เลือดรักชาติแรง! ชาวจีน 78% ตั้งใจ “งดซื้อ” สินค้าแบรนด์อเมริกันในมหกรรม 11.11

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมาอย่างดุเดือดกว่า 2 ปี ปลุกเลือดรักชาติของคนจีนในระยะหลัง โดยเฉพาะการใช้อาวุธสำคัญอย่าง ‘กำลังซื้อ’ เป็นการตอบโต้ ไม่เว้นแม้แต่มหกรรมลดราคาสินค้า 11.11 ที่กำลังจะมาถึง ชาวจีนถึง 78% ตั้งใจหันหลังให้แบรนด์อเมริกันเพื่อแสดงออกถึงชาตินิยม

จากการสำรวจผู้ใหญ่ชาวจีนจำนวน 2,000 คนโดย AlixPartners ระหว่างวันที่ 2-7 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้สำรวจพบว่าคนจีน 78% หรือสัดส่วน 3 ใน 4 ตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแบรนด์อเมริกันในเทศกาลลดราคาสินค้าวันคนโสด 11.11 ที่จะถึงนี้ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้กล่าวว่า เหตุผลหลักของพวกเขาคือ “ชาตินิยม”

พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนนี้ถือเป็นภาพสะท้อนของสงครามการค้าที่ดำเนินมากว่า 2 ปี โดยมีการเพิ่มกำแพงภาษีเพื่อตอบโต้กันและกันมาโดยตลอด ซึ่งส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกภายในประเทศของทั้งสองฝ่าย

“ผู้บริโภคชาวจีนเลือกสินค้าแบรนด์จีนมากกว่าอยู่แล้ว และกระแสชาตินิยมที่กำลังพุ่งขึ้นในระยะหลังยิ่งส่งให้พฤติกรรมนี้มีมากขึ้นไปด้วย” Jason Ong ผู้อำนวยการ AlixPartners กล่าว “แบรนด์ท้องถิ่นเติบโตขึ้นในประเทศจีน ไม่มีอีกแล้วสำหรับภาพสินค้าจีนที่มีงานดีไซน์และคุณภาพต่ำ หรือการตลาดที่อ่อนแอ”

เทศกาลวันคนโสด 11.11 ซึ่งจัดขึ้นโดย อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง เป็นเทศกาลลดราคาสินค้า 24 ชั่วโมงบน 3 แพลตฟอร์มหลักของเครือได้แก่ Taobao, Tmall และ AliExpress ด้วยมูลค่าการขายรวม 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในวันเดียว (ข้อมูลปี 2018) นับเป็นเทศกาลลดราคาสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ชนะทั้งวัน Prime Day ของ Amazon ซึ่งมียอดขายรวม 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Black Friday ที่มียอดขาย 6.2 พันล้านเหรียญ หรือ Cyber Monday ที่ทำยอดขายรวม 7.9 พันล้านเหรียญ

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคชาวจีนยืนหยัดงดซื้อสินค้าอเมริกันตามที่ตั้งใจจริง กลุ่มสินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเสื้อผ้าเครื่องประดับ เช่น Nike, Ralph Lauren, Tiffany Co., บริษัท Tapestry Inc. เจ้าของแบรนด์ Coach และ Kate Spade, บริษัท Capri Holdings เจ้าของแบรนด์ Versace, Jimmy Choo และ Michael Kors

อย่างไรก็ตาม แบรนด์อื่นที่ไม่ได้อยู่ใต้ร่มบริษัทอเมริกันก็ยังอุ่นใจได้ เพราะผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าพวกเขายังจะเลือกซื้อสินค้าของต่างประเทศอื่นๆ อยู่ เช่น แบรนด์จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป แต่จะต้องเป็นแบรนด์ที่พวกเขามองว่ามีดีไซน์และคุณภาพที่ดีกว่าของจีน

ที่มา: scmp, Forbes