เงินบาทไทยแข็งสุดในรอบ 6 ปี แตะ 30.30 บาท/ดอลลาร์ หวั่นกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว


เงินบาทขยับแข็งค่าทดสอบแนว 30.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปี ครั้งใหม่ (นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2556) และเมื่อเทียบกับความเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแล้ว เงินบาทยังคงเป็นสกุลเงินที่มีอัตราการแข็งค่ามากที่สุด 

โดยแข็งค่าขึ้นแล้วในปีนี้ประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และค่อนข้างจะทิ้งห่างสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่ตามมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 อย่างเงินรูเปียห์ และเงินเปโซ ที่แข็งค่าขึ้นในปีนี้เพียง 2.8% และ 1.8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะถูกอธิบายโดยฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมุมมองของนักลงทุนที่ว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย มากกว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศ 

โดยอาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากการคาดการณ์เรื่องการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท (เช่น สถานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง) แล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในลักษณะที่เป็นการสวนทางสกุลเงินเอเชียอื่นๆ นั้น น่าจะเป็น “มุมมอง” ของตลาดที่ประเมินว่าเงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัยในยามที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง 

โดยเฉพาะในช่วงภายในเดือน ต.ค. นี้ ที่มี 2 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าทั้ง 2 ประเทศ น่าจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ขณะที่อัตราภาษีของสหรัฐฯ ที่เก็บจากวงเงินสินค้านำเข้าจากจีน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ กำลังจะขยับขึ้นไปที่ 30% จาก 25% ในวันที่ 15 ต.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ 

และ 2. ความเสี่ยงจากกรณี BREXIT แบบไร้ข้อตกลง ขณะที่อังกฤษกำลังนับถอยหลังเข้าใกล้เส้นตายสิ้นเดือน ต.ค. 2562 นี้ ทั้งนี้ สัญญาณความกังวลเพิ่มสูงขึ้นก่อนการประชุม EU summit ระหว่างวันที่ 17 – 18 ต.ค. นี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปและอังกฤษยังคงมีความเห็นในรายละเอียดของหลายประเด็นที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ไทยเสียเปรียบเรื่องความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและท่องเที่ยว และอาจเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย 

เพราะนอกจากเงินบาทจะขยับแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์มากกว่าสกุลเงินอื่นๆ เช่น เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย เงินเยนญี่ปุ่น และเงินเปโซฟิลิปปินส์แล้ว เงินบาทยังแข็งค่าสวนทางเงินเอเชียอีกหลายสกุลที่ปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เช่น เงินวอนเกาหลีใต้ เงินหยวนจีน เงินรูปีอินเดีย เงินริงกิตมาเลเซีย และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ และแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าทิศทางค่าเงินบาทอาจผันผวนได้ทั้ง 2 ด้านในระยะ 6 – 12 เดือนข้างหน้า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์ของการเมืองภายในสหรัฐฯ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือน พ.ย. 2563 

โดยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีผลในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของเฟด โดยในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เผชิญต่อภาวะถดถอย มองว่าแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าน่าจะทยอยลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่เฟดสามารถยุติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นราวช่วงครึ่งแรกของปีหน้า 

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญต่อภาวะถดถอย ความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในขนาดและจำนวนครั้งที่มากกว่าไทย อาจส่งผลทำให้เงินบาทยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปมปัญหาของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์ของการเมืองภายในสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทยังคงได้รับแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย

ทั้งนี้ ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงมากกว่าที่คาดในปีหน้า จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เงินบาทก็อาจถูกกดดันให้แข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่องจากการที่ไทยยังคงมีดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล 

และมุมมองของนักลงทุนที่ว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัยที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจจะยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า.

Source