Forever 21 ล้มละลาย ปิด 350 สาขาทั่วโลก ลาเอเชียหันปักหลักลาตินอเมริกา

ออกมาเคลื่อนไหวแล้วสำหรับ Forever 21 ล่าสุดยื่นขอล้มละลายพร้อมกับประกาศแผนชะลอการขยายธุรกิจระดับโลก เตรียมปิด 300 – 350 สาขาซึ่งรวมถึง 178 สาขาในสหรัฐอเมริกา ยอมรับเล็งโบกมือลาตลาดเอเชียและยุโรป แต่พร้อมปักหลักทำตลาดในแม็กซิโกและละตินอเมริกาต่อเนื่อง

ปัจจุบัน Forever 21 เปิดร้านมากกว่า 549 สาขาในสหรัฐฯ และอีก 251 สาขาในประเทศอื่น เบ็ดเสร็จแล้ว Forever 21 จะปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูธุรกิจด้วยการปิดสาขาเกือบ 45% จากทั้งหมด 800 สาขาทั่วโลก

สำหรับสหรัฐอเมริกา Forever 21 ถือเป็น 1 ในหลายแบรนด์ค้าปลีกที่ทยอยประกาศปิดร้านแดนลุงแซมไปแล้วมากกว่า 8,200 สาขาในช่วงปี 2019 ตัวเลขนี้ถือว่าทะลุสถิติในปี 2018 ที่การสำรวจพบว่ามีการปิดร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกามากกว่า 5,589 แห่ง โดยสถิติจากบริษัท Coresight เชื่อว่ามีโอกาสที่ตัวเลขการปิดร้านค้าปลีกของสหรัฐฯจะทะลุ 12,000 แห่งภายในปลายปีนี้

เกิดอะไรกับ Forever 21

นับจากที่ 2 ผู้ก่อตั้ง Forever 21 สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Do Won Chang และ Jin Sook Chang ลงทุนสร้างแบรนด์ Forever 21 จากชื่อเดิม “Fashion 21” ในปี 1984 ด้วยเงินออม 11,000 เหรียญสหรัฐ ภายใน 1 ปี Forever 21 มีรายได้ 700,000 เหรียญ และ 30 ปีต่อมา ทั้งคู่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันเกือบ 6,000 ล้านเหรียญ แต่ทั้งหมดนี้กลับพังทลาย จน Forever 21 ต้องยื่นขอศาลล้มละลายตามกฏหมาย Chapter 11 เพื่อหาทางดิ้นให้อยู่รอดต่อไป

ภาวะล้มละลายของ Forever 21 ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดขึ้นเพราะหลายเหตุผล 1 ในนั้นคือการแข่งขันสุดดุเดือดบนโลกออนไลน์ นอกเหนือจากคู่แข่งด้านแฟชั่นเช่น H&M และ Zara แล้ว Forever 21 ยังต้องเร่งสร้างความนิยมในวงการแฟชั่นด้วยราคาที่ไม่แพง พร้อมกับต้องดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันในยุคที่วัยรุ่นหันมาซื้อเสื้อผ้าบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ

สาขามากเกินไป

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา Forever 21 ถูกมองว่าลงมือขยายสาขาในห้างสรรพสินค้าอย่างจริงจัง แม้ว่าปริมาณการเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าของลูกค้าจะลดน้อยลง นอกจากนี้ยังเปิดร้านค้าพื้นที่ใหญ่อีกหลายแห่ง ทำให้ตัวเลขพื้นที่ร้านโดยเฉลี่ยของ Forever 21 ทะลุหลัก 38,000 ตารางฟุต สะท้อนว่า Forever 21 มีค่าใช้จ่ายสูงมากเรื่องพื้นที่ร้าน

ผลคือ Forever 21 มีมูลค่าหนี้ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด Mintel สะท้อนว่า Forever 21 มีแผนจะลดต้นทุนด้วยการปิดสาขาในอเมริกาเหนือ และถอยออกจากตลาดเอเชียและยุโรป ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างและในที่สุดก็จะพ้นจากการกำกับดูแลของศาลเพื่อให้ธุรกิจกลับมาเป็นปกติ

อีกสิ่งที่ถือเป็นการบ้านท้าทาย Forever 21 คือการพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าจะสามารถสร้างสินค้าโดดเด่นเพื่อให้ Forever 21 อยู่รอดได้ต่อไป ที่ผ่านมา Forever 21 ถูกมองว่าเป็นสินค้าราคาประหยัดก็จริง แต่กลับเป็นสินค้าที่ไม่โดนใจคอแฟชั่น สวนทางกับพฤติกรรมของวัยรุ่นยุคนี้ที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงมากขึ้นแม้จะเป็นสินค้าราคาต่ำก็ตาม

ยังมีประเด็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ผ่านมา Forever 21 ไม่เคยชูประเด็นการรักษ์โลก แต่อยู่ในกลุ่มผู้ค้าแฟชั่นยุคเก่าที่เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งมีบันทึกว่าการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 8%.