ต่อยอดความฝัน FoodTech โปรแกรม SPACE-F ดัน 23 ทีมสตาร์ทอัพไทย-เทศไประดับโลก

เปลี่ยนกลยุทธ์จากโตเดี่ยวเป็นโตหมู่ เมื่อ TU-ไทยยูเนี่ยน ปรับศูนย์นวัตกรรมของตนเองเป็นพื้นที่วิจัยและพัฒนาของสตาร์ทอัพในโปรแกรม SPACE-F ร่วมสนับสนุนโดย NIA-ม.มหิดล คัดเลือกสตาร์ทอัพเฉพาะสาย FoodTech ร่วมโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโต 23 ทีม ด้วยจุดหมายให้ไทยเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมด้านอาหารออกสู่ทั่วโลก

ยุคสมัยที่การโตให้ไวต้องอาศัยไอเดียจากภายนอก ทำให้ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU แปลงศูนย์นวัตกรรมของบริษัทที่ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อ 6 ปีก่อน เปิดรับสตาร์ทอัพมาร่วมโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งการเติบโต SPACE-F

งานนี้เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่ายคือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) , ไทยยูเนี่ยน และ ม.มหิดล ที่ให้การสนับสนุนแบบสามประสาน โดย NIA ในฐานะหน่วยงานรัฐเป็นผู้เปิดโอกาสเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ และให้คำปรึกษาด้านขั้นตอนราชการและกฎหมาย ส่วนไทยยูเนี่ยนในฐานะบริษัทเอกชนที่ขยายตลาดไปทั่วโลก จะให้การสนับสนุนทุนตั้งต้น (Initiative Fund) ด้านการตลาด พัฒนางานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ขณะที่ ม.มหิดล คือผู้สนับสนุนพื้นที่ เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากร และโอกาสเข้าถึงฐานข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย

หลังจากเปิดรับสมัคร Batch 1 มีผู้สมัคร 142 ทีมทั่วโลก คณะกรรมการได้คัดเลือกจนเหลือ 23 ทีมสุดท้าย แบ่งเป็นทีมประเภทบ่มเพาะนวัตกรรม (incubator) 12 ทีม ซึ่งจะได้ร่วมโปรแกรมนาน 15 เดือน และประเภทเร่งผลักดันความสำเร็จ (accelerator) 11 ทีม ร่วมโปรแกรมนาน 8 เดือน

ผลักดันไทยเป็นแหล่งนวัตกรรมอาหาร

ที่กล่าวว่า ‘ทั่วโลก’ นั้นเป็นเพราะ SPACE-F มีทีมจากประเทศอื่นๆ เข้าร่วมด้วย ได้แก่ สิงคโปร์ อินเดีย สหรัฐฯ เยอรมนี และนอร์เวย์ โดย “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการ NIA กล่าวถึงภาพรวมด้าน FoodTech ของไทยว่ามีสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ราว 150 บริษัท แต่ส่วนใหญ่หลักร้อยบริษัทเป็นกลุ่มแพลตฟอร์มให้บริการ ขณะที่สตาร์ทอัพสาย Deep Technology คือเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่จากงานวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยีนั้นมีเพียงหลักสิบ ซึ่งน้อยเกินไปและทำให้การส่งเสริมด้าน FoodTech ต้องเปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพทั่วโลก

ศูนย์นวัตกรรม SPACE-F บนตึก N คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีจุดแข็งที่ทำให้สตาร์ทอัพต่างชาติสนใจ เพราะไทยมีบริษัทด้านอาหารขนาดใหญ่ระดับโลกอยู่หลายบริษัท และเริ่มปรับตัวมาตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอลให้ทุนกับสตาร์ทอัพ รวมถึงในประเทศเป็นแหล่งซัพพลายเชนวัตถุดิบพร้อมกับตลาดขนาด 70 ล้านคนที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นสเกลอัพได้

ฟาก “ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ” ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ฉายภาพระดับโลกว่า ประเทศไทยไม่ได้น้อยหน้าใครด้าน FoodTech เพราะสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ในโลกเช่นกัน

“FoodTech เราไม่ได้ล้าหลังนะเพราะมันใหม่มาก และเป็นงานที่ต้องใช้เวลาสูง ทำให้ทุกคนก็เพิ่งเริ่ม พอเราเปิดรับสมัครโปรแกรมนี้ทำให้เห็นเลยว่าจริงๆ คนไทยเรามีไอเดียเยอะ เพียงแต่ยังมีจุดอ่อนคือสตาร์ทอัพไทยยังไม่มองไปไกลกว่าประเทศไทย ซึ่งเราจะนำมุมมองระดับโลกของ TU เข้าไปทำให้เขาเห็นว่า คู่แข่งเขาไม่ได้อยู่ข้างๆ แต่อยู่ทั่วโลก” ดร.ธัญญวัฒน์ ให้มุมมองต่อโครงการนี้

ThaanThai หนึ่งในสตาร์ทอัพประเภทบ่มเพาะ เป็นสตาร์ทอัพอาหารสตรีทฟู้ดไทยที่ผลิตด้วยโปรตีนจากพืช

ใน 23 ทีมที่ติด Batch 1 ของ SPACE-F กลุ่มบ่มเพาะนวัตกรรมนั้นมีหลายบริษัทที่อยู่ในระดับ ‘pre-seed’ คือมาพร้อมไอเดียและงานวิจัยตั้งต้นโดยยังไม่มีสินค้าหรือการระดมทุนใดๆ มาก่อนเลย สะท้อนให้เห็นความตั้งใจของโปรแกรมที่จะช่วยเหลือสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ให้ตั้งไข่

“เราหวังว่าพวกเขาจะเกิด success story เพื่อให้นักวิจัยอยากจะต่อยอดงานให้เกิดเป็นธุรกิจจริงๆ” รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวเสริม

สตาร์ทอัพใน SPACE-F ที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น EAT Straw หลอดรับประทานได้จากข้าวสาลี, Phum Meal เทคโนโลยีปลูกผำ/ไข่น้ำ ซูเปอร์ฟู้ดผักที่มีโปรตีนสูง, HydroNeo ระบบ IoT สำหรับฟาร์มกุ้ง, JuiceInnova8 เทคโนโลยีลดน้ำตาลในน้ำผลไม้, Khaisook ไข่ขาวพร้อมทานเจาะกลุ่มผู้ป่วย เป็นต้น

TU มองไกลกว่าเรื่องซีฟู้ด

แล้วฝั่งไทยยูเนี่ยนได้อะไรจากการสนับสนุนสตาร์ทอัพเหล่านี้ที่เห็นได้ว่า ไม่ได้เจาะจงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทยยูเนี่ยน

ดร.ธัญญวัฒน์บอกว่า โครงการนี้ไม่ได้มุ่งเป้าเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับปัจจุบันของไทยยูเนี่ยน เพราะบริษัทมองไกลไปในอนาคตอยู่แล้วว่าวันหนึ่งอาหารทะเลอาจจะไม่เพียงพอและคนต้องมองหาโปรตีนทดแทนอื่นๆ

“เราอยากเป็นตัวกลาง อนาคตจะชวนรายอื่นๆ มาร่วมสนับสนุนโครงการ และมองแหล่งทุนจากทั่วโลกให้มาร่วมลงทุนในไทย”

ก่อนหน้านี้ไทยยูเนี่ยนเพิ่งประกาศจัดตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอลมูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ 3 ด้าน คือ โปรตีนทางเลือก อาหารฟังก์ชั่น และเทคโนโลยีห่วงโซ่คุณค่า และเริ่มลงทุนครั้งแรกกับบริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค จากอิสราเอล เป็นบริษัทพัฒนาการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแมลงกินผลไม้สำหรับเป็นโปรตีนทางเลือก

โครงการ SPACE-F จะเปิดรับสมัครอย่างต่อเนื่องเมื่อ Batch ก่อนหน้าจบโปรแกรม ดังนั้นจะเปิดรับสมัครใหม่ทุก 8-15 เดือน สตาร์ทอัพไทยที่ต้องการพัฒนาวงการเทคโนโลยีอาหารสามารถเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับโอกาสทะยานสู่อนาคต