สรุป “ชิมช้อปใช้” 14 วันแรก ใช้จ่าย 5,000 ล้าน กระจายสู่ร้านค้าขนาดเล็กเกิน 80%

สรุปภาพรวมชิมช้อปใช้จากการใช้จ่ายช่วง 14 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์เกือบ 6 ล้านราย มีการใช้จ่ายเงิน 5,600 ล้านบาท กระจายสู่ร้านเล็กๆ เกิน 80% และใช้จ่ายในกรุงเทพฯ 13%

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า

มีผู้ที่ได้รับสิทธิจากการลงทะเบียนวันแรก (วันที่ 23 กันยายน 2562) จำนวน 807,321 ราย ไปเริ่มต้นใช้สิทธิ 710,013 ราย ถูกตัดสิทธิ 97,308 ราย เนื่องจากไม่เริ่มใช้สิทธิภายใน 14 วันที่กำหนด โดยสิทธิดังกล่าวจะนำมาพิจารณาให้ลงทะเบียนในมาตรการฯ ระยะที่ 2

การตรวจสอบสิทธิผู้ลงทะเบียน 16 วันแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ได้รับสิทธิ 9,998,518 ราย ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิแล้วจำนวน 9,990,275 ราย ทั้งนี้ มีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว 9,361,729 ราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จ 8,755,873 ราย และมีผู้ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชัน 628,546 ราย

Photo : Pixabay

ยอดใช้จ่ายรวมกว่า 5,000 ล้านบาท

ในการใช้จ่าย 14 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 5,910,924 ราย มีการใช้จ่ายรวม 5,635 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ ประมาณ 4,601 ล้านบาท หรือมากกว่า 80%

และมีการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาประมาณ 1,034 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 22% ในช่วงเริ่มต้น เหลือ 18% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด เป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 5,578 ล้านบาท

โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ และบริการที่เกี่ยวเนื่องต่อการท่องเที่ยว 3,205 ล้านบาท

ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่าย 729 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่าย 66 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไปมียอดใช้จ่าย 1,578 ล้านบาท

สำหรับการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้สิทธิแล้ว 19,436 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 57 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 2,948 บาท เป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” 38 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่าย 12 ล้านบาท และ 7 ล้านบาท ตามลำดับ

Photo : Pixabay

ใช้จ่ายในกทม. 13%

มีการใช้จ่ายกระจายครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่

  1. กรุงเทพฯ 713 ล้านบาท หรือ 13%
  2. ชลบุรี 368 ล้านบาท หรือ7%
  3. สมุทรปราการ 236 ล้านบาท หรือ 4%
  4. ปทุมธานี 173 ล้านบาท หรือ 3%
  5. พระนครศรีอยุธยา 162 ล้านบาท หรือ 3%
  6. นครปฐม 140 ล้านบาท หรือ 2%
  7. ระยอง 140 ล้านบาท หรือ 2%
  8. ลำพูน 135 ล้านบาท หรือ 2%
  9. นนทบุรี 132 ล้านบาท หรือ 2%
  10. เชียงใหม่ 129 ล้านบาท หรือ 2%

Source