Foodland ปรับแผนรับมือความท้าทายรอบด้าน! เปิดร้านใหม่เพียง 1-2 สาขา เตรียมนำ “ถูกและดี” ออกไปปักหมุดนอกซูเปอร์มาร์เก็ต

ภาพของเศรษฐกิจไม่นิ่ง จนกระทบกำลังซื้อ คนเข้าห้างน้อยลง ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ทำอาหารเองเน้นซื้อสำเร็จรูปไปจนถึงเทรนด์การสั่งสินค้าและอาหารจากออนไลน์ล้วนเป็นปัจจัยเข้ามากดดัน “Foodland” ซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมง อยู่ธุรกิจค้าปลีกมานานกว่า 40 ปี ต้องตัดสินใจขยายสาขาน้อยลงจากปีละ 3 – 4 สาขาเหลือเพียงปีละ 1 – 2 สาขาเท่านั้น

สำหรับสาขาแรกของปี 2019 และเป็นสาขาที่ 23 เพิ่งได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการในวันนี้ (6 มิถุนายน) โดยตั้งอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ชื่อ Att U Park Suvarnabhumi บริเวณ กม. 12 ถนนบางนาตราด สาขานี้มีครบทั้งโซนซูเปอร์มาร์เก็ตกับร้านถูกและดี ซึ่งเป็นร้านอาหาร โดยภาพรวมใช้งบลงทุน 70 ล้านบาท

ส่วนสาขาต่อไป ถ้าไม่มีโปรเจกต์ด่วนมาแทรก จะเปิดปลายปีนี้ แถวเกษตรนวมินทร์ ถนนสุขาภิบาล 1 ใช้งบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท บนพื้นที่ 5 ชั้น 10,000 ตารางเมตร เหตุที่มีพื้นที่เยอะเนื่องจากไม่ได้มีแค่พื้นที่ของมีซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารสาขานี้ยังจะเป็นคลังสินค้าซึ่งย้ายมาจากบริเวณลาดพร้าว

อธิพล ตรีระสงกรานต์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด กล่าวว่า

การขยายสาขาในอนาคตจะเน้นหลักการโลเคชั่นที่ดีจึงจะไปจับกับคอมมูนิตี้มอลล์ มากกว่าที่จะใช้เปิดเองแบบ Stand Alone ด้วยทำเลเหล่านี้มักจะอยู่ติดถนนใหญ่ทราฟฟิกจึงเข้ามาอยู่แล้ว เพราะถ้าไปเปิดเองนอกจากต้นทุนที่มากกว่าแล้ว ยังต้องคาดหวังให้ยอดขายถึงวันละ 600,000 บาท ถึงจะครอบคลุมต้นทุน

จริงๆ แล้ว Foodland ยังมีที่ดินขนาดใหญ่ 10 ไร่ขึ้นไปอีก 3 แปลงในกรุงเทพฯ หากเปิดเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว ไม่คุ้มที่จะลงทุน จึงกำลังมองหาดีเวลลอปเปอร์มาร่วมทุนสำหรับลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม เป็นต้น

ถึงจะเปิดน้อยลงแต่อธิพลย้ำว่า Foodland จะแข่งขันด้วยจุดเด่นตัวเองมี คือคุณภาพของสินค้าและบริการ เน้นให้บริการลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว เพราะถึงแม้เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยมากแค่ไหนแต่ลูกค้าก็ยังต้องการปฏิสัมพันธ์อยู่ดี

นอกจากนี้ ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดแอป “Foodland 366 Reward” สำหรับสะสมคะแนนเพื่อแลกของพรีเมียม เพื่อช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยเริ่มทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการเก็บข้อมูลของลูกค้า หลังจากนี้จะเข้าใจมากขึ้น มียอด Downloads แล้ว 1 แสนราย ตั้งเป้าสินปีจะทะลุ 1.5 – 1.6 แสนราย

Foodland ยังเตรียมทำอาหารพร้อมรับประทาน Ready to Eat เช่น แกง หมูตุ๋นเพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาซูเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายราว 5,800 ล้านบาท ลดลง 3 – 4% จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นส่วนปีตี้ตั้งเป้ารายได้ 6,200 ล้านบาท

ขณะเดียวกันแม้ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตจะเผชิญความท้าทายรอบด้านแต่ร้านถูกและดีกลับอยู่ในทิศทางที่ดีกว่าตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่ไม่ทำอาหารเอง ซื้ออาหารปรุงสำเร็จสะดวกกว่า โดยมีทั้งอาหารไทยและตะวันตก ราคาตั้งแต่ 70 – 300 บาท ในปี 2018 เติบโตเกือบ 2 ดิจิคิดเป็นตัวเลขยอดขายกว่า 650 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ทำยอดขาย 590 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดทะลุ 700 ล้านบาท

แต่ที่มากกว่ารายได้คือกำไรเมื่อเทียบกับซูเปอร์มาร์เก็ตมีกำไรขั้นต้นอยู่ราว 10% ส่วนร้านอาหารมีกำไรขั้นต้นอยู่ประมาณ 50% อธิพล บอกว่าตัวเลขนี้ยังถือว่าน้อยกว่าร้านอาหารที่อยู่ในห้าง ซึ่งมีต้นทุนเฉพาะวัสดุดิบ 25 – 30%

ด้วยเหตุนี้ Foodland จึงเตรียมนำ “ร้านถูกและดี” ขยายออกไปแยกกับซูเปอร์มาร์เก็ต จากปรกติที่ไปด้วยกันตลอด เบื้องต้นจะขยายไปในทำเลที่มีคนอาศัยจำนวนมาก เช่น คอนโดมิเนียม ชุมชน จะแยกออกมาตั้งอยู่ในตึกแถวเน้นขายอาหารไทยเป็นหลักส่วนใหญ่ และอาจต้องใช้ชื่ออื่น เพราะคนเข้าใจว่า ร้านถูกและดี เปิด 24 ชั่วโมง ส่วนโมเดลใหม่อาจเปิดไม่ถึง

โดยคาดว่าสาขาแรกจะเปิดต้นปีหน้าพร้อมกัน 3 สาขา โดยจะตั้งอยู่บริเวณ Foodland เนื่องจากจะใช้เป็นฮับส่งวัสดุดิบจะมีพื้นที่ขนาด 150 – 200 ตารางเมตร ครัวจะเล็กลง 40% ตั้งเป้ายอดขายวันละอย่างน้อย 50,000 – 60,000 บาท ส่วนร้านถูกและดีมียอดขายเฉลี่ยวันละ 80,000 – 100,000 บาทต่อสาขา

ก่อนหน้านี้ได้มีการนำร้านถูกและดี โมเดลเล็กไปเปิดที่สิงคโปร์ตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ Foodland ไม่ทำเอง หรือร่วมทุน แต่ให้สิทธิ์กับเจ้าของ ร้านฮอกเกอร์ชาน (Hawker CHAN) ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านร้านอาหารในไทย ในการใช้ชื่อและให้ Know-how ไปเปิดสาขาร้านถูกและดีที่สิงคโปร์ โดยสูตรอาหารขายเมนูละ 4 – 5 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 90 – 100 บาทต่อจาน เพื่อมุ่งไปที่ตลาดแมส

ตั้งแต่เปิดมาได้รับผลตอบรับที่ดี เร็วๆ นี้เตรียมเปิดอีก 1 สาขา ซึ่งการนำไปสิงคโปร์ อธิพลบอกว่าเป็นการทดลองตลาดก่อนโดยมีแนวโน้มที่จะขยายไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น

อย่างในก็ตาม ในกลุ่มของบริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ยังมีธุรกิจอาหารที่รับสิทธื์แฟรนไชส์จากต่างประเทศอีก 4 แบรนด์ ได้แก่ ร้านทิมโฮวาน (Tim Ho Wan) 4 สาขา, ร้านฮอกเกอร์ชาน (Hawker CHAN) 2 สาขา, ร้านทงคตสึคะซังราเมน (Tonkotsu kazan ramen) 3 สาขา และร้านมิสเตอร์พิซซ่า (Mr.Pizza) 1 สาขา แนวโน้มทรงตัวจึงยังไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติมในปีนี้.