สตาร์ทอัปมาแรง Freshket ตลาดสดออนไลน์ ส่งวัตถุดิบสด-แห้ง กว่า 3,000 รายการ ป้อนร้านอาหาร

ถือเป็นสตาร์ทอัปอนาคตไกล สำหรับแพลตฟอร์ม “Freshket” (เฟรชเก็ต) ตลาดสดออนไลน์ที่เข้ามาเป็น “ตัวช่วย” ร้านอาหาร ในการจัดส่งสารพัดวัตถุดิบให้ถึงที่ แถมล้าง ตัดแต่งพืชผักพร้อมปรุงให้เรียบร้อย เรียกว่าสะดวกสุดๆ ในยุค 4.0

เมื่อร้านอาหารกระจายอยู่ทุกหัวระแหง หากมองให้ลึกนั่นถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถแตกไลน์ได้อีกมากมาย อย่าง “เฟรชเก็ต” ของ “เบลล์ พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์” สตาร์ทอัปรุ่นใหม่เห็นโอกาสกับธุรกิจกับร้านอาหาร อาศัยประสบการณ์การทำงานจากการเป็นซัพพลายเออร์ของสดให้กับตลาดไท เห็น “ปัญหา” ของร้านอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่มาพร้อมกับ “โอกาส” สู่เชิงพาณิชย์ได้ ด้วยการเป็นตัวกลางเชื่อมแหล่งวัตถุดิบ กับร้านอาหาร ได้มาเจอกันในรูปแบบของ “อี มาร์เก็ตเพลส” (e-Marketplace)

เบลล์ พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์

“ด้วยความที่เราอยู่ในวงการซัพลายเออร์ของสดที่ตลาดไท ส่งให้กับร้านอาหารที่มีหลายสาขา แต่กลับมองเห็นปัญหาของผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็กๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีเพียง 1- 2 สาขา จะเข้าไม่ถึงวัตถุดิบในราคาขายส่งที่มีราคาค่อนข้างต่ำได้ เพราะต้องซื้อเป็นจำนวนมาก จึงต้องการเป็นสื่อกลางเชื่อมแหล่งวัตถุดิบจากฟาร์ม ให้กับร้านอาหารรายเล็กโดยตรงในลักษณะของอี มาร์เก็ตเพลส”

แต่เมื่อทำได้ประมาณ 10 เดือน ก็พบว่าธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถตอบโจทย์ด้วยระบบอี มาร์เก็ตเพลส ได้ โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดส่งที่มีราคาค่อนข้างสูง จึงตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์ม “เฟรชเก็ต” วางตำแหน่งเป็น “ศูนย์กลางวัตถุดิบ” ที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารทั้งหมด

“เฟรชเก็ต” ดูแลทั้งซัพพลายเชนและคลังสินค้าที่พร้อมจัดส่งให้ลูกค้ารายย่อยได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องสั่งสต็อกไว้เป็นจำนวนมาก ด้วยราคาขั้นต่ำที่ 499 บาท เท่านั้น ทำให้ร้านอาหารรายเล็กได้วัตถุดิบที่สดใหม่ทุกวัน ไม่ต้องกังวลเรื่องสินค้าค้างสต็อก หรือเน่าเสีย กลายเป็นต้นทุนที่ไม่ควรจะเสียไป แถมยังจัดส่งให้ถึงร้านได้อีกด้วย

นอกจากบริการจัดส่งที่ชิงความเปรียบทั้งในเรื่องของเวลาและราคาการสั่งขั้นต่ำแล้ว ในส่วนของราคาวัตถุดิบก็แข่งขันได้ แถมบางรายการยังถูกกว่าท้องตลาดอีกด้วย จากกลยุทธ์การบริหารสต็อกวัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบจากต้นน้ำมากขึ้น จำนวนร้านอาหารที่เข้ามาใช้บริการกว่า 1,500 ร้าน ทำให้สั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณจึงได้ราคาที่ถูกลง มีการติดตามข้อมูลจากร้านอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบสภาวะเศรษฐกิจ และนำมาบริหารจัดการวัตถุดิบ เป็นต้น

โกยลูกค้า 1,600 ร้านค้า

จากปี 2017 ที่มีร้านอาหารในชุมชนเฟรชเก็ตไม่ถึง 10 ร้าน ปัจจุบันมีมากกว่า 1,600 ร้านที่ได้สั่งซื้อวัตถุดิบกับเฟรชเก็ต นอกจากปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้เข้าถึงแหล่งผลิตได้มากขึ้นแล้วนั้น ข้อมูลความต้องการของสินค้าแต่ละรายการทำให้วางแผนร่วมกับซัพพลายเออร์ และปรับกระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ราคาสินค้าต่อหน่วยจึงลดลงได้ ร้านอาหารที่อยู่ในชุมชนของเฟรชเก็ตจึงสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้นจากต้นทุนอาหารที่ลดลง

ปัจจุบันร้านอาหารรายเล็กเป็นลูกค้าของเฟรชเก็ตกว่า 1,600 ร้าน กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ 80% และปริมณฑล 20% โดยมีร้านอาหารอาหารไซต์ S ที่มีจำนวนสาขาประมาณ 3 – 10 สาขา และไซต์ M มี 11 – 30 สาขา เป็นลูกค้าหลักและมีแนวโน้มใช้บริการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเทรนด์ในยุคนี้ผู้ประกอบการจะลดการทำงานในครัวกลางให้น้อยที่สุด แต่ไปเน้นด้านการทำการตลาดนั้น ดังนั้นเฟรชเก็ต จึงถือว่าเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในช่วงเวลาที่เหมาะสม

สั่งของสด 3,000 รายการ

ขณะที่ระบบหลังบ้าน เรียกว่ามีระบบบริหารจัดการแทบจะไม่มีการสต็อก “ของสด” หรือมีก็น้อยมาก แต่กลับมีสินค้าให้ร้านอาหารเลือกสรรกว่า 3,000 รายการ โดยใช้วิธีเมื่อร้านอาหารสั่งของสด ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ผักสด ก็จะรวบรวมออเดอร์ ส่งให้ซัพพลายเออร์โดยตรงไม่ผ่านคนกลาง ทำให้ร้านอาหารได้วัตถุดิบสดใหม่ทุกครั้งที่สั่งวันต่อวัน อย่างเช่น หากร้านอาหารสั่งวัตถุดิบวันนี้ตอน 4 ทุ่ม ก็จะได้รับสินค้าตอน 8 โมงเช้า ของอีกวันเป็นต้น

“เรามีสินค้ากว่า 3,000 รายการ ทั้งของสด ของแห้ง เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส กะปิ ข้าวสาร และอื่นๆ สำหรับทำอาหารทั้งหมด ราคาใกล้เคียงกับตลาดมาก แต่เจ้าของร้านอาหารหรือฝ่ายครัวไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อของด้วยตัวเอง โดยทำการคัด ตัดแต่งวัตถุดิบมาให้เรียบร้อย พร้อมประกอบการอาหารได้ เพียงสั่งขั้นต่ำแค่ 499 บาท ก็จัดส่งให้ฟรีทั่วกรุงเทพฯ”

นอกจากนี้เฟรชเก็ต ยังมีบริการระบบหลังบ้านให้ร้านอาหารด้วย สามารถดูยอดการสั่งซื้อ มีการเทียบราคาวัตถุดิบขึ้น-ลง ในตลาดให้ โดยดูผ่านสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งระบบดังกล่าวให้เจ้าของร้านอาหารใช้บริการฟรี

ล่าสุดเฟรชเก็ต ได้ขยายศูนย์กระจายวัตถุดิบไปเขตปริมณฑล เช่น นนทบุรีและปทุมธานี เพื่อรองรับจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังขยายไปพัทยาแล้ว จากจำนวนร้านอาหารที่มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน อนาคตมีแผนจะขยายไป ภูเก็ต เชียงใหม่ หรือตามหัวเมืองใหญ่ ด้วยการหาซัพพลายเออร์ในพื้นที่นั้นๆ คาดภายใน 3 ปี

ส่วนแผนการขยายตลาดที่นอกเหนือจากร้านอาหาร มองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ที่มีโอกาสจะใช้วัตถุดิบด้านอาหารเป็นจำนวนมากเช่นกัน อย่าง โรงพยาบาล โรงอาหารในโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานผลิตอาหาร บริษัทผู้ส่งออกอาหาร รวมถึงเซกเมนต์อื่นๆ ที่คาดว่ายังมีโอกาสเติบโต

นับเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัปอนาคตไกล ที่ไม่มองข้ามเรื่องใกล้ตัว พร้อมนำมาต่อยอดเพิ่มความสะดวกสบายในธุรกิจร้านอาหารที่กระจายอยู่ทั่วทุกระแหง แถมยังเพิ่มโซลูชันที่เป็นมากกว่าผู้ส่งวัตถุดิบ แต่มาพร้อมระบบจัดการหลังบ้านด้านวัตถุดิบให้ร้านอาหารอย่างสมบูรณ์แบบ.

Source