จับตา “ชาไข่มุกเอฟเฟกต์” ในญี่ปุ่น หวั่นส่อเค้าเศรษฐกิจหด ซื้อกลับบ้านทำขยะล้นเมือง

Tokyo, Japan - April 1, 2018: Shinjuku street with people in evening waiting in line queue for bubble tea in Kitashinjuku residential neighborhood

นักวิเคราะห์ญี่ปุ่นเตือนธุรกิจชาไข่มุกสุดฮิตส่งผลกระทบกับสังคมหลายด้าน แม้จะทำให้สาวกชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ธุรกิจนี้สร้างปัญหาเรื่องขยะให้กับย่านฮาราจูกุในโตเกียวอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ผลจากการซื้อชาไข่มุกไปดื่มนอกร้านแบบ takeaway ยังมีนักการเงินที่จุดประเด็นว่าการแห่ตั้งบูธขายชาไข่มุกอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสูงแต่มีราคาต้นทุนต่ำ

ประเด็นธุรกิจชาไข่มุกส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจระดับประเทศนั้นถูกสื่อญี่ปุ่นหยิบมารายงานต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักการเงินสังเกตเห็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับภาวะไข่มุกบูม” หรือ tapioca boom ที่สินค้ากลุ่มสาคูมันสำปะหลังเคยฮิตมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ จนถูกมองเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ โดยบอกว่าขณะนี้สังคมญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ยุคไข่มุกบูมเป็นรอบที่ 3 ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมา

ขณะที่รายงานจากสำนักข่าว japantimes ระบุว่าธุรกิจชาไข่มุกไม่เพียงส่อแววมีปัญหาฟองสบู่เท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาขยะล้นเมือง ทำให้น่าจับตาว่าเมื่อไรหนอที่เทรนด์ชาไข่มุกจะถึงช่วงขาลง เหมือนแฟชันเครื่องดื่มอื่นที่มาแล้วก็ไป 

ชาไข่มุก เทรนด์นี้ยังไม่ยอมไปไหน

โลกเคยเห็นเกมการตลาดในวงการเครื่องดื่มกลุ่มชาทั้งการชูสรรพคุณลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิต หรือบรรเทาอาการท้องผูก แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความต้องการในตลาดก็จะซาลง และยอดขายกลับมาคงที่ในที่สุด แต่สำหรับปี 2019 แฟชั่นชาหวานเย็นที่เป็นที่นิยมของคนไทยและหลายประเทศทั่วโลกนั้นยังเป็นดาวค้างฟ้า โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มียอดการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นถึง 142.6% ในปี 2017

ถ้าพูดถึงตัวผลิตภัณฑ์ ชานมไข่มุกไม่ได้เป็นสินค้าใหม่แต่เกิดขึ้นบนโลกธุรกิจแดนปลาดิบมานานกว่า 6 ปีแล้ว รายงานจาก Shukan Jitsuwa ยกให้แบรนด์ Chunshuitang ของไต้หวันเป็นผู้บุกเบิกเปิดสาขาแรกในย่าน Daikanyama ของโตเกียวในปี 2013 เมนูในร้านมีเครื่องดื่ม 44 รายการ หนึ่งในนั้นคือเครื่องดื่มชาอูหลงใส่นม เครื่องดื่มเม็ดมันสำปะหลังในชาดำใส่นมถั่วเหลือง และชานมรสมะม่วงที่จำหน่ายเฉพาะช่วงเวลาจำกัด

ธุรกิจชาไข่มุกทยอยเติบโตจนกระทั่งเห็นชัดมากในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการในตลาดชาไข่มุกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีสถิติการนำเข้ามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเป็น 2,928 ตัน คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าปีก่อนหน้าราว 142.6% ในปี 2017

ภาพจาก : facebook.com/thealleythailand

สำหรับญี่ปุ่น ตลาดชาไข่มุกได้รับอิทธิพลโดยตรงจากไต้หวัน ซึ่งทำให้แบรนด์ Chunshuitang, Goncha (2015) และ The Alley (2017) ขยายสาขาไปทั่วประเทศ ทำให้ย่านฮาราจูกุเป็นศูนย์รวมชาไข่มุกมากกว่า 20 แบรนด์ นำไปสู่ปัญหาขยะจากแก้วพลาสติกและหลอดที่เห็นชินตาตามท้องถนน

ความนิยมในชาไข่มุกยังทำให้เกิดคำใหม่ในภาษาญี่ปุ่นด้วย นั่นคือคำว่า tapista ซึ่งหมายถึงผู้ชงชาไข่มุก รวมถึงคำว่า tapiru ที่เป็นคำกริยาการชงชาไข่มุก แถมคนญี่ปุ่นยังตั้งคำสำหรับเป็นรูปอดีตกาลให้คำนี้ด้วย นั่นคือ tapitta

เฉพาะเมืองหลวงอย่างโตเกียว สถิติชี้ว่ามีร้านค้าจำหน่ายชาไข่มุกมากกว่า 300 ร้าน สำนักข่าว Weekly Playboy ประเมินว่าร้านชาไข่มุกจะถูกเปิดตัวราว 10 สาขาใหม่ต่อวันทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่นจะให้การตอบรับร้านสาขาใหม่ดีมาก เช่น ร้านชาไข่มุกแบรนด์หนึ่งที่เปิดใหม่ในนาโกย่า มีรายงานว่าลูกค้าเข้าคิวรอนานถึง 6 ชั่วโมงเพื่อซื้อเครื่องดื่ม

ในขณะเดียวกัน เครื่องดื่มชาไข่มุกก็ถูกเพิ่มเข้าไปในเมนูของเชนร้านอาหารใหญ่ เช่น Denny’s และ Jonathan’s รวมถึงร้านเบอร์เกอร์ Lotteria และ Freshness Burger แม้แต่ร้านขายซูชิสายพาน Kappa Sushi และร้านอาหารเอเชียอย่าง Thali-ya 

ทุนต่ำขายแพงทำลายเศรษฐกิจ

อีกประเด็นสำคัญเรื่องผลกระทบของชาไข่มุกต่อสังคมญี่ปุ่นคือเรื่องเศรษฐกิจ รายงานจาก Yukan Fuji อธิบายว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับมันสำปะหลังนั้นเคยบูมมาในญี่ปุ่นมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบไม่แพ้กัน 

รายงานระบุว่า tapioca boom ครั้งแรกในญี่ปุ่นเกิดขึ้นช่วงประมาณปี 1992 ซึ่งเป็นช่วงที่ขนมสาคูแป้งมันสำปะหลังในน้ำกะทิได้รับความนิยม ครั้งที่ 2 คือช่วงปี 2008 ที่แฟรนไชส์สไตล์ไต้หวันจำนวนมากเข้ามาเปิดให้บริการเครื่องดื่มชานมผสมเม็ดสาคู ความเฟื่องฟูนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าภาวะฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นล่มสลายในปี 1992 และวิกฤติ Lehman Shock ในปี 2008

นักการเงินญี่ปุ่นจึงประเมินว่าเวลานี้คือคลื่นลูกที่สามของยุค tapioca boom โดยแสดงความกังวลว่ากำไรจากราคาขายชาไข่มุกที่สูงแต่ตัวสินค้าราคาต่ำนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจประเทศถดถอย สถานการณ์นี้จะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นเมื่อธุรกิจลักษณะนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นคำทำนายว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจหดตัวอีกรอบหนึ่ง

ประเทศไทยฟังไว้บ้างเด้อ.

Source