ตำมั่ว X วีคอร์น อยากโตต้องควงกันแตกไลน์

การเติบโตของธุรกิจยุคนี้การพึ่งแค่ตัวเองอย่างเดียวไม่เพียงพออีกแล้ว จำต้องใช้กลยุทย์ Collaboration กับธุรกิจอื่นๆ เพื่อร่วมกันสร้างแบรนด์ ยอดขาย และแลกฐานลูกค้าระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ยอดขายมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าที่ผ่านมา

อย่างเช่นวีคอร์น (V Corn) แบรนด์ข้าวโพดพร้อมทานและน้ำนมข้าวโพดที่ก่อตั้งมา 5 ปี และมีเจ้าของไม่ใช่ใครที่ไหนอภิรักษ์ โกษะโยธิน รั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเขาระบุว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมายอดขายเติบโตราว 5 – 10% เท่านั้น

ปีที่ผ่านมามียอดขาย 150 ล้านบาท สัดส่วน 95% ของรายได้มาจากกลุ่มข้าวโพดอันได้แก่ 50% มาจากข้าวโพดฝักและข้าวโพด 3 ท่อน, 30% ข้าวโพดถ้วยอบเนยและ 15% นมข้าวโพด ที่เหลือ 5% ของรายได้รวมเป็นกลุ่มผลไม้อื่นๆ

หลักๆ แล้วการเติบโตจะมาจากเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างเช่นปีนี้จะรีลอนช์ข้าวโพดถ้วยอบเนยเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ใช้พลาสติกช่วยลงและยังเตรียมสินค้าใหม่อีก 4 ชนิด แต่นั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ อภิรักษ์​” ตั้งเป้าเติบโต 20 – 25% ในปีนี้

สาเหตุที่ตั้งเป้าเติบโตกว่าเท่าตัวมาจากการจับมือร่วมกับตำมั่ว ร้านอาหารไทยอีสานในการพัฒนาสินค้าที่ทำจากข้าวโพด แม้ก่อนหน้านี้วีคอร์นจะ Collab กับซอสต๊อด” หรือ Made By TODD ต๊อดปิติภิรมย์ภักดีในการจำหน่ายวีคอร์นรสซอสต๊อด ใน 7-eleven 5,000 สาขา

แต่นั้นเป็นเพียงการสร้างกระแส เพราะมีระยะเวลาจำหน่ายเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ดีลกับ ตำมั่ว ใหญ่กว่านั้นมาก เพราะมีการพัฒนาสินค้าถึง 3 สเต็ปด้วยกัน

เริ่มแรกใช้ข้าวโพดของวีคอร์นเข้าไปเป็นวัตถุดิบของตำข้าวโพด ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยม Top 3 ของส้มตำที่สร้างรายได้กว่า 1 ใน 3 หรือราว 400 – 500 ล้านบาท จากรายได้รวมของตำมั่วในปีที่ผ่านมาซึ่งมียอดขาย 1,500 ล้านบาท

โดยจะเริ่มทยอยเปลี่ยนมาใช้ข้าวโพดของวีคอร์นไม่ใช่เปลี่ยนทีเดียวทั้งหมด เพราะยังติดเรื่องของการจัดส่ง นอกจากนี้ยังวางแผนพัฒนาสินค้าใหม่ร่วมกัน เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียวม่วง จะเริ่มขายที่เดอตํามั่วก่อน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ตํามั่วมีเมนูใหม่ๆ ไปดึงดูดฐานลูกค้าได้

ถัดมาจะร่วมกันพัฒนา ตำข้าวโพด ในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) โดยวางแผนจะเข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อภายในสิ้นปีนี้ โดยฝั่งวีคอร์นจะทำหน้าที่ผลิตในโรงงานของตัวเอง แต่ใช้สูตรของตำมั่ว ซึ่งนี่ยังเป็นครั้งแรกที่ตำมั่วจะขยายช่องทางไปในร้านสะดวกซื้อ

สเต็ปสุดท้ายซึ่งใหญ่ที่สุด คือ การทำแบรนด์ใหม่ “Crazy Corn” ในรูปแบบ Kiosk เพื่อข้าวโพดปิ้งและข้าวโพดถ้วยมาพร้อมท็อปปิ้ง เบื้องต้นได้ทดลองเปิดแล้ว 1 สาขาที่ตำมั่วสาขามาบุญครอง

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ทำเลของ Crazy Corn จะเน้นวางในปั๊มน้ำมันตรงหน้าร้านของทั้งตำมั่วและเขียง ซึ่งขณะนี้มีรวมกันประมาณ 30 สาขา ปัจจุบันตำมั่วมี 150 สาขา ส่วนเขียงมี 11 สาขา ตั้งเป้าเปิดใหม่อีก 120 สาขา

เดียวนี้คนไทยและนักท่องเที่ยวเดินทางมากยิ่งขึ้นและต้องแวะปั๊มน้ำมันอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้บริโภคมีเวลาจำกัด ตัวข้าวโพดเองก็กินง่ายจึงไม่ต้องใช้เวลามากในการซื้อ อีกอย่างการตั้งในปั๊มที่มีทราฟฟิกสูงจะช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ไปในตัว

ถึงสาขาแรกของ Crazy Corn จะทำเองก่อนแต่เป้าหมายหลักจริงๆ คือการขายแฟรนไชส์โดยจะเริ่มขายเดือนหน้าเป็นต้นไป ทั้งนี้ยังไม่ได้ระบุถึงราคาที่แน่ชัด แต่คาดว่าจะหลักหมื่น รวมไปถึงเป้าหมายทั้งหมดที่ต้องการเปิด.