เมื่อ GET หนีวงล้อม Food Delivery แข่งดุ แล้วทำไม “Street Food” ถึงเป็นสเต็ปแรก สร้างยอดสั่งซื้อ

เมื่อ 3 เดือนก่อนในสงคราม Food Delivery อันร้อนแรง ได้มีน้องใหม่เกิดขึ้นมาท่ามกลางวงล้อมของพี่ๆ ผู้มาก่อน ทั้ง Grab Food – LINE MAN – Foodpanda ซึ่งน้องใหม่ที่ว่านี้คือ “GET”

วงษ์ทิพพา วิเศษเกษม Food Business Director กล่าวกับ Positioning ว่าการเข้ามา GET ไม่ได้ตั้งใจมาแข่งกับรายอื่นๆ แต่มองว่าการเข้ามาทำให้ตลาดคึกคักมากขึ้น เนื่องจากเข้ามาสร้าง Awareness ให้กับผู้บริโภคและทางเลือกที่มากขึ้น อีกทั้งยังไม่มีรายใหญ่ที่กินตลาดออฟไลน์มากที่สุด

ข้อมูลจากยูโรมอเตอร์ระบุว่า ตลาดออฟไลน์ซึ่งหมายถึงการเดินเข้าไปกินที่ร้านหรือซื้อกลับบ้าน ยังคิดเป็นสัดส่วน 80% มีค่าใช้จ่ายราว 5-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้งหรือราว 150 – 180 บาท ในขณะที่เหลือมาจากออฟไลน์ทั้งคอลเซ็นเตอร์และแฟลตฟอร์ม O2O (Online to Offline) จึงยังมีโอกาสอีกมากสำหรับ GET โดยที่ไม่ต้องเข้าไปแข่งกับคนอื่นๆ

ตั้งแต่เปิดมายอดการสั่งซื้อเติบโตแล้ว 980% ถ้าในเชิงผู้ใช้บริการเติบโต 230% ยอด Downloads 650,000 ครั้ง มีร้านอาหารในระบบมากกว่า 20,000 ร้าน คนขับมากกว่า 10,000 คน มีผู้ใช้ประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ถึง 70% หลักๆ อายุ 18 – 40% เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนิดหน่อย

จากตัวเลขดังกล่าว GET เชื่อมั่นว่าวันนี้ตัวเองเป็น 1 ใน 3 Food Delivery ที่คนกรุงเทพฯ ชอบใช้ โดยเฉพาะอาหาร Street Food ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ 1 เพราะผู้ใช้บริการเทความสนใจและสั่งซื้อจำนวนมาก

ความมั่นใจนี้มาจากข้อมูลในระบบของ GET ที่พบว่ายอดจากสั่งซื้อ 45% มาจาก “Street Food” ซึ่งคิดเป็น 70% ของจำนวนร้านค้าทั้งหมดในระบบ อีกทั้งที่ผ่านมาจากรีเสิร์ชพบพฤติกรรมของผู้บริโภคบางครั้งยังไม่รู้จะกินอะไร หรือมีเมนูที่อยากกินแต่ไม่รู้จักร้าน

GET จึงอุดช่องนี้ด้วยการเน้นรูปและนำเสนออาหารที่เป็น Street Food ให้ผู้บริโภคได้เห็น โดยเมนูเด่นได้แก่ข้าวหมูทอด มียอดการสั่งซื้อกว่า 16,000 ครั้งในเดือนที่ผ่านมา

รองลงมา 40% เป็นเครื่องดื่มเมนูเด่นที่เดาได้ไม่ยากคือชาไข่มุกเดือนที่ผ่านมายอดการส่งเครื่องดื่ม 300,000 แก้ว ในจำนวนนั้นเป็นชาไข่มุกกว่า 80,000 แก้ว GET เคยพบมากที่สุดสั่งพร้อมกัน 4,000 ออเดอร์ใน 1 ชั่วโมง คนที่กินคือผู้หญิงอายุ 15 – 40 ปี ส่วนใหญ่จะสั่งในวันหยุด

ที่เหลืออีก 15% มาจากร้านดัง เช่น เฮียอ้วนหมูปิ้ง ขนมปังเตาถ่านเยาราชเท็กซัส ชิคเก้น เป็นต้น แต่ถ้ารวมๆ 6 อันดับเมนูยอดนิยมได้แก่ 1. ชานมไข่มุก 2.ข้าวหมูทอด 3.โจ๊ก 4. ขนมปัง (ไส้เนยนมจากขนมปังเยาวราช) 5.โกโก้ และ 6.ข้าวมันไก่

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา วงษ์ทิพพา บอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย ซึ่งความสำเร็จมาจาก 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.Localization ที่มีเทคโนโลยีเรื่อง Search ที่ไม่ได้ค้นหาแค่ร้านแต่สามารถค้นหาเมนูแล้วโชว์ร้านที่มีขายได้

2.ฟีเจอร์ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามา Re-Order ผู้บริโภคบางคนชอบความเร็ว ชอบสั่งเมนูเดิมร้านเดิม ฟีเจอร์นี้จะทำให้สามารถสั่งได้ทันที

3.การออกโปรโมชั่น Flash deals ได้รับผลการตอบที่ดีเพราะเป็นโปรที่เข้าใจง่าย ทั้งส่วนลด 50% หรือซื้อ 1 แถม 1 โดยราคาอาหารจะตรงกับหน้าร้านไม่มีบวกเพิ่ม ส่วนค่าส่งหากอยู่ในโปรจะมีส่งฟรี 5 กิโลแรก หากช่วงเวลาปรกติคิด 10 บาท ช่วง 5 กิโมเมตรแรก ส่วนที่เหลือคิด 10 บาท/กิโลเมตร ไม่ได้กำกัดระยะเวลาส่ง

การทำโปรฯ นี้นอกจากช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านค้าแล้ว GET ยังได้ทดลองเพิ่มความถี่ในช่วงเวลากลางวัน จากปรกติที่การสั่งจะเน้นในช่วงเที่ยงและเย็น ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเลือก Food Delivery จากความหลากหลายของร้านอาหาร ราคาค่าส่งและค่าอาหาร สุดท้ายระยะทางเพราะมีผลต่อความหิว

สเต็ปต่อไปของ GET ต้องขยายตลาดทั้งพื้นที่ให้บริการ ร้านค้า ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่พร้อมจะทำ Food Delivery มีจำนวนกว่า 40,000 – 60,000 ร้าน คนขับ และผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานออฟไลน์ที่ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่การสั่งอาหารของออนไลน์

GET คาดหวังที่จะเข้าไปกินสัดส่วน 5% ก็พอใจแล้วในปีนี้ แต่ที่มากกว่านั้นคือ GET ต้องขยายจำนวนทีมงานเสียก่อน เพราะ 90 คนที่มีในปัจจุบันไม่เพียงพอเสียแล้ว

จะว่าไปการเลือกเจาะ Street Food ก็มีที่มา เพราะคู่แข่งในตลาด LINE MAN ก็มีการจับกับวงใน เว็บไซต์และแอปแนะนำร้านอาหารรายใหญ่ ทำให้มีร้านอาหารชื่อดังอยู่ในมือจำนวนมาก ส่วน Grab Food ก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องของแบรนด์เป็นที่รู้จัก

ยิ่งหลังควบรวม UberEats เข้ามา ทำให้มีฐานร้านอาหาร คนขับขี่ ลูกค้าเป็นทุนเดิม บวกกับการเดินเกมรุก ทำโปรโมชั่น ร่วมมือกับเพจเรื่องกินเรื่องใหญ่ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และยังมีพรีเซ็นเตอร์อย่าง BNK48 ในการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่

อีกทั้งช่วงหลัง Grab เร่งเพิ่มร้านค้า และผู้ส่งอาหาร เพื่อทำยอด โดยทำยอดสั่งซื้อในช่วง 4 เดือนแรกในปีนี้ ถึง 4 ล้านออเดอร์ ทำให้ Get จึงต้องเลือกจับมือกับ “Street Food ร้านอาหารรายย่อยริมทางแทนที่จะเป็นร้านดัง ที่ยังพอมีช่องว่างและแก้โจทย์ที่เป็นจุดอ่อนของตลาด

สำหรับ Get ถึงจะมีผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเป็นคนไทยทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วมี Go-Jek (โกเจ็ก) หนึ่งในเทคยูนิคอร์นที่น่าจับตามองในแถบเอเชียจากอินโดนีเซีย แถมมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกมากมาย ทั้งกูเกิล เทนเซ็นต์ และเหม่ยถวนเตี้ยนผิง ร่วมลงทุนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและ Know-how ในด้านเทคโนโลยี

ปัจจุบันมี 3 บริการหลักซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนการใช้งาน ได้แก่ GET FOOD 57%, GET WIN 37% และ GET DELIVERY 6%