MAJOR 2025 มุ่งสู่ 2 หมื่นล้านไม่หวั่นดิสรัปชั่น บุกเปิดโรงหนังครบ 77 จังหวัดทั่วไทย

หลังจากบรรดาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างบุกหนักเข้าสู่ประเทศไทย ใครๆ ต่างคาดคะเนว่าโรงภาพยนตร์จะเป็นอุตสาหกรรมต่อไปที่ถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยี แต่ปีนี้เมเจอร์เครือโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดยืนยันว่าไม่มีผล! พร้อมประกาศแผนยาวถึงปี 2025 บุกเปิดโรงหนังครบ 77 จังหวัด ลุยลงทุนคอนเทนต์ส่งออกต่างประเทศ

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นหนึ่งในผู้บริหารบริษัทไทยจำนวนไม่มากที่ยังยิ้มได้ในนาทีนี้ ด้วยผลประกอบการรอบ 9 เดือน/2562 ของเมเจอร์ที่ทำได้ 8,354 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 15% แม้ว่าบรรทัดสุดท้าย กำไรสุทธิ 906 ล้านบาทนั้นจะลดลง 11.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม วิชายังมั่นใจในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อีกเรื่องคือ Frozen 2 เข้าฉาย รวมถึงหนังไทยอีก 2 เรื่องที่น่าจะเรียกกระแสผู้ชมเข้าโรงได้มาก

วิชาสรุปการดำเนินงานปี 2562 เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีบริษัทจะทำรายได้เติบโต 15% หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาท และมีการขยายโรงหนังเมเจอร์รวมทั้งสิ้น 169 สาขา 810 โรง 183,958 ที่นั่ง ตัวเลขเหล่านี้จะทำให้เมเจอร์ได้รับรายได้ทั้งค่าตั๋ว ค่าโฆษณา และค่าอาหารเครื่องดื่มที่จำหน่ายหน้าโรงเพิ่มขึ้นตามการลงทุน

MAJOR 2025 ไปให้ครบทุกจังหวัด

วิชายังกล่าวต่อถึงแผนบริษัท MAJOR 2025 ที่คาดว่าจะทำให้รายได้ขึ้นไปแตะ 2 หมื่นล้านบาท โดยมีกลยุทธ์หลักๆ คือ การขยายโรงภาพยนตร์สู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ, เทคโนโลยี และร่วมทุนสร้างคอนเทนต์ภาพยนตร์

สำหรับจำนวนโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ตั้งเป้าไปให้ถึง 1,200 โรง ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย เริ่มต้นจากปี 2020 จะเปิดเพิ่ม 30 โรง ไปกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น เมเจอร์ ซีนีมา โลตัส หาดใหญ่ สงขลา, เมเจอร์ ซีนีมา Mark 4 แพร่, เมเจอร์ ซีนีมา โลตัส พะเยา เป็นต้น

ปัจจุบันเมเจอร์เปิดโรงหนังไปแล้ว 60 จังหวัด บางจังหวัดลงไปถึงระดับตำบล อีก 17 จังหวัดที่บริษัทยังไม่มีการก่อตั้งสาขา ได้แก่ แม่ฮ่องสอน แพร่ กาฬสินธุ์ บึงกาฬ เลย สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท อุทัยธานี นครนายก สมุทรสงคราม ตราด ภูเก็ต ตรัง ยะลา นราธิวาส ปัตตานี

“วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

เรามี lesson learn มาแล้วว่าการทำโรงหนังต่างจังหวัดต้องต่างจากกรุงเทพฯ คือต้องทำโรงไซส์เล็ก ลงทุนโรงละ 6 ล้านบาท เป็นงบครึ่งหนึ่งของโรงลักชัวรีในกรุงเทพฯ เช่นที่ไอคอนสยามมีการลงทุนโรงละ 10-12 ล้านบาท และสาขาต่างจังหวัดลง 1-3 โรงต่อสาขาก็เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนลูกค้า วิชาแจกแจง

กลยุทธ์บุกต่างจังหวัดด้วยโรงหนังเล็กเป็นสิ่งที่เมเจอร์ดำเนินการมาพักใหญ่ ซึ่งปีนี้วิชากล่าวว่ารายได้จากโรงต่างจังหวัดจะเริ่มพลิกกลับมามากกว่ารายได้จากโรงหนังในกรุงเทพฯ ต่างจากในอดีตที่รายได้จากโรงต่างจังหวัดคิดเป็น 30% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังสนใจเปิดโรงหนังในต่างประเทศเพิ่ม จากปัจจุบันบุกสู่ สปป.ลาว และกัมพูชาไปแล้วรวม 8 สาขา 39 โรง วิชามองเป้าหมายต่อไปเป็นเมียนมาที่มีประชากรมากกว่าไทยและตลาดยังเป็นโรงหนังแบบสแตนด์อะโลน แต่ต้องรอความพร้อมของรัฐเมียนมา พาร์ทเนอร์เจ้าของที่ดินหรือศูนย์การค้า และความซับซ้อนทางกฎหมาย

MAJOR 5.0 คว้าทุกเทคโนโลยีเอาใจลูกค้า

กลยุทธ์ต่อมาคือการใช้เทคโนโลยีสร้างทั้งความสะดวก คุณภาพ ความตื่นตาตื่นใจแปลกใหม่ให้ลูกค้า โดยความสะดวกที่สำคัญคือขั้นตอนซื้อตั๋ว เมเจอร์ต้องการเป็นโรงหนัง ‘Mobile First’ ให้แอพพลิเคชั่นสามารถจองตั๋ว จ่ายค่าตั๋วเชื่อมได้ทุกระบบเพย์เมนท์ และรับตั๋วในแอพฯ เดินเข้าโรงได้เลย ซึ่งเมเจอร์จัดการหลังบ้าน เชื่อมต่อข้อมูลสู่ระบบคลาวด์โดย AWS ไปแล้วเพื่อรับรองว่าระบบจะไม่ล่มแม้มีคนเข้าจองล้นหลาม

โรงหนัง e-Sports Cinema ของเมเจอร์

หลังรับตั๋วแล้วตัวโรงหนังเองก็ต้องมีนวัตกรรมทันสมัย ที่ผ่านมาเมเจอร์มีการพัฒนาโรงหนังที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดหรือเป็นโรงหนังเฉพาะกลุ่มมาตลอด เช่น โรง 4DX , จอหนังแบบ LED ให้ความละเอียด 4K, โรงสำหรับเด็ก Kids Cinema, โรง e-Sports Cinema ซึ่งเมเจอร์จะยังดำเนินการต่อเนื่อง ในปีหน้าจะมีการฉายหนังแบบ GLS (Giant Laser Screen) จอใหญ่พิเศษความชัดระดับ 4K พร้อมระบบเสียง 3 มิติรอบทิศทาง ลงทุนใน 6 สาขา คือ เอสพลานาด งามวงศ์วานแคราย, เมกา ซีนีเพล็กซ์, พรอมานาด ซีนีเพล็กซ์, เมเจอร์ฯ บางแค, เมเจอร์ฯ รังสิต และ โคราช ซีนีเพล็กซ์

เราต้องทำให้คนรู้สึกว่าการออกมาดูหนังนอกบ้านมีความสุข ถ้าลูกค้าต้องต่อคิวจะทำให้การมาดูหนังเป็นความลำบากวิชากล่าว สิ่งที่เราต้อง concern ไม่ใช่สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเพราะถ้าจะดูหนังก่อนใครยังต้องมาที่โรงหนัง เรื่องที่ต้องระวังคือไลฟ์สไตล์คนมากกว่า ที่น่ากลัวคือคนไม่ออกจากบ้าน ดังนั้น การเดินทางมาดูหนัง 3-4 ชั่วโมงของลูกค้าต้องคุ้มค่า

คอนเทนต์แหล่งรายได้สำคัญ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เมเจอร์กำลังปั้นอย่างเต็มที่คือคอนเทนต์โดยวางนโยบายจับมือพันธมิตรสร้างภาพยนตร์ปีละ 15-20 เรื่อง ที่ลงจอไปแล้วเช่น ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก, แสงกระสือ, เฟรนด์โซน, นาคี 2 จะเห็นได้ว่าบริษัทเปิดกว้างจับมือกับทุกบริษัทที่สนใจ และเริ่มเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างประเทศแล้วทั้งค่ายหนังจากจีน หรือล่าสุดจับมือค่าย CJ ของเกาหลีใต้เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่อง Cracked

วิสัยทัศน์ที่วิชามองเห็นคือ แม้ว่าปีนี้ภาพยนตร์ทั้ง 15 เรื่องที่เมเจอร์มีหุ้นส่วนอยู่ 20% รวมแล้วเพิ่งถึงจุดคุ้มทุน และมีสัดส่วน 5-10% ในรายได้รวมบริษัท แต่ในปี 2025 เชื่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 15-20% ในรายได้รวม และเห็นโอกาสการขายทั้งในไทยและต่างประเทศ

คอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยที่เมเจอร์มีส่วนร่วมเป็นผู้ถือหุ้น

ปัจจุบันเมเจอร์มีรายได้จากหนังที่เข้าฉาย เป็นหนังไทย 25% เท่านั้น เราต้องการผลักดันให้ไปถึง 50% แปลว่าหนังไทยควรจะมีฉายปีละอย่างน้อย 52 เรื่องหรือเฉลี่ยเข้าโรงสัปดาห์ละครั้ง และต้องมีคุณภาพ โดยมีงบลงทุนเฉลี่ย 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเรื่อง

นอกจากตลาดไทยแล้วหนังไทยสามารถเข้าฉายโรงเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะ CLMV ที่ตอบรับวัฒนธรรมไทย แต่จะได้รับรายได้เพิ่มต้องเจรจาสัญญาใหม่ จากเดิมที่เป็นระบบ ‘Flat Fee’ คือจ่ายเงินก้อนมูลค่าต่ำเพื่อซื้อสิทธิ์ขาด เป็นระบบ ‘Revenue Share’ แบ่งเปอร์เซ็นต์จากค่าตั๋วที่ขายได้จริงซึ่งมีโอกาสทำรายได้มากกว่า รวมถึงการเปิดแหล่งรายได้ใหม่จาก การขายเข้าสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม เช่น Netflix, ช่องโทรทัศน์, ความบันเทิงบนสายการบิน ซึ่งขณะนี้หนังไทยสามารถเรียกค่าลิขสิทธิ์จาก Netflix ได้เฉลี่ยเรื่องละ 5-6 แสนเหรียญสหรัฐฯ บางเรื่องสูงถึง 1 ล้านเหรียญ

ขณะที่เป้าหมายใหญ่ของวิชาในการทำตลาดคอนเทนต์คือ ฝ่ากำแพงเมืองจีน ด้วยตลาดภาพยนตร์จีนมูลค่าสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท จากหนังที่เข้าฉายปีละ 700 เรื่อง ทำให้เมเจอร์ต้องการจะส่งคอนเทนต์เข้าไปบ้าง โดยเริ่มต้นแล้วจากการจับมือพันธมิตรค่ายหนังจีน จะทำให้หนังที่เมเจอร์มีหุ้นส่วนได้บัตรผ่านเข้าไปฉายในจีนง่ายกว่าการเข้าไปในฐานะหนังไทยตามระบบเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน

2025 ของเมเจอร์จึงจะเป็นทั้งผู้ผลิต จัดจำหน่าย และหน้าร้านวางขายของวงการภาพยนตร์!!