ปฏิวัติค้าส่ง “แม็คโคร” ขนเทคโนโลยีใส่ “ดิจิทัล สโตร์” ตอบโจทย์ลูกค้า 4.0

ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวกในการซื้อสินค้าตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ไม่เฉพาะแต่ “ค้าปลีก” ที่มี “ผู้บริโภคทั่วไป” เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องปรับตัวเอง ผสานช่องทางขายแบบ “ออมนิ แชนแนล” ทั้งออฟไลน์ออนไลน์

แต่ใน “ธุรกิจค้าส่ง” ที่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ หรือ B2B รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป อย่าง “แม็คโคร” ก็หนีไม่พ้นกับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยเหมือนกัน

การปรับตัวของค้าส่งอายุ 30 ปี ไม่ใช่แค่การมีช่องทางจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์เท่านั้น แต่ได้เติม “อาวุธ” เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมประสิทธิภาพธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้าผู้ประกอบการ พร้อมปฏิวัติวงการค้าปลีก ด้วยการเปิดฟอร์แมตใหม่ “ดิจิทัล สโตร์” สาขาแรก ที่ลาดกระบัง พื้นที่รวม 6,700 ตารางเมตร มีพื้นที่ขาย 1,900 ตารางเมตร เงินลงทุนรวม 200 ล้านบาท เป็นงบลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 26 ล้านบาท

ใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์ลูกค้า B2B

ศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โจทย์สำคัญของการขยายสาขา “แม็คโคร ดิจิทัล สโตร์” คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่ม B2B ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการซื้อสินค้าและได้ของครบ เพราะที่ผ่านมาปัญหาหลักที่เป็น Pain Point ของลูกค้าแม็คโคร คือ มาซื้อสินค้าแล้วได้ของไม่ครบ

“ลูกค้า B2B มาเดินห้างด้วยพฤติกรรมเหมือนการมาทำงาน ต้องการความรวดเร็วในการซื้อของเพื่อกลับไปทำธุรกิจต่อ แต่ถ้าลูกค้าผู้บริโภคทั่วไป การเข้าห้างเป็นเหมือนการมาเดินช้อปปิ้ง มามองหาประสบการณ์เลือกซื้อสินค้า” 

การแก้โจทย์ธุรกิจของ “แม็คโคร” คือ การนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเสริมการให้บริการ โดยนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลเข้าเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการ การบริหารจัดการร้านค้า พนักงาน คู่ค้า และลูกค้าเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์การซื้อสินค้า ที่ได้ทั้งความรวดเร็วและสินค้าครบถ้วน 

ชู 32 เทคโนโลยีเสริมแกร่ง

เทคโนโลยีดิจิทัลที่ “แม็คโคร” นำเข้ามาเสริมการทำงานในสโตร์มีทั้งหมด 32 อุปกรณ์ ติดตั้งบริเวณก่อนเดินเข้าซื้อสินค้าในสาขา จนไปถึงขั้นตอนการชำระเงิน  

ด้านบริการลูกค้า ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้อง AI อัจฉริยะ ตรวจสอบปริมาณสินค้าบนชั้นวาง เพื่อเติมสต็อกได้ทันที ลดการสูญเสียโอกาสการขาย กำหนดเวลาตรวจสอบปริมาณสินค้าได้แบบเรียลไทม์และตั้งเวลา เริ่มติดตั้ง 25 ตัวในแผนกสินค้าที่ขายดี เช่น ไส้กรอก นม 

“เป็นเทคโนโลยีช่วยบริหารสต็อกสินค้าและบนชั้นวางจำหน่าย ช่วยแก้ปัญหาลูกค้ามาซื้อสินค้าแล้วได้ของไม่ครบ”

ขณะที่ปัญหาความล่าช้าจากการต่อคิวชำระเงิน ได้นำระบบ “คิว บัสเตอร์” (Queue Buster) เข้ามาบริการ โดยพนักงานที่ติดเครื่องหมาย Q Buster จะนำเครื่องสแกนเนอร์ประจำตัว ไปสแกนบาร์โค้ดสินค้าตั้งแต่คิวชำระเงิน พร้อมบันทึกหมายเลขบัตรสมาชิก เมื่อถึงคิวชำระเงินที่แคชเชียร์จะสแกนบัตรสมาชิกและจ่ายเงินได้ทันที ทั้งเงินสดและ QR Payment

ป้ายราคาอัจฉริยะ

ป้ายราคาอัจฉริยะ

การบริหารจัดการสาขา ใช้เทคโนโลยี ป้ายราคาอัจฉริยะ ESL (Electronic Shelf Label) ซึ่งทำงานร่วมกับกล้อง AI จากเดิมป้ายแสดงราคาเป็นรูปแบบกระดาษ แต่สาขาดิจิทัล สโตร์ เปลี่ยนเป็นป้ายกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ LED กว่า 8,000 ชิ้น แสดงราคาและเปลี่ยนแปลงราคาภายใน 40 วินาที จากเดิมต้องให้พนักงานเดินเปลี่ยนป้ายราคากว่า 1,000 จุด 

ป้ายอัจฉริยะยังเชื่อมโยงข้อมูลสินค้า รายละเอียด โปรโมชั่น ตำแหน่งการจัดวาง สต็อกสินค้า ช่วยลดปัญหาราคาไม่ถูกต้องและสินค้าไม่ตรงป้าย

ลดต้นทุนพลังงาน

หน้าจอ Eco-Friendly แสดงการใช้พลังงานในสาขา

สาขาดิจิทัล สโตร์ ได้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panel) 800 ตารางเมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้งานได้ 35% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ช่วยลดค่าไฟฟ้าเดือนละกว่า 5 แสนบาท สำหรับสาขาขนาดพื้นที่ 1,900 ตารางเมตร ระบบทำความเย็นอัจฉริยะ หลอดไฟ LED รุ่นใหม่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 50%

ระบบม่านควบคุมความเย็น
ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และจุดชาร์ตไฟสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

พร้อมติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจัดส่งสินค้า ชาร์จไฟฟ้า 1 คืน วิ่งได้ระยะทาง 100 กิโลเมตร ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าลดลงเหลือกิโลเมตรละ 40 สตางค์ สามารถจัดส่งสินค้าได้ภายใน 1 วัน (Same Day) จากจัดส่งสินค้าวันถัดไป 

สื่อโฆษณาภายในสาขา

นอกจากนี้ยังเป็นสโตร์ที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัล ลดปริมาณสื่อโฆษณากระดาษที่ใช้มากว่า 30 ปี ทำให้การเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นต่างๆ ทำได้ภายใน 30 วินาที จากเดิมกระดาษใช้เวลา 14 วัน และใช้ระบบคิวอาร์โค้ด สแกนรับข้อมูลโปรโมชั่นแบบรายบุคคล

“รูปแบบดิจิทัล สโตร์ ช่วยตอบโจทย์ด้านบริการให้กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพกการบริหารจัดการ โอกาสทำยอดขายเพิ่มขึ้น 5% เทียบสาขาปกติ และทำให้แม็คโครยังคงเป็นลีดเดอร์ในธุรกิจค้าส่ง”

แม็คโครคลิ๊ก
เครื่องคิดเงินสองหน้าจอ (Double Screen Cashier)