สนามป้องกันแผ่นดินไหว-รถพลังงานไฮโดรเจน-เหรียญรางวัลรีไซเคิล นวัตกรรมแบบฉบับ “ญี่ปุ่น” ตอนรับ “โตเกียว เกมส์ 2020”

ญี่ปุ่นเริ่มต้นนับถอยหลัง 1 ปีสู่โอลิมปิก 2020 หลังได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โดยการแข่งขันจะมีขึ้นวันที่ 24 กรกฏาคม – 9 สิงหาคม ปีหน้า นอกจากการเตรียมงานทั้งโรงแรม สนามแข่งขัน สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับเจ้าหน้าที่ นักกีฬา และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอันเป็นสิ่งที่ชาติเจ้าภาพต้องทำอยู่แล้ว ยังมีเรื่องเทคโนโลยีล้ำสมัยที่พวกเขาเตรียมนำมาใช้ในการแข่งขันหนนี้ ก่อนต่อยอดไปสู่นวัตกรรมเปลี่ยนโลกในอนาคต

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ญี่ปุ่น คือผู้นำด้านเทคโนโลยีและผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อยู่เสมอ ดังนั้นการแข่งขันกีฬาห้าห่วง สื่อและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกย่อมคาดหวังว่าจะได้พบกับความไฮเทคต่างๆ ไว้ต้อนรับเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมกีฬา ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาได้จัดเตรียมไว้รอผู้มาเยือนทั่วโลกแล้วทั้งเรื่องของ รถบินได้ หุ่นยนต์ สนามกีฬาความปลอดภัยสูง และอื่นๆ ที่สรรหามาฝากกัน

รถบินได้

รถบินได้ไว้โชว์ในพิธีเปิด

สิ่งหนึ่งที่ถูกเก็บเป็นความลับเสมอในพิธีเปิดการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นชาติใดเป็นเจ้าภาพ นั่นคือการจุดคบเพลิง เปิดฉากการแข่งขัน โอลิมปิก เพราะมันคือไฮไลต์ของงาน ที่ผ่านมา ชาติเจ้าภาพต่างๆ มักสรรหากลวิธีไอเดียจุดคบเพลิงสุดตระการตาให้แก่ผู้ชม แต่ญี่ปุ่นไอเดียกระฉูดกว่านั้นเมื่อพวกเขามีแผนจุดไฟแห่งโอลิมปิก ด้วยรถยนต์บินได้แบบที่เคยเห็นกันในการ์ตูนทีวีวัยเด็ก

รายงานระบุว่า โตโยต้า แบรนด์รถยนต์ชื่อดังของประเทศ ร่วมมือกับทีมพัฒนาในค่าย สุมหัวสร้างรถยนต์พิเศษที่สามารถขับขี่บนอากาศ โดยทดลองกันมาตั้งแต่ปี 2017 แบบที่เป็นเฉพาะตัวโครงรถ ซึ่งหากการทดลองสัมฤทธิ์ผล 100% ก็จะผลิตออกมาเป็นรถคันที่สมบูรณ์แบบ มีหลังคา มีประตู มีล้อเหมือนปกติ ส่วนการจุดคบเพลิงก็จะให้นักกีฬาเป็นผู้ขับรถลอยขึ้นไปก่อนจุดไฟเปิดฉากอย่างอลังการงานสร้างและมีเสียงฮือฮาตามมาแน่

สนามป้องกันแผ่นดินไหว

สนามกีฬาป้องกันแผ่นดินไหว

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่โชคร้ายเพราะมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สำหรับผู้มาเยือนช่วง โอลิมปิก 2020 สามารถอุ่นใจได้หากอยู่ในสนามกีฬาที่มีความปลอดภัยระดับสูงและป้องกันภัยธรรมชาติได้

สำหรับสนามแข่งขัน โอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว มีการเปิดเผยว่าผู้สร้างสนามแข่งขันโดยเฉพาะสนาม โตเกียว อควอติก เซ็นเตอร์ (ว่ายน้ำ), อาเรียเกะ อารีนา (วอลเลย์บอล) และสนามกีฬาแห่งชาติ สังเวียนเปิดการแข่งขัน ไดัรับการก่อสร้างอย่างมีมาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้นคือได้ บริดจ์สโตน ผู้ผลิตยางรถยนต์ชื่อดัง มีการทำตลับลูกปืนแบบพิเศษซึ่งติดตั้งอยู่ใต้หลังคา ทนต่อการสั่นสะเทือนยามเกิดแผ่นดินไหว

ขณะที่ตัวอาคารของสนามกีฬาแห่งชาติ ขนาด 60,000 ที่นั่ง ออกแบบโดย เคนโกะ คุมะ สถาปนิกชั้นแนวหน้าของประเทศ งบประมาณการสร้าง 1,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 38,530 ล้านบาท) มีโครงสร้างหลักเป็นไม้ ซึ่งปัจจุบันสร้างเสร็จไปแล้ว 90% คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

และเปิดตัวอย่างเป็นทางการ วันที่ 21 ธันวาคม ขณะเดียวกัน ยังมีตัวช่วยเพิ่มความเย็นอย่างพัดลมและเครื่องสร้างไอหมอก ติดกระจายอยู่ทั่วสนาม 185 จุด ทำให้ผู้ชมดูกีฬาได้อย่างผ่อนคลายแม้จะจัดแข่งกันในช่วงหน้าร้อนซึ่งอุณหภูมิมีแนวโน้มสูงถึง 31 องศา

รถพลังงานไฮโดรเจน

รถบัสใช้พลังงานสะอาดแทนน้ำมัน

ญี่ปุ่น มีตัวเลือกมากมายสำหรับการสัญจรไปมาในประเทศ ทั้งรถไฟ รถบัส รถรับจ้างที่ใช้กันแพร่หลาย โอลิมปิก 2020 พวกเขาก็เตรียมรถบัสไว้สำหรับรับส่งนักท่องเที่ยวจากโรงแรมไปสถานที่ต่างๆ เช่นกัน

แต่ความแตกต่างคือรถบริการเหล่านี้ใช้พลังงานไฮโดรเจนแทนน้ำมันซึ่งมีการรับรองว่าเป็นพลังงานสะอาด และมีการทดลองใช้กับกิจกรรมต่างๆ มาแล้วอย่างคอนเสิร์ตของศิลปินดังหลายวง ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนแทนไฟฟ้า

สำหรับรถที่มีให้เลือกใช้คือรถกอล์ฟที่มีขนาดเท่ารถตู้ ผลิตโดย โตโยต้า เจ้าเก่า และยังมีรถสำหรับผู้พิการและรถบัสขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ใช้ทั้งหมดกว่า 100 คัน

หุ่นยนต์อำนวยความสะดวก

หุ่นยนต์ช่วยชาวต่างชาติ

ญี่ปุ่น กับหุ่นยนต์ คือสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอไม่ว่ายุคสมัยใด โดยในโอลิมปิก 2020 แม้ทางรัฐบาลจะมอบหมายให้เหล่าอาสาสมัครจากทั่วประเทศ (และทั่วโลกที่สนใจ) เข้ามาทำงานใหญ่นี้ แต่การจะดูแลผู้มาเยือนหลายแสนคนตลอด 2 สัปดาห์ของการแข่งขันคงไม่ทั่วถึงและเพียงพอแน่ๆ และการผลิตหุ่นยนต์มาช่วยงานก็เป็นไอเดียที่ดี

ปัจจุบัน บริษัทผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น ร่วมมือกันสร้างหุ่นยนต์อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวติดตั้งไว้หลายแห่ง ที่โด่งดังคือ อาริสะ (Arisa) หุ่นยนต์สาวขนาด 6 ฟุต ซึ่งประจำการอยู่ที่สถานีรถไฟ อุเอโนะโอกาชิมาจิ คอยให้ข้อมูลการเดินทาง ห้องน้ำ และสถานที่ต่างๆ ชาวต่างชาติต้องชอบมากๆ เพราะเธอพูดได้ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี และจีน ไม่มีงงแน่นอน

ส่วนสนามกีฬาแห่งชาติ ก็วางแผนจะนำหุ่นยนต์มาใช้ดูแลผู้มาเยือนทั้งการช่วยหาที่นั่งแก่ผู้ชม แทนที่ชาวญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ช่วยเสิร์ฟอาหาร รับออเดอร์ และข้อมูลรายละเอียด การแจ้งเตือนภัย ฯลฯ

เหรียญรางวัลรีไซเคิล

เหรียญรางวัล รีไซเคิลจากขยะอีเล็กทรอนิก

ไม่เพียงแค่เรื่องเทคโนโลยี ญี่ปุ่น ยังใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเหรียญรางวัลที่พวกเขาเตรียมไว้สำหรับผู้ชนะการแข่งขันโอลิมปิก มีที่มาจากการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาผลิตเป็นเหรียญรางวัลอันทรงเกียรติ

เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงสำหรับ โอลิมปิก 2020 ทั้งหมดกว่า 5,000 ชิ้น เกิดขึ้นจากการนำขยะอีเล็กทรอนิกที่ไม่ใช้หรือหมดสภาพแล้วเช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ฯลฯ รวมทั้งหมด 78,985 ตัน

จากการรับบริจาคของประชาชน อุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็น ทอง เงิน ทองแดงอยู่ข้างในแล้ว ดังนั้นการนำมาสกัดเป็นเหรียญจึงไม่ใช่เรื่องยาก และเหรียญจริงที่ออกมาก็สวยงามชนิดแม้แต่คนที่ไม่ใช่นักกีฬาก็ยังอยากได้.

Source