ไขรหัสเลเซอร์นำทาง “คิปโชเก้” สร้างสถิติโลก สร้างเทคโนโลยีใหม่ให้วงการกีฬา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ “อิลิอุด คิปโชเก้” สร้างสถิติเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอน (42 กิโลเมตร) ด้วยเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง คือ 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที

ผลของเทคโนโลยี ช่วยสร้างสถิติใหม่

ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า “Nike Vaporfly Next%” ที่ยังไม่ได้รับการรับรอง รวมถึงการคำนวนแรงฉุดของลมให้น้อยที่สุดด้วยการให้นักวิ่งคนอื่นทั้งหมด 41 คน ผลัดกันครั้งละ 7 คน แปรขบวนเป็นรูป “ลูกศร” คอยวิ่งประกบ “อิลิอุด คิปโชเก้” ตลอดเส้นทาง รวมถึงเหตุที่เลือกกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก็เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ไม่ร้อนและไม่ชื้นเกินไป ไม่เว้นแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาวิเคราะห์สิ่งที่ต้องกินก่อนวิ่งและระหว่างวิ่งคิดเป็นกี่กรัมต่อชั่วโมง

รวมถึงรถนำขบวนที่ยิงเลเซอร์สีเขียวตลอดเส้นทาง ก็เพื่อแสดงตำแหน่งที่ควรจะวิ่งและจังหวะต่างๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็เพื่อบอกจุดแก่ 7 นักวิ่งประกบ “อิลิอุด คิปโชเก้” จะได้ไม่แตกแถวซึ่งจะมีผลต่อลมปะทะและแรงฉุด

จริงอยู่เลเซอร์อาจจะไม่มีผลต่อการสร้างสถิติโลกของ “อิลิอุด คิปโชเก้” มากนัก แต่เทคโนโลยีนี้กำลังคืบคลานเข้าสู่วงการกีฬาซึ่งกีฬาชนิดอื่นนั้นเริ่มมีการนำเข้ามาใช้แล้ว

ไขรหัสเลเซอร์ 3 มิติ ที่ใช้ในวงการกีฬา

เทคโนโลยีดังกล่าวคือเซ็นเซอร์เลเซอร์ 3 มิติเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาโดย Fujitsu เพิ่งนำเข้ามาใช้ในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลก 2019 ที่เมืองสตุ๊ตการ์ท ประเทศเยอรมนี ที่รูดม่านไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา

เลเซอร์นี้เองที่เป็นตัวช่วยตัดสินให้ “ซิโมน ไบลส์” นักยิมนาสติกสาววัย 22 ปี ชาวสหรัฐอเมริกา กวาดไปถึง 5 เหรียญทอง เหตุที่ต้องนำมาใช้เพราะสายตามนุษย์ไม่มีทางมองทันจังหวะตีลังกา 3 รอบกลางอากาศของเธออย่างเด็ดขาด

ทุกการเคลื่อนไหวของ “ซิโมน ไบลส์” กับนักยิมนาสติกจากทุกชาติทั้งทัวร์นาเมนต์ 546 คนจะถูกจับโดยเซ็นเซอร์เลเซอร์ 3 มิติที่ซ่อนอยู่ภายในกล่องที่ติดตั้งเอาไว้รอบพื้นเวทีที่เมืองสตุ๊ตการ์ท

การเคลื่อนไหวของนักกีฬายิมนาสติกทุกคนนั้นจะถูกจับในตำแหน่งและมุมที่เหมาะสมพร้อมประมวลทันทีจากนั้นวิเคราะห์ป้อนให้กรรมการตัดสินได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นเทคโนโลยีจากเลเซอร์นี้เองจะช่วยขจัดการตัดสินที่ค้านสายตาออกไป เพราะก่อนหน้านี้กีฬาชนิดนี้รวมถึงอีกหลายชนิดที่ใช้สายตาตัดสินนั้นมักจะถูกคำครหาว่ามีการเอนเอียงไม่ไปทางเจ้าภาพก็ทางใดทางหนึ่ง

กระนั้นก็ตามมีกระแสต่อต้าน เพราะมองว่ายิมนาสติกคือกีฬาที่ต้องใช้ศิลปะ โดย “นิว ยอร์ก ไทม์” ได้ตีพิมพ์คำพูดของโค้ชชาวอิตาเลี่ยนรายหนึ่งว่า “คอมพิวเตอร์ไม่สามารถเข้าใจศิลปะหรือแม้กระทั่งความรู้สึกและการเคลื่อนไหวที่แสดงออกมา มันจับได้ทุกมุมที่กรรมการมองไม่เห็นก็จริง แต่ถ้าเรื่องศิลปะนั้นเป็นไปไม่ได้”

คำกล่าวที่ว่าก็จริงอยู่เพราะกีฬายิมนาสติกที่เราชมมาแต่ไหนแต่ไรสีหน้าและท่าทางของนักกีฬาประกอบเพลงที่เลือกมีอิทธิพลไม่น้อยกับความสนุกและคะแนนจากกรรมการ

ดังนั้นกีฬาบางชนิดที่ไม่เป็นศิลปะจึงน่าจะนำเลเซอร์เข้ามาใช้คล้ายๆ กับฟุตบอลที่มี VAR (Video Assistant Referee) หรือวิดีโอช่วยกรรมการตัดสิน ที่มีการขีดเส้นจำลองแนวล้ำหน้า ซึ่งปัจจุบันก็มีการนำเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทนนิสที่มีฮอว์กอายให้นักกีฬาสามารถชาลเลนจ์ดูจังหวะลูกออก เพราะกรรมการก็คือมนุษย์สายตาไม่มีทางจับความเร็วลูกเสิร์ฟ 200 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกทั้งปีหน้าจะมีโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เราก็น่าจะได้เห็นเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในแต่ละชนิดกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยตัดสินให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

แน่นอนคอมพิวเตอร์ไม่มีทางเข้าใจศิลปะอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีเหล่านี้น่าจะเข้ามามีส่วนช่วยในการซ้อมของโค้ชกับนักกีฬาให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้นนำไปพัฒนานักกีฬา ตลอดจนถึงการแข่งขันจริงที่เหนืออื่นใดใครก็ต่างต้องการการวิเคราะห์ผลและการตัดสินที่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากได้รับการยอมรับจากนักกีฬาทุกคน ทุกชนิดกีฬาและทุกชาติ ให้เทคโนโลยีเข้าถึงและทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึงก็น่าจะได้รับการยอมรับได้ไม่ยาก.

Source