Starbucks เริ่มแผนจัดการคนแนวใหม่ โฟกัสยกระดับสุขภาพจิตพนักงาน

Photo : Starbucks

แม้จะยังไม่มีการประกาศสวัสดิการใหม่เพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ แต่ Kevin Johnson ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Starbucks ส่งสัญญาณว่าบริษัทกำลังมีแผนเน้นดูแลสุขภาพจิตของพนักงานให้ครอบคลุมกว่าเดิม แม้จะเชื่อว่าเป็นแผนที่กำหนดเฉพาะในพนักงานสหรัฐฯ แต่ก็ถือเป็นแผนบริหารจัดการคนแนวใหม่ที่อาจมีแรงส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวงกว้าง บนเทรนด์แรงในวงการธุรกิจสุขภาพจิตที่กำลังบูมในสหรัฐฯ

การวางแผนปรับปรุงสวัสดิการด้านสุขภาพจิตของพนักงาน Starbucks ในสหรัฐฯ ถูกจับตาในฐานะเครื่องมือที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ในภาวะที่ตลาดแรงงานตึงตัวเช่นทุกวันนี้ คาดว่าภาวะนี้จะรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต

ในจดหมายถึงพนักงาน Starbucks เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Kevin Johnson ประกาศแผนนี้พร้อมกับสวัสดิการเพิ่มเติมอื่นที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน ซึ่งแผนทั้งหมดถูกประกาศในโอกาสที่ Starbucks เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่ในชิคาโก ท่ามกลางผู้จัดการสาขา 12,000 คนที่เข้าร่วม

พนักงานสุข บริษัทก็สุข

กลยุทธ์ล่าสุดเพื่อการบริหารคนของ Starbucks สะท้อนว่ายักษ์ใหญ่เงือกเขียวหวังจะสนับสนุนให้พนักงานใช้ประโยชน์จากแพ็คเกจดูแลสุขภาพจิตมากขึ้น ขณะเดียวกัน Starbucks ก็ต้องการ engage กับพนักงานเพื่อช่วยปรับแต่งแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ครั้งใหม่ตามความต้องการของพนักงาน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนเป้าหมายให้พนักงานมีความสุข ซึ่งความสุขนี้เองที่จะสำคัญมากกับธุรกิจของ Starbucks

ที่ผ่านมา Starbucks ไม่เรียกพนักงานว่าพนักงาน แต่จะเรียกพนักงานว่า “partner” จุดยืนที่เน้นเรื่อง Starbucks ให้ความสำคัญกับพนักงานแสดงว่า Starbucks เห็นความจริงที่ความสุขของพนักงานจะช่วยให้ Starbucks ดำเนินการตามแผนขยายธุรกิจแบบรุกหนัก ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ Starbucks ต้องเร่งจ้างงานอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกและร้านอาหาร

อีกสถิติที่ยืนยันว่ากลุ่มค้าปลีกและร้านอาหารอเมริกันกำลังขาดแคลนแรงงาน คืออัตราการว่างงานของสหรัฐฯ นั้นดำดิ่งในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ทำให้บริษัทห้างร้านต้องแข่งขันดึงแรงงานแบบไม่มีใครยอมใคร

CEO Starbucks ยอมรับว่านี่คือการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาเป็นพนักงานด้วยการเสนอสวัสดิการที่น่าสนใจและไม่เหมือนใคร โดยบอกว่ายิ่ง Starbucks ไตร่ตรองพัฒนาสวัสดิการที่มีความสำคัญต่อ “partner” มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้บริษัทดึงดูดพนักงานรายใหม่ได้มากขึ้น

พนักงานขอเอง

Kevin Johnson ให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่อย่าง CNN Business ว่าในปีที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่พนักงาน Starbucks เน้นย้ำ คือความต้องการโฟกัสเรื่องสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

การให้สวัสดิการด้านสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ Starbucks ที่ผ่านมา Starbucks เพิ่มส่วนสุขภาพจิตลงในประกันสุขภาพที่ Starbucks เน้นดูแลทั้งรูปแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ก่อนหน้านี้ พนักงาน Starbucks สามารถรับบริการปรึกษา 6 ครั้งกับนักจิตวิทยา ผ่านโครงการความช่วยเหลือพนักงาน Employee Assistance Program อยู่แล้ว

John Kelly รองประธานอาวุโสฝ่ายกิจการสาธารณะทั่วโลกและผลกระทบทางสังคมของ Starbucks เชื่อว่าข้อเสนอนี้ครอบคลุมมาก แต่พบว่ามีเพียง 4% ถึง 5% ของพนักงานที่ใช้งานสวัสดิการนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนให้พนักงานดูแลความเครียดหรือปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น Starbucks จึงมีแผนที่จะยกระดับสวัสดิการให้ตอบโจทย์พนักงานแบบเข้มข้นกว่านี้

ความเคลื่อนไหวเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพจิตของ Starbucks ยังเป็นสัญญาณชัดเจนว่าตลาดสหรัฐฯกำลังตื่นตัวกับธุรกิจสุขภาพจิตอย่างเห็นได้ชัด ก่อนหน้านี้ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่าง Walmart ประกาศเปิดบริการ Walmart Health เพื่อให้บริการจิตบำบัดในระดับราคาที่ผู้บริโภคเอื้อมถึง ซึ่ง Walmart ย้ำว่าเห็นแนวโน้มความต้องการของลูกค้าในท้องถิ่น โดยนอกจากบริการปรึกษาสุขภาพจิต Walmart Health จะเปิดให้บริการทั้งทันตกรรม แล็บตรวจวิเคราะห์ เอ็กซ์เรย์ บริการทดสอบการฟัง และอีกหลายบริการร่วมไปด้วย.