เมื่อค้าปลีกไทยโตช้ากว่าปกติ ต่อจากนี้ “ห้าง” ต้องเป็น “New Retail”

ภาพรวมรอบ 3 ปี ภาคค้าปลีกไทยโตช้ากว่าจีดีพีประเทศ สะท้อนความน่าเป็นห่วงในธุรกิจศูนย์การค้า-ซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งถูกอี-คอมเมิร์ซเข้ามาดิสรัปต์ดึงลูกค้าออกจากห้างฯ แม้จะปรับตัวกันมาสักระยะแล้วแต่อาจจะยังไม่พอเพราะโลกสองใบ “ออนไลน์-ออฟไลน์” ของห้างฯ ยังไม่เชื่อมเข้าด้วยกันโดยสมบูรณ์แบบ “New Retail”

“2.9%” คือตัวเลขคาดการณ์เติบโตของภาคค้าปลีกไทยปี 2562 ที่ “วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำเสนอบนเวทีสัมมนา Line Retail Tech 2019 แบบไม่พึงพอใจนัก เพราะตัวเลขนี้ยังต่ำกว่าคาดการณ์จีดีพีประเทศที่น่าจะเติบโต 3.0-3.2% เขายังกล่าวย้ำด้วยว่าสภาวะที่ค้าปลีกเติบโตต่ำกว่าจีดีพีเกิดขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติจากในอดีตที่การเติบโตของค้าปลีกจะสูงกว่าจีดีพีประเทศ 1-2% อยู่เสมอ

การเติบโตของรีเทลไทยปี 2019 อาจจะเติบโตเพียง 2.9% ซึ่งต่ำกว่าการเติบโตของจีดีพีประเทศ

“รีเทลไทยปรับตัวเร็ว เราไปปรับไปเป็น lifestyle mall แทน shopping plaza แล้ว ทำให้คนไทยใช้เวลาในห้างฯ ได้ทั้งวัน การปรับตัวนี้เกิดขึ้นมาเป็นสิบปี” วรวุฒิกล่าว แต่เหตุที่ยังไม่เพียงพออาจเป็นเพราะห้างฯ กลายสภาพเป็นโชว์รูมสินค้าแต่ลูกค้ากลับไปสั่งซื้อออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันว่าลูกค้าจะซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของห้างฯ หรือเจ้าอื่น แล้วห้างฯ จะทำอย่างไรเพื่อดึงยอดขายให้อยู่กับตัว?

ขั้นแรกที่วรวุฒิแนะนำให้ทั้งศูนย์การค้าหรือแม้แต่ร้านค้าออฟไลน์ที่เปิดในห้างฯ สามารถทำได้เหนือกว่าออนไลน์คือ “กิจกรรม” ซึ่งออนไลน์ยังมีจุดบอด ไม่สามารถทำกิจกรรมตอบโต้กับลูกค้าได้เต็มที่

ยกตัวอย่าง เพาเวอร์บาย มีกิจกรรมการบริการให้มากขึ้นในการให้คำปรึกษากับลูกค้าและบริการหลังการขาย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่าง เช่น ระบบโฮมออโตเมชั่น เป็นสินค้าที่ซับซ้อนและต้องการคำอธิบาย หรือตัวอย่างร้าน บีทูเอส ซึ่งปรับตัวเองจากร้านขายหนังสือมาขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เมื่อร้านจะขายสินค้าบอร์ดเกม ร้านจึงจัดกิจกรรมแข่งขันบอร์ดเกม จุดประสงค์เพื่อแนะนำเกมที่นำมาขายให้ลูกค้าเข้าใจวิธีเล่นซึ่งนำไปสู่ยอดขายได้มากกว่าตั้งสินค้าและแปะป้ายราคาไว้เฉยๆ

 

เร่งปรับตัวก่อน “New Retail” พายุระลอกใหม่มาถึง

ส่วนอนาคตอันใกล้นี้ วรวุฒิชี้ให้เห็นพายุลูกใหม่จาก Alibaba ในจีนซึ่งทดลองเปิด ร้านเหอหม่า เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้นิยามใหม่ของบริษัทคือ “New Retail”

“เมื่อคนที่เริ่มจากออนไลน์มาทำออฟไลน์ เขาจะทำง่ายและทรงพลัง เพราะเขามีดาต้าเบสอยู่ในมืออยู่แล้ว”

เหอหม่า ซูเปอร์มาร์เก็ตที่หลอมรวมออนไลน์และออฟไลน์ (photo: Alibaba)

วรวุฒิแจกแจงว่าการพัฒนาห้างฯ แบบ New Retail ดังกล่าวคือการผูกเทคโนโลยีเข้าไปในร้านค้าโดยไม่ได้แบ่งแยกว่านี่คือร้านแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะเปลี่ยนป้ายโฆษณาและป้ายบาร์โค้ดราคาเป็นดิจิทัลทั้งหมด สาเหตุเพราะจะทำให้ร้านซึ่งมีดาต้าการซื้อของลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนโปรโมชันได้ถี่ขึ้นเป็นรายชั่วโมง ถ้าลูกค้าเข้าไปเลือกซื้ออาหารสดยังสามารถสแกนบาร์โค้ดเพื่อดูรายละเอียด ดูเมนูแนะนำ ไปจนถึงสั่งครัวในห้างฯ ให้ทำอาหารตามเมนู ปิดท้ายด้วยกดสั่งให้นำอาหารปรุงเสร็จไปส่งที่บ้านได้ด้วย

ความล้ำหน้าใน New Retail หรือห้างฯ แนวใหม่ยังผนวกระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) ในการชำระเงิน หรือการใช้หุ่นยนต์ปรุงอาหาร/เครื่องดื่มแบบ customized ให้ลูกค้าเป็นรายคน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการจัดการดาต้าเป็นพื้นฐาน ซึ่งรีเทลไทยต้องวิ่งตามให้ทัน!!