หนาวๆ ร้อนๆ เมื่อนายทุนใหญ่ “SoftBank” เผชิญวิกฤต กดดันเม็ดเงินลงทุนใน “Grab”

ภาพ : GrabTH

Masayoshi Son ซีอีโอของ SoftBank เจ้าของกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล Vision Fund ผู้ลงทุนหลักในสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Grab เคยประกาศสัญญาลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อให้ Grab สร้างสำนักงานใหญ่แห่งที่สองในจาการ์ตา แต่คำสัญญาที่ว่าอาจสั่นสะเทือนเมื่อสถานะของนายทุนไม่มั่นคง

คำประกาศลงทุนนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 แต่ผ่านไปเพียง 3 เดือน SoftBank กลับต้องเผชิญวิกฤตหลังผลประกอบการของ Uber ยังคงขาดทุน และ WeWork ได้รับการประเมินมูลค่าบริษัทต่ำลงแบบฮวบฮาบ SoftBank ซึ่งทุ่มลงทุนในสองสตาร์ทอัพดังกล่าวจึงถูกฉุดลงเหวไปด้วย

Grab เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ SoftBank ให้เงินสนับสนุน โดยเป็นผู้ลงทุนเบอร์ 1 ด้วยเม็ดเงินลงทุนสะสม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน ‘ซูเปอร์แอพฯ’ อย่าง Grab ซึ่ง CB Insights ประเมินว่ามีมูลค่าบริษัทถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม SoftBank กำลังจะประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ในวันพรุ่งนี้ และคาดกันว่าจะไม่ใช่ตัวเลขที่ดีนัก ทำให้ SoftBank ต้องปรับกลยุทธ์การเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพต่างๆ หลังจากนี้ โดยชูกุญแจหลักที่พวกเขามองหาในสตาร์ทอัพคือ “ความสามารถในการทำกำไร”

“คุณต้องมีธุรกิจที่สมเหตุสมผล” Rajeev Misra ผู้บริหารกองทุน Vision Fund ของ SoftBank กล่าว “การพูดเพียงว่า ‘ดูสิ เรากำลังจะดิสรัปอุตสาหกรรมที่มีโมเดลธุรกิจแย่ๆ’ จะไม่เพียงพออีกต่อไป”

SoftBank นายทุนหลักของ Grab กำลังเผชิญวิกฤตครั้งสำคัญของบริษัท เมื่อผลการลงทุนกับ Uber และ WeWork ไม่เป็นไปตามคาด ส่งผลกระทบให้บริษัทต้องทบทวนกลยุทธ์ลงทุนซึ่งอาจส่งผลกดดัน Grab ที่เคยได้รับเงินลงทุนจากบริษัทนี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อมีหลักเกณฑ์ใหม่ ทำให้ Grab ต้องมุ่งมั่นเรื่องการทำกำไรให้มากขึ้น โดยปัจจุบันแอพฯ นี้มีบริการหลักคือ เรียกรถรับส่ง ดำเนินการใน 8 ประเทศ และคิดเป็น 80% ของรายได้รวม อีกส่วนคือ จัดส่งอาหาร ดำเนินการใน 6 ประเทศ คิดเป็น 20% ของรายได้รวม

ที่น่าสนใจคือมาร์จิ้นของการจัดส่งอาหารนั้นมีมากกว่า โดย Grab ได้ส่วนแบ่ง 20% จากค่าโดยสารรถรับส่ง แต่ได้มาร์จิ้น 30% หรือมากกว่าสำหรับบริการจัดส่งอาหาร นอกจากนี้ Kantar บริษัทวิจัยตลาดยังระบุว่า Grab เป็นผู้นำตลาดจัดส่งอาหารในทุกประเทศที่เปิดบริการ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ (เก็บผลสำรวจเดือน ม.ค.-เม.ย. 2019)

“บริการจัดส่งอาหารจะช่วยให้บริษัทมีกำไรได้เร็วขึ้น” Lim Kell Jay หัวหน้าระดับภูมิภาคของหน่วยงาน Grab Food กล่าว และมองว่า Grab Food อาจจะบุกตลาดเมียนมาและกัมพูชาเป็นแห่งต่อไป

แต่ในธุรกิจหลักอย่างบริการเรียกรถรับส่ง Grab กำลังเผชิญความเสี่ยงในอินโดนีเซียที่เป็นตลาดสำคัญ เมื่ออดีตซีอีโอของบริษัทคู่แข่งคือ Nadiem Makarim แห่ง Go-Jek ลาออกไปร่วมรัฐบาลของประธานาธิบดี Joko Widodo ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสัญญาณว่า Go-Jek อาจจะได้รับการยอมรับนับถือมากกว่าในอินโดนีเซีย

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ Grab ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นซูเปอร์แอพฯ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป โดยพยายามรุกตลาดที่จะได้มาร์จิ้นสูง นอกจากการจัดส่งอาหารแล้ว Grab ยังเริ่มทดลองบริการตรวจสุขภาพทางไกลในอินโดนีเซียมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อน โดยบริการนี้จะมีแพทย์ให้คำปรึกษากับคนไข้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น และบริษัทยังมองหาลู่ทางที่จะขยายยูนิตนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ต่อไป

Source