เปิดแนวคิดและประวัติ “ภูษิต ศศิธรานนท์” แห่งเอ็กซ์โปลิงค์ (Expolink) เจ้าพ่องานแสดงสินค้า


จะมีสักกี่คนที่รู้จังหวะชีวิตของตัวเองว่าจะต้องลงมือทำอะไร เมื่อไหร่ และด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลทำให้ ภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด (ENG) ปลุกปั้นธุรกิจผู้จัดงานเทรดแฟร์ หรืองานแสดงสินค้าและงานนิทรรศการต่างๆ จนกระทั่งประสบความสำเร็จระดับแถวหน้าของเมืองไทยและระดับภูมิภาค โดยก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือนมิถุนายน 2545 หนึ่งในงานที่เป็นเทรดมาร์ก และสร้างชื่อให้กับ EGN มานานกว่า 16 ปี ก็คืองาน THAIFEX-World of Food Asia ที่มีเพื่อนคู่คิด พันธมิตรธุรกิจคู่ใจอย่างโคโลญจ์ เมสเซ่ ขาใหญ่ด้านเทรดแฟร์ระดับโลกจากเยอรมนี

เมื่อถึงเวลาต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง จุดเริ่มต้นสำคัญที่ขาดไม่ได้

จากพื้นเพคนกรุงเทพฯ ที่ถือกำเนิดในครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไป คุณพ่อของภูษิตทำงานด้านประกันชีวิต ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน และค้าขายด้วย เขามีพี่น้อง 5 คน การเรียนปานกลาง ตอนเล็กๆ พี่น้องคนอื่นเรียนโรงเรียนวัด มีเขาคนเดียวที่ได้เรียนโรงเรียนคริสต์ ซางตาครู้ส จากนั้นก็ไปเรียนที่โรงเรียนวัดปากน้ำ ที่ๆ เขาได้เริ่มเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ ในตำแหน่งมือกีต้าร์ จากนั้นพัฒนาฝีมือจนกระทั่งสามารถเล่นได้อย่างเชี่ยวชาญและทำรายได้จากการเล่นดนตรี ต่อมาได้ย้ายมาเรียนที่สันติราษฎร์วิทยาลัย กระทั่งถึง ม.6 จากที่เคยเฮฮากับเพื่อนฝูง ได้เห็นตัวอย่างจากพี่ชายที่ประสบความสำเร็จมาก สอบอะไรก็ติดหมดเลย เก่งมาก กอปรกับความสงสารคุณแม่อยากให้คุณแม่ชื่นใจบ้าง ไม่ต้องลุ้นอนาคตการเรียนของลูกชายทุกปี จึงตระหนักว่าถึงเวลาที่เขาจะเอาจริงเอาจังด้านการเรียนเสียที พร้อมกับเลิกเล่นดนตรีไปเลย เพื่อตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่หวังลุ้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ในขณะที่เพื่อนเริ่มออกอัลบั้มกันแล้ว “ผมอยากเป็นนักกฎหมาย แต่ตอนนั้นประเมินความสามารถของตัวเองว่าน่าจะสอบติดอันดับ 4 จากตอนนั้นที่ระบบเอนทรานซ์ให้เลือกได้ 6 อันดับ เลยวิเคราะห์โอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ร่วมกับขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา จึงตัดสินใจเลือกคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว และสอบติดตามแผนที่วางไว้”

จริงจังกับทุกอย่างที่ทำ นำพาความสำเร็จสู่ชีวิต

เมื่อขึ้นปี 2 เขาได้เล่นละครเวทีอย่างจริงจัง ไม่ต่างกับตอนเล่นดนตรี โดยตั้งกลุ่มละครอิสระร่วมกับเพื่อนคอเดียวกัน เรื่องแรกที่ทำคือ Being There ของเจอร์ซี่ โคชินสกี จากการลองทำตามเพื่อน กลับกลายเป็นความชอบที่ดำดิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ละครเวทีเรื่องต่อมาคือ Waiting for Godot ของซามูเอล เบ็คเค็ทท์ ซึ่งแปลกันเองจากภาษาฝรั่งเศส และทำโปรดักชั่นเองด้วย ซ้อมละครกันหนักถึงตี 3 ตี 4 แต่เมื่อขึ้นปี 4 เขาบอกว่ารู้หน้าที่และภารกิจโดยสัญชาตญานว่าจะต้องทำอะไรต่อไป นั่นคือการหันหลังให้กับละครเวที และทุ่มเทให้กับการเรียน จนสำเร็จการศึกษาและคว้าปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ พร้อมกับวิชาโทปรัชญาและศาสนามาครอง แม้จะต้องเรียนสาขานี้เพียงคนเดียวของรุ่นก็ตาม “พอจบมาแล้วไปทำงานคลับเมด ภูเก็ต ประมาณ 6 เดือน ทั้งๆ ที่ใจจริงอยากทำบริษัทโฆษณา เพราะมีพื้นฐานการเล่นดนตรีมา แต่เขาไม่รับเพราะไม่ใช่อย่างที่เขาต้องการ ลุคของเราดูเหมือนนักธุรกิจ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ตัวหรอกว่าเราแนวไหนกันแน่ ตอนทำงานเป็น G.O. (Gentle Organizer) ก็สนุกสนานเฮฮาดีนะ ทำได้เรื่อย ๆ แต่ลึกๆ รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็เลยตัดสินใจลาออก จากนั้นไปสมัครงานบริษัทโฆษณาเล็กๆ แห่งหนึ่ง ไปขอเขาทำเลย แต่พอทำไปสักพัก รู้สึกเราอยู่นอกวงโคจรศัพท์แสงการตลาดต่างๆ ที่เขาใช้กันจนเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่เราไม่รู้เรื่อง เลยตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ จนจบด้านการตลาดที่ออสเตรเลีย” หลังจากหอบปริญญาโทกลับมา ได้รับคำชักชวนจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นปรมาจารย์ในวงการโฆษณาหลายคน รวมถึง ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ซีพีเอ็น ในปัจจุบัน) ที่กำลังฟอร์มทีมตั้งบริษัทโฆษณาชื่อว่า แฟลกชิป และมองหาทีม Client Service เก่งๆ เขาตกปากรับคำทันทีและเริ่มทำงานในตำแหน่ง Account Supervisor จากนั้นก็มาถึงจุดเปลี่ยนที่หักเหเข้าสู่วงการเทรดโชว์ เมื่อมีคนชวนไปทำงานแสดงนิทรรศการ จนติดใจยาวมาถึงตอนนี้ ตำแหน่งล่าสุดในชีวิตลูกจ้างคือ Project Director ที่ไบเทค บางนา ก่อนจะเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง นับถึงวันนี้เป็นระยะเวลานานถึง16 ปีแล้ว นอกเหนือจากนั้นในด้านวิชาการ ภูษิตยังคว้าปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) รุ่นที่ 28 จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย

ก้าวสู่การเป็นนักปั้นงานแสดงสินค้ามือทอง

ภูษิตบอกว่าไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากความที่เป็นคนบ้าดีเดือดและวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ทำให้เขาตัดสินใจเปิด บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด เพื่อลุยธุรกิจผู้จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการอย่างจริงจัง โดยไม่หวั่นเกรงที่จะต้องลุยศึกในสมรภูมิที่ผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ “ในยุคนั้นไม่ค่อยมีบริษัทไทยที่จัดงานแสดงสินค้าสักเท่าไหร่ เพราะโดยมากจะเป็นบริษัทต่างชาติ ในขณะที่ Hannover Messe (Hanover Fair) จากเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทจัดเทรดแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาสนใจในประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา เลยถามว่าสนใจจะหุ้นกันไหม หรือยังไง เราบอกขอเพลย์เซฟแล้วกัน เพราะเพิ่งเริ่มต้นและไม่มีทุนหนาเพียงพอที่จะรับความเสี่ยงได้หากขาดทุนขึ้นมา เลยขอรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการและรับรายได้เป็นคอมมิชชั่นจากการขายดีกว่า แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของก็ตาม แต่ก็ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในตอนนั้น และหลังจากสั่งสมประสบการณ์และมีผลงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ร่วมทุนกับ Koelnmesse GmnH (Cologne Trade Fair) อีกหนึ่งผู้จัดเทรดแฟร์รายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อธันวาคม 2004 เพื่อสร้างเครือข่ายระดับโลก และเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจในต่างประเทศซึ่งเป็นน่านน้ำที่ใหญ่กว่าในประเทศไทยหลายเท่าตัว โดยจัดตั้งในรูปแบบของบริษัทสาขาด้วยการเปิดสำนักงานที่สิงคโปร์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ THAIFEX-World of Food Asia ที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และหอการค้าไทย ซึ่งเป็นโต้โผจัดงานนี้อยู่ก่อนหน้าแล้ว”

โดยปัจจุบัน สัดส่วนการถือหุ้นของ EGN แบ่งเป็นจากส่วนของภูษิต 51% และทางโคโลญจน์ เมสเซ่ ถือหุ้น 49% โดย EGNถือเป็นกลุ่มบริษัทโคโลญจ์ เมสเซ่ โดยสมบูรณ์ และ EGN เป็นตัวแทนของโคโลญจน์ เมสเซ่ ทั่วโลก ในขณะที่งานอื่นที่โคโลญจน์ เมสเซ่ ไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่ทับซ้อนกัน EGN ทำหน้าที่บริหารจัดการงานเทรดแฟร์ให้ ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางของการสร้างรายได้ และเครือข่ายใหม่ๆ ที่สำคัญด้วย ทั้งนี้ THAIFEX-World of Food Asia เริ่มครั้งแรกในปี 2004 บนพื้นที่ 25,000 ตารางเมตร ถือว่าเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียนับตั้งแต่นั้น ล่าสุดขยายเพิ่มเป็น 107,000 ตารางเมตร เต็มพื้นที่อิมแพคเมืองทองธานี และจากช่วงแรกๆ บูธที่มาออกงานมีเฉพาะในอาเซียน แต่ปัจจุบันนี้ มี National Pavillion ถึง 42 ประเทศ

งานแสดงสินค้า หรือเทรดแฟร์ ไม่ใช่แฟชั่นประเดี๋ยวประด๋าว แต่ต้องเป็น Sustainable Product

สำหรับแนวคิดในการบริหารธุรกิจงานแสดงสินค้าให้ประสบความสำเร็จ ภูษิตบอกว่า มองถึงความยั่งยืนเป็นหลัก โดยการจัดงานแสดงสินค้าต้องหวังผลให้เกิดการเจรจาทางธุรกิจ เกิดการซื้อขายกัน และมองถึงการหยั่งรากเป็นไม้ใหญ่ที่จะแผ่กิ่งก้านไพศาล ออกดอกออกผลให้เก็บกินในระยะยาวไม่ใช่จัดเพียงแค่ 3-4 ปีแล้วล้มหายตายจาก ไปต่อไม่ได้ งานแสดงสินค้าต้องจัดต่อเนื่องเป็นประจำ จนกลายเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง อย่างงาน Anuga งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดมานานเกือบ 100 ปี

ปัจจุบันงานเด่นของ EGN มีความหลากหลายมากทั้งในส่วนของงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ THAIFEX-World of Food Asia, Victam Asia, Bonjour French Fair,World Smart SMEs, CP Innovation Expo เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อเติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่งในอนาคต ด้วยการ ริเริ่มจัดงานIntelligent Warehouse (คลังสินค้าอัจฉริยะ) ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ขณะเดียวกันก็มองหางานแสดงสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่อเติมโปรไฟล์ให้หลากหลายมากขึ้น นับได้ว่าภูษิตนำพาให้ EGN มีความก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ โดยมีการวางแผนขยายธุรกิจทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก โดยเชิงกว้างเป็นเรื่องคอนเทนท์ของงานที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ชัดเจน ส่วนเชิงลึกเป็นเรื่องของการเพิ่มขนาดงานให้ใหญ่ขึ้น เพิ่มยิลต์ และแตกไลน์ นอกจากนี้ยังรวมถึงขยาย Event Management รวมถึงงานในต่างประเทศด้วย เช่น ในปี 2020เตรียมจัดงาน Gamescomซึ่งเป็นเทศกาลเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม จากนั้นจะพิจารณาว่ามีทิศทางและโอกาสที่จะจัดที่เมืองไทยได้หรือไม่ โดยปัจจัยสำคัญในการพิจาณาว่าจะจัดงานอะไร จะเริ่มจากการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นว่างานนั้นมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคตไหม ตลาดมีกำลังซื้อหรือไม่ “EGN ถือเป็นบริษัทที่เติบโตดี เฉลี่ยแล้ว EGNมีงานทุกเดือน โดยงานขนาดใหญ่จะมีราว 3 -4 งานต่อปี ขณะเดียวกันก็มีบทบาทในการนำผู้ประกอบการไทย 140 กว่าบริษัทไปออกงาน Anuga ที่เยอรมนีด้วย”

ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ก่อเกิดประโยชน์มหาศาล

ภูษิตมองการณ์ไกลตั้งแต่แรกว่าในธุรกิจงานแสดงสินค้าจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือแบบ Strategic Alliance เพื่ออาศัยGlobal Expertise จากพันธมิตรระดับโลกอย่างโคโลญจน์ เมสเซ่ ถือเป็น Knowledge Transfer ที่ยอดเยี่ยม

“ความร่วมมือต้องไม่กลัวกัน บางครั้งคนไทยมักคิดว่าฝรั่งจะแทรกแซงการทำงานหรือมาล้วงลูก แต่บางเรื่องต้องให้เขาลองทำ ส่วนเราก็ให้ความเห็นแบบมืออาชีพ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกัน สรุปแล้วจะไปทางไหนก็ลองดู แต่ที่สำคัญที่เราจะได้จากเขาคือระบบการทำงานต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความเชี่ยวชาญของเรา เช่น การปรับปรุงซอฟท์แวร์ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมไปถึงการให้สวัสดิการ และการจ้างงานที่มีมาตรฐาน เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากเขา” สำหรับเป้าหมายในอนาคตของ EGN ต้องการสร้างองค์กรให้มีความยั่งยืน ผู้ถือหุ้นต้องได้ผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง ส่วนพนักงานเป็น Lifetime Employment หมายถึง พยายามตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ ของพนักงานอย่างเต็มที่ รู้ว่าเขาต้องการอะไร เช่น ต้องการความสุขในการทำงาน ต้องการได้รับเกียรติ ต้องการได้รับการโปรโมท มีสวัสดิการและหลักประกันในชีวิตที่มั่นคง ตั้งตัว เลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ปัจจุบัน EGNมีพนักงาน 18 คน แต่ค่าจ้างสูง มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทางธุรกิจราว 20 กว่าล้านบาทต่อปี นอกจากนี้เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจยังเตรียมปั้นแผนก IMC ดูแลด้านนี้โดยตรง เพราะปัจจุบันได้ยุบแผนกนี้ที่สิงคโปร์มารวมกับที่ไทย เนื่องจากตลาดบ้านเราเติบโตกว่า รวมถึงจัดตั้งทีม Corporate Affairs ด้วย

ไม่ยึดโยงอำนาจบริหารไว้เพียงคนเดียว แต่ต้องแจกจ่ายให้ทีมงานรับผิดชอบอย่างเต็มที่

หลักการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จตามแนวทางของภูษิตคือ ให้อำนาจกับทีมงานที่รับผิดชอบแต่ละส่วนอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองไป แต่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะยังต้องทำงานสอดประสานกันทั้งภายในองค์กรและบรรดา stakeholdersโดยใช้ระบบรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากงานแสดงสินค้าที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวนาน และมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างTHAIFEX-World of Food Asia ใช้เวลาเตรียมงานอย่างน้อย 1 ปี นั่นหมายความว่าหลังงานล่าสุดเสร็จสิ้นลง การเตรียมงานสำหรับปีหน้าก็เริ่มต้นขึ้นทันที

งานแสดงสินค้าไม่หมู ต้องเผชิญความท้าทายในทุกมิติ

ภูษิตบอกว่าความท้าทายของการทำธุรกิจงานแสดงสินค้ามีทั้งก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังงาน โดยช่วงก่อนงาน ต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่าเราเป็นงานที่สำคัญ และทุกคนต้องการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง “เวลาเราขายงาน เอาผู้จัดแสดงสินค้า (Exhibitor) เป็นสินค้าในการไปขาย ไม่ใช่แค่การขายพื้นที่ แต่เป็นการทำงานด้านการตลาดที่หนัก อาศัยศิลปะและศาตร์หลายแขนง เช่น การให้เช่าพื้นที่บวกค่าบริการ การโปรโมทที่ต้องระดมทั้งกลยุทธ์ด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ งานๆ หนึ่งประกอบด้วยหลายส่วนซึ่งล้วนแต่มีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจ นอกจากนี้เราไม่สามารถที่จะจัดงานที่ค้านกับนโยบายรัฐได้ เช่น จะไปจัดงานอะไรที่ย้อนหลัง ที่มันจบบริบูรณ์ไปแล้วก็เดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ หรือบางอย่างเป็นเทรนด์ใหม่ เช่น Alternative Energy ที่ยังไม่รู้ว่าทิศทางประเทศจะเดินไปที่พลังงานไหนกันแน่ จะเป็นพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานน้ำ ผู้จัดแสดงสินค้าก็จะงงว่าคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนของงานคืออะไรกันแน่ สอดรับกับผลิตภัณฑ์เขาหรือเปล่า ควรค่าที่จะลงทุนมาออกบูธไหม”

จะทำงานให้รุ่ง ต้องมีทั้งเวลา เสนาบดีที่เก่งกาจ และวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล

หลักคิดในการทำงานให้ประสบความสำเร็จตามแบบฉบับของภูษิต ประการแรกที่เป็นหัวใจสำคัญมาก คือ ต้องมีเวลา ทำงานปีแรกอาจจะสำเร็จเลย แต่คนยังไม่ยอมรับ ยังมีข้อกังขาอยู่ เพราะความสำเร็จต้องใช้เวลา แต่ถ้าหากทำสำเร็จต่อเนื่องยาวนานนั่นหมายถึง ต้องมีเวลาที่จะสั่งสมความสำเร็จด้วย นั่นหมายความว่า เวลาคือคำตอบ ความสำเร็จชั่วข้ามคืนไม่มีอยู่จริง “เมื่อเรามีเวลาก็สามารถทำงานปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ จนสำเร็จได้อย่างยั่งยืน เช่น ร้านอาหารที่ดีๆ เช่าพื้นที่เขาปีต่อปี พอคนเริ่มจะติดปุ๊บ เจ้าของขึ้นค่าเช่า สู้ราคาไม่ไหวก็ต้องย้ายที่ ความสำเร็จก็ไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นคนจีนทำร้านอาหารเขาจะหาทางซื้อตึกเลย ปรับปรุงจนมันดี นั่นคือมีเวลาทำให้สำเร็จ”

ประการต่อมาคือต้องมีเสนาบดี มีคู่คิดที่แข็งแกร่ง ทำคนเดียวได้เหมือนกัน แต่เครือข่ายไม่กว้างขวาง การร่วมกันอาจจะทำให้รายได้ลดลง แต่ได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ถือว่ามีคนมาช่วยเติมเต็มการทำงานในด้านที่เราไม่เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันความหลากหลายด้านอายุของทีมงานก็สำคัญ อย่าง EGN มีคนหลากเจนเนอเรชั่นที่ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่แปลกแยก “ทีมงานของเรามีตั้งแต่อายุ 70 กว่าปี ประสบการณ์สูงมาก ห้ามเกษียณ ในขณะที่เลขาส่วนตัวเป็นวัยกลางคน รู้ว่าจะต้องเจรจาหาทางออกอย่างไร คนกลุ่มนี้สำคัญมาก ถือเป็นหลักขององค์กร ส่วนคนรุ่นใหม่ไฟแรงก็ต้องทำงานหนักเพื่อที่จะเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้ทำเยอะๆ แต่คนที่จะมาสมัครงานกับเรา ถ้าเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.00 ไม่ต้องมาสมัคร จะอ้างว่าเวลาเรียนสนใจเรื่องกิจกรรมมากกว่า นั่นคือผิด ไม่ใช่เลย เพราะถ้าคุณทำสิ่งที่ชอบ 100% คุณจะเป็นคนขี้เบื่อ ในการทำงานคนเราต้องทำในสิ่งที่ชอบและอดทนในสิ่งที่ไม่ชอบด้วย ถ้าทำแต่สิ่งที่ชอบจะกลายเป็นคนเหลาะแหละมาก ถามว่ามนุษย์เราเลือกสิ่งที่ชอบได้ทุกวันไหม ไม่ได้หรอก หน้าที่หลักของคุณคือเรียนหนังสือ แล้วถ้าคุณยังเรียนไม่ได้ดี จะไปทำอย่างอื่นให้ดี ไม่ใช่แล้ว แต่ถ้าเรียนดี กิจกรรมเด่น จะพิจารณาเป็นพิเศษ”

นอกจากนี้แม้จะได้คนเก่งมาร่วมงานด้วย แต่ภูษิตบอกว่ายังต้องเสริมทักษะในส่วนที่คนไทยมักขาดหาย เพื่อให้เป็นเสนาบดีที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ EGN ต้องการ “คนที่เก่งอยู่แล้วเราจะฝึกให้เขาทำงานในรายละเอียด เพราะคนไทยมักไม่ครบเครื่อง อย่างคนสิงคโปร์ไม่ได้เก่งกว่าเราหรอก เพราะคนไทยจะมีแนวคิดสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า แต่คนสิงคโปร์จะทำงานมีระบบและคงที่กว่าในการทำงาน ลองเริ่มต้นทำงานพร้อมกัน ผ่านไปสัก 2 ปี เรากลายเป็นลูกน้องเขาเลย เราคิดภาพกว้างแล้วไปแก้ปัญหา แต่กระบวนการทำงานเราไม่คงที่ ส่วนเขาจะมีหลักการให้ยึดและตามงานอย่างเคร่งครัด เขาจะคุมงานได้ ทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมายได้ เราอยากฝึกให้พนักงานเป็นแบบนี้ แม้จะเป็นเรื่องยากและเหนื่อยมากก็ตาม สิ่งสำคัญในการทำงานเทรดแฟร์คือต้องลดอีโก้ งานประเภทนี้มีความเครียดมาก ฝนตกก็ต้องจัด แผนใครๆ ก็คิดได้ แต่ถ้าทำให้สำเร็จมันต้องอาศัยอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งคนไทยขาดตรงนี้ มีโอกาสแต่ละเลยโอกาสและขาดการฝึกฝน คนไทยชอบทำในสิ่งที่รัก พอไม่รักคุณทำไม่ได้ แต่คนเราไม่รู้หรอกว่ารักอะไรจริงจัง ความรักมันเปลี่ยนแปลงได้ และการที่จะมีเสนาบดีที่เก่งกาจและทำงานให้กับเราอย่างเต็มที่ เราก็ต้องทุ่มเททั้ง training และcoaching รวมถึงต้องให้ใจ ให้รางวัล และให้ผลตอบแทนที่เขาพึงพอใจ”

ประการสุดท้าย ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลว่าจะเดินหน้าไปทิศทางไหน ไม่อย่างนั้นก็จะวนอยู่ในอ่าง ซ้ำรอยเดิมอยู่อย่างนั้น ภูษิตยกตัวอย่างปีแรกที่เขาจัดงาน THAIFEX-World of Food Asia ว่า เขาเป็นคนเขียนก๊อปปี้ “งานแสดงสินค้าอาหารระดับโลกของคนไทย” บนบิลบอร์ดตรงทางด่วนดินแดงด้วยตัวเองซึ่งถ้อยคำที่เรียบง่ายทว่าทรงพลังนั้น สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของเขา “เรามุ่งมั่นอยากทำแบบนี้ ไปในทิศทางนี้ เราต้องทำทุกวันให้เป็นแบบนี้ให้ได้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเรา แม้มันไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่มันก็จะไปได้ไกลและสูงขึ้นกว่าเดิม” ในขณะที่รูปแบบการทำงานส่วนตัว เขาทำแบบหมาป่าไม่ใช่สิงโต เพราะหมาป่ารักพวกพ้อง ทำงานเป็นทีม เวลาไล่ล่าเหยื่อไม่เลิก วิ่งได้ 50 กิโลเมตร ตายกันไปข้าง ความน่ากลัวของหมาป่าอยู่ที่ตัวหมาป่าเอง และอยู่ที่ฝูงของมันด้วย ที่สู้สุดใจและพร้อมเดินหน้าไปด้วยกัน

เผยชีวิตครอบครัวและชีวิตส่วนตัว

สำหรับชีวิตครอบครัวของภูษิต เขาบอกว่าต่างคนต่างเลือกเส้นทางชีวิตและการทำงานด้วยตัวเอง ภรรยาของเขาทำงานธนาคาร ทั้งคู่มีลูกชายคนเดียว โดยให้ความรู้ และเปิดโอกาสให้คิดเองว่าจะเลือกทำอะไร แต่จะให้กรอบความคิดและชี้นำแนวทางที่เห็นว่าเหมาะสม “ ไม่เคยคิดว่าจะให้เขามาทำงานที่บริษัท เขาอาจไม่จำเป็นต้องบริหารงานโดยตรงแบบเรา แต่เขาสามารถบริหารด้วยบอร์ดได้ อยากไปเล่นกรอบอื่นก็ได้ตามความรู้ความสามารถที่มี ไม่จำเป็นต้องย้ำรอยความสำเร็จของพ่อ ไม่มีแนวคิดว่าลูกชายต้องสืบต่อธุรกิจครอบครัว แม้จริงๆ แล้วถ้าทำได้ก็ดี เพราะเราคิดอยู่เสมอว่าพนักงานก็เหมือนลูกเราด้วย ใครเก่งตรงไหนก็ทำต่อไปตรงนั้น แต่ผมจะให้การศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเขา ตอน ม.5ส่งเขาไปเรียนเอเอฟเอสที่บราซิล จบม.6 ที่เซ็นต์คาเบรียล เคยส่งไปเรียนบอร์ดดิ้ง สกูลที่อังกฤษ ตอนนี้เรียนปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาเซนต์แอนดรูวส์, สก๊อตแลนด์” ปัจจุบันนอกเหนือจากการบริหารธุรกิจเทรดแฟร์ ภูษิตยังใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มี เพื่อทำงานในแวดวงการศึกษาด้วย เช่น การจัดทำหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก ด้านEvent Management และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคณะนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะเดียวกันก็ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทย, บอร์ดหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย รวมถึงยังคงใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ชื่นชอบและหลงใหลอย่างการแต่งเพลง ซึ่งเขาสร้างสรรค์ผลงานไว้ 20 กว่าเพลง และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการอ่านหนังสือที่เป็นกิจกรรมโปรดมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ครั้งเรียนอักษรศาสตร์ ศิลปากร

ได้เวลาติดแบรนด์ Anuga สร้างชื่อให้ THAIFEX-World of Food Asia ดังไกลระดับโลก

หลังจากสร้างชื่อกับงาน THAIFEX-World of Food Asia จนได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ในที่สุดก็ถึงเวลาเดินหน้าไปอีกขั้นด้วยการเปลี่ยนชื่องานใหม่ ผนวกเอาแบรนด์ Anuga เข้ามาด้วย นับเป็นงานแรกที่ใช้ชื่อแบรนด์นี้นอกเมืองโคโลญจน์ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของ EGN ได้เป็นอย่างดี อดใจรออีก1 ปีนับจากนี้ ภูษิตจะนำความยิ่งใหญ่ดังกล่าวของ Anuga มาสู่เมืองไทยอย่างแน่นอนในนาม THAIFEX-ANUGA Asia การันตีว่าปีหน้าจะตื่นตาตื่นใจและยิ่งใหญ่กว่าเดิมอย่างแน่นอน เฉพาะงานต้นแบบ มีผู้จัดแสดงสินค้า 7,405 ราย ใน 10 ประเภทสินค้า ได้แก่ อาหารที่ใช้วัตถุดิบชั้นเลิศและปรุงรสมาอย่างดี (Fine Food),เครื่องดื่ม, อาหารสดและอาหารแช่เย็น, เนื้อสัตว์, อาหารแช่แข็ง, นม, ขนมปังและเบเกอรี่, เครื่องดื่มร้อน, ออร์แกนิก, และศิลปะการทำอาหารและการครัว และมีผู้มาเยี่ยมชมงานราว 165,000 คน ทำให้ไม่เพียงแต่ Anuga จะเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังขึ้นแท่นเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย นับว่าเป็นเบอร์ 1 ในวงการนี้อย่างแท้จริง