๆ ของเมือง คนมีอายุแค่ไหนก็ใช้อินเทอร์เน็ตได้ ไม่มีใครมาบอกว่า “โอ้ย ฉันเป็นคนโลวเทค” คนที่นี่เกือบทุกคนทำอะไรไม่ได้คำนึงถึงเรื่องวัยเป็นที่ตั้งครับ แต่ดูว่าเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองหรือเปล่า

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าเราเดินไปผ่านร้านค้า ร้านกาแฟข้างทาง แล้วมีเว็บไซต์ของร้านตัวเองเพื่อให้คนเข้ามาดูสินค้าและแนะนำบริการของตัวเอง หรือแม้แต่ศิลปินข้างทางคนนี้ เขาเรียงหินทีละชั้นๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ก็มีช่อง YouTube ของตัวเอง ผมถามเขาว่าคุณมีรายได้จากผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาเท่านั้นหรือ เขาบอกว่าไม่เลย เมื่อก่อนน่ะใช่ แต่ตอนนี้ตั้งแต่เอางานศิลปะของเขาขึ้นอินเทอร์เน็ต ก็มีคนเดินมาดูมากขึ้น มีคนบอกต่อมากขึ้น จนกระทั่งทำชิ้นงาน โฆษณาให้กับ Coca-Cola และจากผลงานเหล่านี้ทำให้เขาได้ไปสอนศิลปะให้กับเด็กๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนียอีกด้วย

เวลาเดินเข้าไปในร้านหนังสือที่นี่อย่าง Borders, Barns & Noble ทางร้านก็ปรับให้คนที่เข้าไปในร้านซื้อหนังสือมีความสะดวกขึ้น อย่างเช่น อยากจะอ่านหนังสือไปด้วย ดื่มกาแฟไปด้วย ก็มีโต๊ะให้นั่งอ่านกันเต็มที่ คือไม่กั๊กเหมือนเมืองไทย รวมถึงเรื่องพื้นๆ อย่างการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เราค้นหาหนังสือ, ซีดี, Audio book ในร้านได้สะดวกมากขึ้น

ตอนนี้เทรนด์ใหม่ที่มาแรงในอเมริกาก็คือตัว eBook Reader ถ้าเราเดินเข้าไปใน Barns & Noble ก็จะเห็น Nook Readers’ ที่ทางบริษัทจัดทำขึ้นมาในแบบเดียวกับ Amazon Kindle แต่ถ้าเราเดินเข้าไปใน Borders ที่นั่นก็จะขาย e-Readers ของ Sony ซึ่งพนักงานเขาบอกว่าไม่ได้ขายดีมาก แต่ขายได้เรื่อยๆ อย่างน้อยก็ดีกว่าเมื่อหลายปีก่อน เพราะตอนนี้อุปกรณ์ประเภทนี้พัฒนาไปเยอะมาก และข้อดีก็คืออยู่ที่ไหนก็ซื้อหนังสือได้ เพราะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายเข้ากับอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย

สิ่งที่น่าคิดก็คือ ที่อเมริกามีการผลักดันให้เจ้าตัว e-Reader พวกนี้จริงจังมากขึ้น รูปแบบธุรกิจของร้านหนังสือก็จะเริ่มเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย เช่น จากเดิมติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้ส่งหนังสือมาขาย ต่อไปก็จะรับต้นฉบับอิเล็กทรอนิกส์มาขายต่อทางเว็บไซต์ของร้านในราคาที่ถูกลง เพราะต้นทุนทางการพิมพ์และการขนส่ง การจัดสต๊อกลดลง สิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไปก็คือ คนจะอ่านหนังสือผ่านทางอุปกรณ์เหล่านี้ในอัตราที่มากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน

การเดินทางไปซิลิคอน วัลเล่ย์คราวนี้อาจจะสั่นไปสักนิด แต่ก็ได้ไปดูถึงแนวโน้มใหม่ๆ และวิถีชีวิตของคนในซิลิคอน วัลเล่ย์ถึงสถานที่จริง สำหรับคุณผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปในซิลิคอน วัลเล่ย์ ผมแนะนำ ให้อ่านเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับซิลิคอน วัลเล่ย์โดยเฉพาะนะครับ เช่น Silicon Alley Insider http://www.businessinsider.com/alleyinsider และ TechCrunch http://www.techcrunch.com