คอนเฟิร์มไม่ปลดคน! “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ควบรวมทรัพย์สิน 2 ล้านล้าน ฐานลูกค้า 10 ล้านคน กลางปี 64 เหลือแบงก์เดียว

ประกาศปิดดีลควบรวมกิจการของ 2 ธนาคารทีเอ็มบีและธนชาตเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ในกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดในประเทศไทยรวมมูลค่าทรัพย์สินทั้ง 2 แบงก์มูลค่า 2 ล้านล้าน ขึ้นอันดับ 6 ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

มาดูรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของดีลควบรวม 2 ธนาคาร “ทหารไทย (TMB) และ ธนชาต”

โครงสร้างถือหุ้นใหม่

สำหรับสัดส่วนผู้ถือหุ้น ของทั้ง 2 ธนาคารปัจจุบัน ธนชาต ถือหุ้นโดย บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) 51.01% สโกเทียแบงก์ (BNS) 48.99% ส่วน ทีเอ็มบี ถือหุ้นโดย กระทรวงการคลัง 25.92% ING 25.02% อื่นๆ 49.06%

เมื่อรวมกิจการ 2 ธนาคาร “ทีเอ็มบีธนชาต” สัดส่วนการถือหุ้นใหม่ ING 21.3% ทุนธนชาต 20.4% กระทรวงการคลัง 18.4% สโกเทียแบงก์ (BNS) 5.6% ผู้ถือหุ้นรายย่อย 34.3%

มูลค่าทรัพย์สิน 2 ล้านล้าน

ศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร ทุนธนชาต (TCAP) กล่าวว่าการรวมกิจการของ 2 แบงก์เป็นความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อควบรวมแล้วจะเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่จากเดิมขึ้น “เท่าตัว” มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท

รวมฐานลูกค้า 2 ธนาคาร 10 ล้านคน มีความทับซ้อนกันไม่ถึง 10% มีความเชี่ยวชาญคนละด้าน “ธนชาต” เก่งเรื่องปล่อยสินเชื่อรายย่อย ส่วน “ทีเอ็มบี” เก่งเรื่องหาเงินฝาก หลังจากรวมกันจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ผู้ถือหุ้นใหญ่ใส่เงินเท่าไหร่

จุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นทีเอ็มบี กล่าวว่ากระทรวงการคลัง จะลงทุนเพิ่มราว 11,000 ล้านบาท ในธนาคาร “ทีเอ็มบีธนชาต” อีกทั้งมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มเติมจากการจัดสรรสิทธิที่พึงมีในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายเดิมไม่ใช้สิทธิเต็มจำนวนเพื่อคงสถานะในผู้ถือหุ้นหลัก

ส่วน ING ผู้ถือหุ้นทีเอ็มบี จะลงทุนเพิ่มอีก 12,500 ล้านบาท ในธนาคารใหม่ทีเอ็มบีธนชาต วางเป้าหมายเป็น

ในฝั่งของทุนธนาชาต (TCAP) จะได้รับเงินสดจากการขายหุ้นธนาคารธนชาตและบริษัทลูก 80,000 ล้านบาท โดยจะนำเงินไปปรับโครงสร้างธุรกิจ 14,000 ล้านบาท และจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีเอ็ม จำนวน 44,000 ล้านบาท และซื้อหุ้นของบริษัทย่อยและเงินลงทุนอื่นๆ จากสโกเทียแบงก์ จำนวน 12,000 ล้านบาท

คาดว่า TCAP จะมีเงินสดเหลือจากทำธุรกรรมต่างๆ เหล่านี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ลงทุนส่วนอื่นๆ ต่อไป

กลางปี 2564 เหลือแบงก์เดียว

ในส่วนของทีเอ็มบี ที่จะต้องดำเนินการภายหลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างทีเอ็มบี ทุนธนชาต และสโกเทียแบงก์ สำเร็จ รวมทั้ง TCAP และธนาคารธนชาต ปรับโครงสร้างแล้วเสร็จ ขั้นตอนสำคัญคือ เดือน ก.ย. ทีเอ็มบีจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติรายการที่เกี่ยวข้องกับการรวมกิจการ รวมถึงการเพิ่มทุนในการจัดหาเงินทุนเข้าเสนอซื้อหุ้นสามัญของธนาคารธนชาตจากผู้ถือหุ้นทุกราย

ทีเอ็มบี จะจัดหาเงินทุนรวม 130,000 ล้านบาท ส่วนแรกจากการออกหุ้นเพิ่มทุน (Equity Fund Raising) คาดว่าจะระดมทุนจากการออกหุ้นเพิ่มจำนวน 42,500 ล้านบาท ส่วนที่สองเป็นการออกและเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ บุคคลภายนอก จำนวน 6,400 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารธนชาตทุกราย จำนวน 57,600 ล้านบาท คาดว่ากระบวนการแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2562

โดยการควบรวม 2 ธนาคาร ให้เหลือ “แบงก์เดียว” คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในกลางปี 2564 โดยระหว่างนี้ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารยังสามารถใช้บริการทั้ง 2 แห่งได้ตามปกติ

สำหรับชื่อของธนาคารใหม่จากการควบรวม “ทีเอ็มบีธนชาต” ยังไม่สรุป แต่จะเป็นชื่อที่ผสมทั้ง 2 แบรนด์ที่ลูกค้ารู้จักอยู่แล้วเข้าด้วยกัน

คอนเฟิร์มไม่ปลดพนักงาน 19,000 คน

ปัจจุบันธนาคารทีเอ็มบีและธนชาต มีสาขารวมกัน 900 สาขา มีพนักงานรวมกัน 19,000 คน

ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต ยืนยันว่า จะไม่มีการปลดพนักงานของทั้ง 2 ธนาคาร เพราะต้องรองรับฐานลูกค้า 10 ล้านคน หากเปรียบเทียบกับไซส์ของธนาคารที่มีลูกค้า 10 ล้านคน “ทีเอ็มบีธนชาต” มีบุคลากรน้อยกว่า 20 – 30% ถือเป็นองค์กรที่ Lean อยู่แล้ว

การควบรวมจะมีการลดสาขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันบ้างส่วน และต้นทุนด้านไอที การทำตลาดและโฆษณา