คอนเฟิร์ม! เม็ดเงินโฆษณาปี 62 “ไม่โต” MAAT ยก “ออนไลน์-สื่อนอกบ้าน” ยังแรงเหนือสื่อเก่า

เดิมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 มีลุ้นว่าจะเห็นตัวเลขเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน ด้วยมีปัจจัยการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ที่ปกติจะมีนโยบายใหม่มากระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้กลับมาคึกคัก ช่วงต้นปี วงการเอเยนซีจึงประเมินว่าโฆษณาคงเติบโตได้

ตัวเลขการใช้จ่ายงบโฆษณาที่รายงานโดย นีลเส็น ประเทศไทย ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค. – ส.ค.) ปีนี้ มีมูลค่ามูลค่า 68,823 ล้านบาท ติดลบ 1.22% แม้ตัวเลขเฉพาะเดือน ส.ค. 2562 กลับมาเติบโต 0.94% เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ แต่ทั้งปียังต้องจับตาว่าจะกลับมาเติบโตได้หรือไม่

MAAT คอนเฟิร์ม “ไม่โต”       

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า มูลค่าการใช้สื่อโฆษณาช่วงในไตรมาส 2 เดิมสมาคมฯ คาดการณ์ว่าจะเติบโต 1% แต่พบว่า “ไม่เติบโต” หรือเท่ากับปีก่อน แต่ก็ยังมีสื่อที่ขยายตัวได้ หลักๆ มาจากสื่อออนไลน์และกลุ่มสื่อนอกบ้าน สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัว จึงคาดว่าสิ้นปี 2562 การใช้สื่อโฆษณาจะเป็นไปตามที่สมาคมมีเดียฯ เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีคือ “ไม่โต” โดยมีมูลค่าราว 117,104 ล้านบาท

สื่อออนไลน์แชมป์โต

รัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่ามูลค่าโฆษณาปี 2562 คาดการณ์รายสื่อ กลุ่มสื่อดั้งเดิมยังคงลดลงต่อเนื่อง ประกอบด้วย ทีวีดิจิทัล มูลค่า 64,680 ล้านบาท ลดลง 2% เคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 2,100 ล้านบาท ลดลง 13% วิทยุ มูลค่า 4,370 ล้านบาท ลดลง 5%

สื่อที่ลดลงอย่างมาก ยังเป็น “สื่อสิ่งพิมพ์” คือ หนังสือพิมพ์ มูลค่า 4,880 ล้านบาท ลดลง 20% และนิตยสาร มูลค่า 975 ล้านบาท ลดลง 25%

ส่วนกลุ่มที่ยัง “เติบโต” คือ สื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 18,055 ล้านบาท เติบโต 18% สูงสุดของอุตสาหกรรม ขณะที่สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 7,881 ล้านบาท เติบโต 11% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 6,868 ล้านบาท เติบโต 1% และสื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 6,195 ล้านบาท เติบโต 5% และสื่อในร้านค้า มูลค่า 1,100 ล้านบาท “ไม่โต”

การใช้งบโฆษณาปีนี้สื่อดิจิทัล “เติบโต” สวนทางกับสื่ออื่นๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทำให้เอเยนซี่และนักการตลาดต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและการใช้สื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดมากขึ้น.