อิมแพ็คฯ ลุยธุรกิจร้านกาแฟ นำแบรนด์ The Coffee Academics อิมพอร์ตจากฮ่องกง

อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ ร่วมทุนนำร้าน The Coffee Academics เชนร้านกาแฟชื่อดังจากฮ่องกงเปิดสาขาในไทยแห่งแรก เสริมทัพธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม

เสริมทัพธุรกิจอาหาร หนุนตลาด Specialty Coffee

ตลาดร้านกาแฟยังคงมีการแข่งขันอย่างดุเดือด ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดก็อัดโปรโมชั่นกันอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ก็ตบเท้าเข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ดี เพราะพฤติกรรมคนไทยมีการดื่มกาแฟมากขึ้น

ความน่าสนใจของตลาดนี้อยู่ที่ผู้แบรนด์ใหญ่ในตลาดหลายราย เลือกที่จะขยายธุรกิจมาลงทุนธุรกิจร้านกาแฟมากขึ้น ล่าสุดอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในนามของธุรกิจจัดงานแสดงสินค้ารายใหญ่ของไทยก็ขอลุยธุรกิจนี้เช่นกัน ด้วยการนำเข้าแบรนด์ The Coffee Academics ร้านกาแฟ Specialty Coffee จากฮ่องกง

การลงทุนครั้งนี้เป็นการร่วมทุนกับ “เจนนิเฟอร์ ลิว” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ และนักธุรกิจชื่อดังของฮ่องกง เปิดสาขาแรกที่โครงการเวลา หลังสวน บนพื้นที่สินธร วิลเลจ มิกซ์ยูสสุดหรูแห่งใหม่

การเปิดร้าน The Coffee Academics ในไทยครั้งนี้ ถือเป็นการบุกตลาดธุรกิจร้านกาแฟอย่างเต็มตัวของอิมแพ็คฯ และเป็นการเสริมทัพธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มให้แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้อิมแพ็คฯ มีร้านกาแฟ Ease cafe ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของชาเลนเจอร์ ฮอลล์ในอิมแพ็คฯ เมืองทองธานี แต่เป็นการสร้างแบรนด์เองเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าของอิมแพ็คฯ ร้าน The Coffee Academics เป็นร้านแรกที่มีการนำเข้ามาอย่างจริงจัง

ร้าน The Coffee Academics ได้วางจุดยืนเป็น Specialty Coffee ระดับพรีเมียม มีราคาเริ่มต้นที่ 120 – 200 บาท

เจนนิเฟอร์ ลิว และพอลล์ กาญจนพาสน์

พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า 

“The Coffee Academics ถือเป็นแฟรนไชส์ประเภทร้านกาแฟร้านแรกที่บริษัทฯ นำมาบริหาร โดยความร่วมมือครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขยายส่วนงานธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่และเสริมสร้างประสบการณ์ของลูกค้าไปอีกระดับ”

ความสำคัญของประเทศไทยกับตลาดกาแฟนั้น ถือเป็นตลาดกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่มีมาอย่างยาวนาน และถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของทวีปรองจากเวียดนาม และอินโดนีเซียด้วย 

โดยกว่า 99% ของกาแฟที่ผลิตในประเทศไทยเป็นกาแฟโรบัสต้าจากทางภาคใต้ และยังมีกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีที่ปลูกทางภาคเหนือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสเติบโต ส่วนเทรนด์การผลิตกาแฟของโลกขณะนี้มุ่งสู่การให้ความสำคัญกับพันธุ์อาราบิก้าคุณภาพดีจากแหล่งปลูกที่เน้นเรื่องความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อชุมชนมากขึ้น

ขยายอีก 3 สาขา ภายใน 5 ปี

จุดเริ่มต้นของการนำแบรนด์ The Coffee Academics เข้ามาในประเทศไทยนั้น เกิดจากการที่ทั้งพอลล์ และเจนนิเฟอร์รู้จักกันมาก่อน ทางแบรนด์ก็ต้องการขยายธุรกิจมายังประเทศไทยเพราะธุรกิจร้านกาแฟมีการเติบโตสูง ส่วนทางอิมแพ็คฯ ก็ต้องการขยายธุรกิจในส่วนของอาหารและเครื่องดื่มด้วย

โดยมีแผนที่จะขยายสาขาอีก 3 แห่งภายในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าจะใช้งบการตลาดรวม 200 ล้านบาท ทั้งในเรื่องของการลงทุนและสร้างการรับรู้ทั้งออฟไลน์ 

ปัจจุบันอิมแพ็คมีธุรกิจในเครือ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ จัดนิทรรศการ หรือห้องประชุม มีสัดส่วนรายได้ 70% อาหาร/เครื่องดื่ม และจัดเลี้ยง 10% บันเทิง (โกคาร์ทต่างๆ) 10% และโรงแรม 10% 

สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มของอิมแพ็คฯ ครอบคลุมทั้งการจัดเลี้ยงภายนอก และภายในอิมแพ็คฯ ร้านอาหารจีน ฮ่องกง ไทย อินเตอร์ และญี่ปุ่น รวมทั้งหมด 5 แบรนด์ มีสาขาจำนวน 30 ร้าน มีโลเคชั่นทั้งในอิมแพ็คฯ และนอกอิมแพ็คฯ

ในอนาคตอิมแพ็คฯ ยังมีแผนที่จะเอาแบรนด์ร้านอาหาร และเครื่องดื่มเข้ามาเสริมพอร์ตเพิ่มเติม มีทั้งแบรนด์จากเอเชีย และยุโรป แต่เน้นในส่วนของเน้นอาหาร

รู้จักแบรนด์ The Coffee Academics 

The Coffee Academics ก่อตั้งโดยเจนนิเฟอร์ ลิว นักธุรกิจชื่อดังของฮ่องกง ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารหญิงที่ทรงอิทธิพลในปี 2562 แรงบันดาลใจเกิดขึ้นจากสตูดิโอแห่งหนึ่งในย่านคอสเวย์ เบย์ ฮ่องกง เมื่อปี 2553 โดยในขณะนั้น The Coffee Academics ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดและประสบการณ์สำหรับกลุ่มคนที่รักกาแฟเหมือนๆ กัน

ต่อมาในปี 2555 ร้านกาแฟ The Coffee Academics แห่งแรกได้เปิดตัวขึ้นที่ถนน Yiu Wa ในคอสเวย์ เบย์ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนิยามประสบการณ์คอฟฟี่เฮ้าส์ในฮ่องกงขึ้นมาใหม่

ปัจจุบัน The Coffee Academics มีจำนวน 14 สาขาในฮ่องกง 4 สาขาในสิงคโปร์ และ 2 สาขาในประเทศจีน โดยภายในปี 2563 ตั้งเป้าว่าจะมีทั้งหมด 30 สาขาตั้งอยู่ใน 7 เมืองหลักทั่วทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน มาเก๊า ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น และในปี 2568 เฉพาะในประเทศจีน คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 50 สาขาด้วยกัน