เชนโรงแรมอินเดีย “OYO” บุกไทยอย่างเป็นทางการ ซุ่มทำตลาด 8 เดือนกวาดพอร์ตแล้ว 8,000 ห้อง

สตาร์ทอัพรับบริหารโรงแรมระดับโลก “OYO” เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ หลังเข้าตลาด 8 เดือนเซ็นดีลรับบริหารแล้ว 250 แห่ง รวม 8,000 ห้อง วางโมเดลธุรกิจเจาะโรงแรมขนาดเล็กในราคาบัดเจ็ทโฮเทล

สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่กำลังมาแรงอย่าง OYO ในที่สุดก็เข้าเปิดตัวในประเทศไทยหลังจากลงตลาดไปแล้วมากกว่า 80 ประเทศ และสร้างปรากฏการณ์การเติบโตของธุรกิจโรงแรมที่เร็วที่สุดในโลก นับจากเดือนธันวาคม 2017 บริษัทนี้รับบริหารโรงแรมอยู่ 53,000 ห้อง ภายในเดือนกันยายน 2019 ตัวเลขนั้นพุ่งทะยานไปถึง 1 ล้านห้อง และกลายเป็น แบรนด์ที่มีโรงแรมในเครือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ภายในระยะเวลาหลังก่อตั้งเพียง 6 ปี

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ OYO เข้ามาเปิดตลาดต่อจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดย “อชูโตช สิงห์” ผู้อำนวยการบริหาร ประจำประเทศไทย OYO เปิดเผยว่าหลังจากเข้าสู่ตลาด 8 เดือน ปัจจุบันแบรนด์มีโรงแรมในเครือแล้ว 8,000 ห้อง จาก 250 โรงแรม กระจายอยู่ใน 13 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ เชียงราย ตราด สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น เป็นต้น

สตาร์ทอัพผู้ดิสรัปต์วงการ

โมเดลธุรกิจรับบริหารโรงแรมของ OYO ที่เข้ามาดิสรัปต์วงการคือการเลือกจับกลุ่มฐานพีระมิด นั่นคือกลุ่มโรงแรมขนาดเล็กต่ำกว่า 100 ห้องต่อแห่งและอยู่ในกลุ่มราคาบัดเจ็ทโฮเทล รวมถึงเป็นระบบแบบแฟรนไชส์ที่เข้าไปฝึกบุคลากรของโรงแรมที่มีอยู่เดิมให้ทำงานตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยบริษัทเพียงแต่มีผู้จัดการพื้นที่คอยดูแลห่างๆ

โรงแรม OYO ในไทย (photo: oyorooms.com)

สิ่งเหล่านี้ต่างจากเชนโรงแรมยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมที่มักเลือกรับบริหารโรงแรมขนาดกลาง หรือถ้าเป็นขนาดเล็กก็จะเป็นโรงแรมแบบบูทิคโฮเทลที่ได้ราคาดี รวมถึงการบริหารงานจะว่าจ้างบุคลากรภายใต้การควบคุมโดยตรงของเชนโรงแรมนั้นๆ

ดังนั้น OYO จึงเป็นการจับเป้าหมายตลาด B2B ที่เป็นรายย่อย โรงแรมหลายแห่งที่แบรนด์นี้บริหารอยู่มีจำนวนห้องเพียงหลักสิบ และระบบแฟรนไชส์ทำให้ขยายตัวได้เร็วกว่าการเข้าบริหารเองโดยตรง

(จากซ้าย) อชูโตช สิงห์ ผู้อำนวยการบริหาร ประจำประเทศไทย OYO , อัลปานา ดูเบ อุปทูต ณ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ มัณดา ไวดิย่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง OYO

“มัณดา ไวดิย่า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง OYO เสริมด้วยว่า การที่บริษัทสามารถประเมินโรงแรมที่จะเข้าบริหารได้เร็ว และบริหารแบบแฟรนไชส์ได้ เพราะบริษัทใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลัก

ตัวอย่างเช่น การตรวจโรงแรมของออดิทก่อนจะเสนอแผนและสัญญาดำเนินงานนั้น บริษัทใช้แอปพลิเคชั่นมือถือในการตรวจตามคีย์ที่วางเอาไว้และระบบจะประเมินแผนงานออกมาอัตโนมัติ ทำให้ออดิทของบริษัททำงานด้านสัญญารับบริหารได้เร็วกว่าระบบเชนโรงแรมดั้งเดิมถึง 10 เท่า

ส่วนการบริหารโรงแรม บริษัทมีแพลตฟอร์มสำเร็จรูป OYO Os ที่ใช้บริหารแบบ end-to-end ตั้งแต่รับจองห้อง เช็กประวัติลูกค้า สั่งงานและตรวจงานทำความสะอาด รับออเดอร์อาหาร จัดการการเงิน จนถึงวิเคราะห์ดาต้าทั้งหมดของโรงแรม

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแพลตฟอร์มจองออนไลน์ของตนเองทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น แม้ว่าจะไม่ได้ปิดกั้นการปล่อยห้องขายบน OTA (Online Travel Agency) อื่นๆ แต่พบว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ผู้เข้าพักจะจองผ่านระบบของ OYO มากกว่า 80%

ช้อนโรงแรมในภาวะวิกฤตเข้าระบบ

OYO ยังวางกลุ่มเป้าหมายของตัวเองเป็นโรงแรมเล็กๆ ที่อยู่ในภาวะซบเซา โดยบริษัทจะเข้าไปวางแผนปรับโฉมโรงแรมให้เป็นไปตามมาตรฐานและขึ้นป้ายแบรนด์ เช่น ทาสีใหม่ เปลี่ยน amenities ในห้องพัก เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งถ้าเจ้าของโรงแรมไม่พร้อมลงทุน OYO พร้อมจะร่วมลงทุนด้วยในการปรับโฉม

เมื่อพาร์ตเนอร์กับ OYO บริษัทจะเข้าติดตั้งป้ายแบรนด์โรงแรม (photo: oyorooms.com)

จากนั้นจะเป็นการลงระบบ OYO Os ให้ใช้บริหาร ซึ่งจะปรับราคาขึ้นลงตามภาวะตลาดตามที่ระบบ OYO ประเมินด้วยการเก็บดาต้าพอยท์ต่างๆ เช่น ราคาและจำนวนห้องพักว่างในทำเลเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา และในภาพใหญ่นั้นบริษัทจะสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มผู้เข้าพัก

เหล่านี้แลกกับสัญญาบริหารระยะ 1-5 ปีพร้อมค่าคอมมิชชั่นที่เจ้าของจ่ายให้บริษัทตามรายได้ที่เกิดขึ้นจริง

“เราให้องค์ความรู้ในการบริหารราคาให้ตรงกับตลาด ทำให้โรงแรมเล็กๆ ปรากฏบนแพลตฟอร์มการขายออนไลน์มากขึ้น และทำให้โรงแรมมีมาตรฐาน” อชูโตชกล่าว “เราเก็บค่าคอมมิชชั่นจากรายได้ที่เข้ามา ดังนั้นรายได้ยิ่งมาก ทุกคนก็ยิ่งได้มาก เราจึงเป็นพาร์ตเนอร์ที่เติบโตไปพร้อมกัน”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า OYO จะมีแต่ข้อดี สำนักข่าว Skift รายงานถึงแบรนด์ OYO ในสหรัฐอเมริกาว่าสร้างความปวดหัวให้ผู้จัดการไม่น้อย แม้ว่าจะทำให้รายได้โรงแรมเพิ่มขึ้นและมีแขกเข้าพักมากขึ้นจริง แต่ระบบ Os ทำงานได้ไม่ดีนัก ทำให้เกิดภาวะ Overbooking บ่อยครั้ง รวมถึงแบรนด์ใช้กลยุทธ์ตัดราคาซึ่งบางครั้งถูกลงมากจนมีแขกที่ไม่พึงประสงค์เข้าพัก

ในไทยนั้น Positioning สำรวจราคาจองออนไลน์ของโรงแรม OYO ประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงราคา 400-700 บาทต่อคืน และมีบางแห่งที่ลงไปต่ำสุดที่ 280 บาทต่อคืน

ตลาดบัดเจ็ทโฮเทล 1 ล้านห้อง

อชูโตชกล่าวต่อว่า บริษัทประเมินว่าประเทศไทยมีตลาดบัดเจทโฮเทลอยู่ประมาณ 30,000-50,000 แห่ง จำนวนรวมมากกว่า 1 ล้านห้องทั่วประเทศ ซึ่งอาจเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทได้ในอนาคต ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่ที่บริษัทตัดสินใจเข้าสู่ประเทศไทยเป็นอันดับ 5 ในภูมิภาคนี้ทั้งที่ขนาดตลาดน่าสนใจ เพราะผู้ประกอบการไทยมีความรู้ในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้วและเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ OYO ต้องคิดโมเดลธุรกิจอย่างละเอียดขึ้นเพื่อจะเจาะตลาด

แม้จะไม่ยอมปริปากบอกเป้าหมายที่ชัดเจน แต่มัณดาแย้มว่า OYO ต้องการเป็นเชนโรงแรมชั้นนำในไทย ซึ่งหากจะติดอันดับต้นๆ ได้ต้องขยายพอร์ตไปถึง 30,000-40,000 ห้องให้ได้ในเร็ววัน