ศึกนี้รสอูมามิ “อายิโนะโมะโต๊ะ” เดินหมากสานฝันขึ้นท็อป 10 แบรนด์อาหารโลกชน Nestle

อายิโนะโมะโต๊ะ (Ajinomoto) เจ้าพ่อผงชูรสและผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารรายใหญ่แดนอาทิตย์อุทัยตั้งเป้าขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลก 10 อันดับแรกภายในปี 2025 ลั่นกลองรบกระหน่ำสื่อโซเชียลเรียกศรัทธาลดกระแสต้านผงอูมามิ คู่กับการจัด World Umami Forum ที่นิวยอร์กสานต่อแคมเปญ 3 ปีที่ Ajinomoto เทเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อโปรโมทผงชูรสปลอดภัย” ทั่วโลกตั้งแต่ปีที่แล้ว 

ส่วนสำคัญที่ Ajinomoto จะต้องเร่งมือคือการล้างภาพลบด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ขยายฐานตลาดอาหารแช่แข็งและกลุ่มเครื่องปรุงรสอื่นให้เข้มแข็ง โดยปัจจุบัน ผงชูรสถือเป็นแหล่งรายได้ 1 ใน 3 ของธุรกิจอาหาร Ajinomoto ทั่วโลก

ไม่น่าแปลกใจที่เอเชียยังคงเป็นตลาดหลักของ Ajinomoto สัดส่วนขณะนี้คือมากกว่า 2 ใน 3 ของยอดขายทั่วโลก รองจากเอเชีย คือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรป 

ครองตลาดปรุงรสชน Nestle

วันนี้ Ajinomoto สามารถสยายปีกคลุมตลาดเครื่องปรุงของญี่ปุ่นได้มากกว่า 80% และเป็นผู้ผลิตผงชูรสมากกว่า 20% ทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ขยายผลสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มากมายตั้งแต่ซอส อาหารแช่แข็ง มายองเนส และกาแฟสำเร็จรูป สร้างยอดขายปีละประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 300,000 ล้านบาท 

Ajinomoto ไม่หยุดเท่านี้ เพราะบริษัทประกาศแล้วว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าจะทำลายสถิติเป็น Top 10 ของผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายหลายบริษัท รวมถึง Nestle ซึ่งมียอดขายสูงกว่าเกือบ 10 เท่าตัว

ประเด็นนี้นักวิเคราะห์มองว่า Ajinomoto จะต้องหยุดภาพลบที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ผงชูรสทำให้เกิดอาการปวดหัว เหงื่อออกง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาการอื่นด้านสุขภาพ จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ อย่างไรก็ตาม Ajinomoto ถูกมองว่าได้พยายามกำจัดภาพนั้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ล้มเหลวจนทำให้ยอดขายผงอูมามิไม่กระเตื้องเท่าที่ควร

จนกระทั่งปีที่แล้ว Ajinomoto เปิดแคมเปญระดับโลกมูลค่า 10 ล้านเหรียญ ดึงผู้มีอิทธิพลทางโซเชียลมีเดียมาร่วมทัพให้ภาพลักษณ์ผงชูรสดูดีขึ้น ทั้งนักชิม ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว รวมถึงเชฟมือทองทั่วโลกซึ่งเริ่มทำแคมเปญนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ชูจุดแข็งอร่อยประหยัดเวลาแถมอูมามิ

จุดยืนของ Ajinomoto ที่เหล่า influencer พยายามชูในเวลานี้แทบไม่ต่างจากเมื่อครั้ง .ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวยื่นขอจดสิทธิบัตรในปี 1908 นั่นคือการคิดค้นเครื่องปรุงที่ทำให้อาหารอร่อยในเวลารวดเร็วบนต้นทุนต่ำ ซึ่งเมื่อได้พบหุ้นส่วนทางธุรกิจอย่างซาบุโรสุเกะ ซูซูกิ ที่ 2 ผู้ก่อตั้ง Ajinomoto ทั้ง 2 ก็ทำให้ผงชูรสมีส่วนช่วยลดปัญหาการขาดสารอาหารของคนญี่ปุ่นในเวลานั้นด้วย

หลายสิบปีที่ผ่านมา Ajinomoto ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร จนช่วงทศวรรษที่ 1960 ดาวรุ่งอย่าง Ajinomoto เริ่มเจาะตลาดต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กระทั่งในปี 1968 จึงเริ่มมีการตีพิมพ์บทความทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา เป็นที่มาของการต่อสู้ที่ Ajinomoto ยังต้องดิ้นรนต่อไปในปี 2019 ที่บริษัทมีพนักงานมากกว่า 34,000 คน

Takaaki Nishii ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ajinomoto ยอมรับว่าแคมเปญเรื่องรสใหม่อูมามิไม่ได้ช่วยอะไร Ajinomoto มากมาย เพราะในขณะที่อูมามิถูกพูดถึงวงกว้าง แต่ภาพลักษณ์เชิงลบของผงชูรสยังคงอยู่ ทำให้ Ajinomoto ต้องตั้งความหวังว่าแคมเปญส่งเสริมการขายระยะเวลาปีมูลค่า 10 ล้านเหรียญที่เปิดตัวในปี 2018 จะเปลี่ยนทุกอย่างได้หากคิดใหม่ทำใหม่

การคิดใหม่ทำใหม่ของ Ajinomoto จึงประกอบด้วยการอัดฉีดงบทำกิจกรรมโฆษณาบน YouTube, บล็อก, Facebook และ BuzzFeed ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและนักโภชนาการ สะท้อนว่า Ajinomoto กำลังใช้ผู้มีอิทธิพลที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค เป็นกระบอกเสียงเพื่อกลบเสียงนักวิทยาศาสตร์และสื่ออื่นๆ

ตัวอย่าง influencer ที่ Ajinomoto ใช้คือ Michelle Dudash นักโภชนาการชาวอเมริกันที่ได้รับการยอมรับในฐานะคุณแม่ทำงานที่ชื่นชอบการคิดค้นสูตรอาหารทำง่ายสำหรับพ่อแม่ที่ต้องยุ่งวุ่นทั้งวัน ซึ่งตัว Dudash เองก็ย้ำว่าเป็นความจริงที่เธอรับประทานผงชูรสเอง และมอบให้ครอบครัว รับประทานด้วย

ยังมี Ryuji ผู้มีอิทธิพลด้านอาหารญี่ปุ่นที่มีผู้ติดตามมากกว่า 770,000 คนบน Twitter แสดงความชื่นชอบผงชูรสอีกแรงด้วยการยืนยันว่าผงชูรสช่วยลดเวลาในการปรุงอาหาร และทำให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถปรุงอาหารจานอร่อยได้ พร้อมกับบอกว่าน่าเสียดายที่บางคนยังเชื่อว่าผงชูรสไม่ดีกับสุขภาพโดยไม่มีข้อพิสูจน์

ปีที่ผ่านมา Ajinomoto ยังจัดงานใหญ่ World Umami Forum ในนิวยอร์กในเดือนกันยายน 2018 เพื่อนำเสนอเรื่องราวของผงชูรสผ่านนักโภชนาการ พ่อครัวแม่ครัว และคนในวงการอื่นเข้าร่วมมากกว่า 230 คน เบื้องต้นพบว่า 63% ของนักโภชนาการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อผงชูรส ซึ่งเพิ่มขึ้น 11 คะแนนจากก่อนหน้าการจัดงาน

อีเวนท์เหล่านี้ Ajinomoto เชื่อว่าเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับ Ajinomoto ในการเป็นแบรนด์ระดับโลกที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะปูทางก่อนที่ Ajinomoto จะเสนอเครื่องปรุงรสกลุ่มซอสและผลิตภัณฑ์อื่นที่มีราคาแพงกว่า โดยสถิติชี้ชัดว่าสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าในตลาดที่กำลังเติบโตเช่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นเส้นทางสู่การสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งของ Ajinomoto ต่อไป.