ความจริงจากท้องถนน! “แบรนด์” แบบไหนโดนใจผู้บริโภคไทย

วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์” หลากหลายต่างจากอดีต การเข้าใจความจริง” ต่อมุมมองและการใช้ชีวิตของผู้บริโภค จะทำให้แบรนด์ตอบสนองความต้องการได้ตรงจุดและเป็นแบรนด์ที่ชนะใจผู้คนในยุคนี้

เป็นประจำกับการทำวิจัยหัวข้อ The Truth “ความจริง” เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ “แมคแคน เวิลด์ กรุ๊ป” บริษัทสื่อสารการตลาดระดับโลกได้หยิบขึ้นมาทำการสำรวจในสิ่งที่ “แบรนด์” ต่างๆ ต้องทำความเข้าใจในแต่ละยุค

สำหรับปีนี้ เป็นการสำรวจ The Truth About Global Brands 2” ความจริงเกี่ยวกับแบรนด์ดังระดับโลก ที่จัดทำต่อเนื่องจากปี 2015 ภาคต่อนี้ใช้วิธีสำรวจเรียกว่า Truth About Street (ความจริงจากท้องถนน) โดยส่งพนักงานกว่า 20,000 ในเครือข่ายของเอเยนซี 29 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย  ออกไปสัมภาษณ์ผู้บริโภคบนท้องถนน เพื่อสะท้อนทัศนคติและบทบาทของแบรนด์ในมุมที่ผู้บริโภคต้องการเห็นแบรนด์ทำหน้าที่

ความเชื่อและความจริงต่อแบรนด์ดัง “ต่างกัน”

การสำรวจ The Truth About Global Brands 2: Powered by the Streets “แมคแคน” ได้เก็บผลสำรวจในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ยุพิน สุวรรณโสภณ มินซิ่ง

ยุพิน สุวรรณโสภณ มินซิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ในสังคมสมัยใหม่ ที่มีความแตกต่างและหลากหลาย (Diversity) ความแตกต่างหลากหลายของคนมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับโลก หรือแบรนด์ท้องถิ่น จึงต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ทำความเข้าใจ “ความจริง” ในสิ่งที่ผู้บริโภคมีมุมมองต่อสังคมรอบตัวและสิ่งที่ต้องการให้แบรนด์ทำหน้าที่

การสำรวจ Truth About Street ของกลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทย ทำให้รู้ว่า “ความเชื่อ” และ “ความจริง” เกี่ยวกับ “แบรนด์ดัง” ในมุมมองของคนไทยต่างกัน ความเชื่อที่ว่าหากเป็นแบรนด์ดัง จะต้องมีคนเข้าคิวรอซื้อ จึงจัดว่าเป็นร้านเด็ดร้านดัง แต่ผู้บริโภคได้ลองสินค้าก็จะพบว่า “ร้านคิวยาว” ก็ไม่ได้ดีตามคาดหวัง

อีกความเชื่อที่เกี่ยวกับการ “เคลม” เช่นการบอกที่ฉลากผลิตภัณฑ์รวมทั้งการโฆษณาว่า เป็นแบรนด์เบอร์ 1 จากประเทศต่างๆ สินค้าผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ออร์แกนิก 100% ซึ่งความจริงแล้วผู้บริโภคก็ไม่ได้มีการพิสูจน์การเคลมคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้านั้นๆ ว่าเป็นจริงหรือไม่

ความเชื่อที่เกี่ยวกับ “คอนเทนต์” ที่มีการแชร์ต่อผ่านสื่อออนไลน์ พบว่า คนไทย 2 ใน 5 เคยถูกหลอกผ่านสื่อออนไลน์ คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 500 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา คนไทย 50% เชื่อว่าโซเชียลมีเดีย “หลอกลวง”

ต้องการแบรนด์ “จริงใจ”

ดังนั้นจากการสำรวจ Truth About Street สิ่งที่คนไทยคาดหวังมากที่สุดจากแบรนด์ คือความจริงใจ (Honesty) 41% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 38% และหากเป็นแบรนด์ที่จริงใจ 95% ของคนไทยจะ “บอกต่อ” เรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ หรือทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทน

จากประเด็นนี้ สิ่งที่แบรนด์สามารถนำมาใช้ เพื่อแสดงให้เห็นความจริงใจ เช่น การบอกถึงส่วนผสม แหล่งที่มาของวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ หรือหากแบรนด์ทำผิดพลาด ก็ต้องบอกเล่าเรื่องราวนั้นและขอโทษ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเห็น

ชอบแบรนด์ให้ความสำคัญ “ความหลากหลาย”

ในสถานการณ์ที่ 76% ของคนไทยรู้สึกว่าไม่สามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของโลก, การเมืองในไทย, ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น PM 2.5 โดยพบว่า 62% ของผู้บริโภคคนไทย Unfriend เพื่อนในเฟซบุ๊ก จากความเห็นที่ความแตกต่างทางการเมือง ทำให้มุมมองด้าน ความหลากหลาย (Diversity) มีความสำคัญมากขึ้น

ปัจจุบันทั่วโลกมีความหลากหลายในหลายมุมมองมากขึ้น จากเดิมเป็นเรื่อง รายได้ ชนชั้น การเมือง ศาสนา อายุ มุมมองใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ก็คือ อายุ (เจนเนอเรชั่นต่างๆ) ความหลากหลายทางเพศ LBGTQ  

พบว่าทั่วโลกมีสัดส่วน CEO ผู้หญิง 24% แต่ประเทศไทยอยู่ที่ 37% แม้ประเทศไทยมีมุมมองที่ยอมรับเรื่องความหลากหลาย แต่กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศในไทย 6 ใน 10 คน กลุ่ม LGBTQ บอกว่าพวกเขายังถูก Bully

โดย 90% ของคนไทยเห็นด้วยว่าโซเชียลมีเดียช่วยทำให้โลกที่มีความหลากหลายมากขึ้น และ 86% ของคนไทยเชื่อว่า “แบรนด์” ควรมีความรับผิดต่อการสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย

เติมความเป็น Brand Local โดนใจ

พบว่า 86% ของคนไทยนิยมซื้อสินค้าของแบรนด์ที่สนับสนุนและช่วยส่งเสริมประเทศของตนเอง (Local) ขณะที่ทั่วโลกสัดส่วนอยู่ที่ 75% และเอเชียแปซิฟิก 76% สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดี มาจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม SMEs ปี 2017-2018 จำนวนกว่า 2.38 แสนราย โดย Popular Brand ในประเทศไทย สัดส่วน 60% เป็นแบรนด์ท้องถิ่น

ในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้บริโภคไทย 77% นิยมรสชาติแบบท้องถิ่น จากสินค้าอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ ซึ่งก็คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือ (Collaboration) ระหว่างอินเตอร์แบรนด์กับแบรนด์ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความนิยมของผู้บริโภคไทย

วันนี้ “แบรนด์” จึงต้องมีบทบาทมากกว่าเดิม และต้องปรับตัวตามให้ทันความเข้าใจของผู้บริโภค “แบรนด์” ที่ทำตัวใกล้ชิดกับคนไทย เข้าใจวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย วางจุดยืนด้านความหลากหลาย และเป็นแบรนด์ที่ทำให้ประเทศไทยดีขึ้น จะเป็นแบรนด์ที่โดนใจผู้บริโภคไทย.