เทรนด์แรง! อาวุธดิจิทัลเจาะตลาดจีน “อินฟลูเอนเซอร์ x โซเชียลคอมเมิร์ซ” สร้างกระแสปั้นยอดขาย

กำลังซื้อชาวจีนวันนี้ต้องบอกว่ามหาศาล จากจำนวนประชากร 1,420 ล้านคน เป็นตลาดที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 829 ล้านคน ผ่านมือถือ 98.6% หากต้องการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนเครื่องมือ” ที่ต้องมีหนีไม่พ้นดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง

ประเทศจีนมีสื่อออนไลน์ใช้งานเป็นของตัวเอง อันดับ 1 WeChat จำนวนผู้ใช้ 1,040 ล้านราย มีฟีเจอร์หลากหลายทั้งส่งข้อความ Video Call แล้ว WeChat ส่งสติกเกอร์, Official Account และโพสต์ Moments บนไทม์ไลน์ อันดับ 2 Weibo ผู้ใช้ 337 ล้านราย Weibo แอปเดียวใช้งานได้เหมือนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไอจี เช่นกัน Baidu เป็นเสิร์ชเอนจินอันดับ 1 ของ จีน ที่กำลังมาแรง Redbook ผู้ใช้กว่า 100 ล้านคน เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์กลุ่มบิวตี้และแฟชั่น

หากเปรียบเทียบการใช้งานใน 1 นาที ของแพลตฟอร์มออนไลน์จีน Weibo มีการโพสต์ 1.6 ล้านครั้ง ส่งข้อความผ่าน QQ 11 ล้านข้อความ  มีการเสิร์ชผ่าน Baidu 4.1 ล้านครั้ง ขณะที่ใน 1 นาที Google มีการเสิร์ช 3.5 ล้านครั้ง และโพสต์ข้อความ Twitter 4 แสนข้อความ

2 เครื่องมือดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งมาแรง

ชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในจีน ในเครือวายดีเอ็ม ไทยแลนด์ กล่าวว่าปี 2019 เครื่องมือการตลาดดิจิทัลที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญในจีน คือ Influencers Marketing และ Social Commerce

ข้อมูลของฟรอสต์และซูลิแวน ระบุว่ายอดขายที่เกิดจาก Influencer ชาวจีน สูงถึง 32.9 พันล้านหยวน หรือ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017 และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 ปีจากนี้ หรือมีอัตราการเติบโตแบบสะสม 40.4%

แฟนคลับที่ติดตาม Influencer สัดส่วน 80% เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 23-38 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในประเทศจีน ทำให้ Influencers Marketing เป็นกลยุทธ์สำคัญในตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันมี อินฟลูเอนเซอร์ 2-3 ล้านคน

ชฎากร ธนสุวรรณเกษม

 

พลัง “อินฟลูเอนเซอร์” ดันยอดขาย

การทำตลาดของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ในจีน “อินฟลูเอนเซอร์” ได้เข้ามีบทบาทสำคัญกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์ระดับท็อป ที่มีผู้ติดตามหลัก 10-100 ล้านคน  แต่ค่าจ้างโพสต์ก็พุ่งสูงตามไปด้วย

ตัวอย่าง ซูเปอร์สตาร์หญิงเบอร์ 1 ของจีน “ฟ่าน ปิงปิง” มีผู้ติดตามบน Weibo 62 ล้านคน (มิ.ย.2019) ได้สร้างสถิติค่าจ้างโพสต์ผลิตภัณฑ์มาสก์หน้า ไว้สูงถึง 40 ล้านบาทต่อโพสต์ แต่ก็ต้องบอกว่าคุ้มค่าจ้าง เพราะสินค้าขายเกลี้ยงทุกช่องทางขายเช่นกัน แต่หากเป็นสายอินฟลูเอนเซอร์โดยตรง ไม่ได้มีพื้นฐานจากดารา นักแสดง หรือคนดังมาก่อนหากมีผู้ติดตามหลักหลายสิบล้านคน ราคาค่าจ้างโพสต์สูงแตะหลัก 10 ล้านบาท

อีกตัวอย่างของพลังอินฟลูเอนเซอร์ในตลาดจีน Becky Li ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่น เขียนบล็อกเทรนด์แฟชั่นว่า “สีฟ้า” กำลังจะมา จากนั้นรถยนต์ MINI ก็ออกรุ่นลิมิเต็ดสีฟ้ามาทำตลาด 100 คัน ถูกจองซื้อหมดภายใน 5 นาที

ปัจจุบันดารา นักแสดง นักร้องไทย ได้รับความนิยมจากแฟนคลับในจีนหลายคน หากมีผู้ติดตามบน Weibo หลัก 10 ล้านคนขึ้นไป ราคาค่าจ้างต่อโพสต์จะอยู่ที่ 1 ล้านบาท

กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ในจีนที่มีจำนวน 2-3 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ สายบิวตี้  30% แฟชั่น 15% อาหาร ขนม เครื่องดื่ม 10% ที่เหลือมีอีกหลาย Categories เช่น การเงิน รถยนต์ ท่องเที่ยว

กลยุทธ์การใช้อินฟลูเอนเซอร์ในจีน ไม่ได้มองเพียงจำนวนผู้ติดตามเท่านั้น แต่ต้องเลือกให้เหมาะกับกลยุทธ์การทำตลาดและคอนเทนต์ที่สินค้าและแบรนด์นำเสนอ รวมทั้ง Engagement ต้องอยู่ในระดับดี มีความใส่ใจในการตอบคอมเมนต์และพูดคุยกับแฟนคลับ

ต่อยอดจบการขายที่ “โซเชียล คอมเมิร์ซ”

หลังจากสร้างการรับรู้ผ่านอินฟลูเอนเซอร์มาแล้ว สิ่งที่สินค้าและแบรนด์ต่างๆ ควรต่อยอด คือ Social Commerce ซึ่งเป็นการตลาดที่ผสมผสานระหว่าง Social media และ e-commerce เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับ “สินค้า” และปิดยอดขาย ปัจจุบันโมบายแอปต่างๆ จะมีระบบโซเชียล คอมเมิร์ซ ให้ใช้งานอยู่แล้ว

เทรนด์การตลาดโซเชียล คอมเมิร์ซ ปัจจุบันยังถูกขับเคลื่อนผ่านแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา ร่วมมือกับ Weibo ส่วน WeChat ก็เป็นพันธมิตร กับ JD.com ในการสร้างระบบโฆษณาที่ตอบโจทย์ความสนใจของผู้บริโภครายบุคคล จากการวิเคราะห์ประวัติการซื้อบนอีคอมเมิร์ซ เพจที่ผู้บริโภคติดตามบนโซเชียลมีเดีย

ส่วนคอนเทนต์ที่มาแรกในจีน คือ Video ชาวจีนใช้เวลาดูวิดีโอเพิ่มขึ้น 7% ในปี 2018 ปีนี้เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาบทบาทสำคัญในการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งในประเทศจีน ผ่านการทำงาน IoT

จากกำลังซื้อมหาศาลของชาวจีน นอกจากเมืองหลัก ได้ขยายตัวสู่เมืองรอง Tier 4 Tier 5 ที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก ปัจจุบันจีนเป็นตลาดหลักอันดับ 1 ในการส่งออกสินค้าไทย ด้วยมูลค่า 9.6 แสนล้านบาท จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดจีน ผ่านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งต่างๆ ปัจจุบันสินค้าจากเมืองไทยที่ขายดีที่สุดบน Tmall ได้แก่ สกินแคร์ เครื่องสำอาง ผลไม้อบแห้ง ขนม ข้าว มีอัตราการซื้อขาย 2 ล้านครั้ง/เดือน

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวปีละ 150 ล้านคน เดินทางมาไทยปีที่ผ่านมา 10.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8-10% ต่อปี เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่ม FIT ที่มีการจับจ่ายสูง ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวนอกประเทศอันดับ 1 ของคนจีน จึงถือเป็นอีกตลาดของสินค้าไทยในการทำตลาดเจาะนักท่องเที่ยวจีนได้.