CRG ปั้นแบรนด์ “อร่อยดี” ลงสนามสตรีทฟู้ด ท้าชน “เขียง” จากค่าย ZEN

CRG วางแผนยาว 5 ปีเปิด 300 สาขาร้าน “อร่อยดี” ด้วยระบบแฟรนไชส์ ดีล SME ร้านสตรีทฟู้ดเจ้าดังส่งเมนูขายพ่วงในร้าน แย้มศึกษาแนวทางพัฒนา “คลาวด์ คิทเช่น” เป็นศูนย์ส่งอาหารจับตลาดเดลิเวอรีมาแรง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เพิ่งประกาศตั้งร้านแบรนด์ใหม่ที่พัฒนาเองคือ “อร่อยดี” (Aroi Dee) เป็นร้านอาหารแนวสตรีทฟู้ดเจาะตลาดแมสด้วยราคาเริ่ม 65 บาทจนถึง 100 กว่าบาท มีเมนูชูโรงคือ “ข้าวผัดกะเพรา” โดยวางแผนการขยายตัวตามชุมชน เช่น สถานีน้ำมัน ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านไทวัสดุ ส่วนรีเทลของคอนโดมิเนียม และขายแบบ “ไฮบริด” คือมีทั้งสั่งทานในร้านและเดลิเวอรี

มาถึงช่วงโค้งท้ายปี “ณัฐ วงศ์พานิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์จี ประกาศความคืบหน้าว่าร้านอร่อยดีไปได้สวย ใน 12 สาขาที่เปิดตัวทำยอดขายได้ 8 แสน-1.2 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน ทำให้บริษัทวางเป้าปีนี้จะเปิดร้านอร่อยดีให้ครบ 15 สาขา จากเมื่อต้นปีตั้งเป้าเปิดเพียง 5 สาขา และมีแผนระยะยาวต่อเนื่อง ปี 2563 จะขยายไปถึง 50 สาขา พร้อมปั้นอัตรากำไรเพื่อใช้จูงใจพาร์ตเนอร์เนื่องจากบริษัทจะขยายด้วยระบบแฟรนไชส์ วางเป้า 300 สาขาทั่วไทยภายใน 5 ปีข้างหน้า หวังรายได้ 2 พันล้านบาท

หน้าร้านแบรนด์อร่อยดี

ขนสตรีทฟู้ดดังส่งเมนูขายร่วมในร้าน

นอกจากจะมีเมนูยืนพื้นของตัวเอง เช่น ผัดกะเพรา ผัดซีอิ๊ว สปาเก็ตตี้ อร่อยดียังมีโมเดลให้ร้านสตรีทฟู้ดอื่นๆ ส่งเมนูเข้ามาขายในร้านได้ด้วย โดยปัจจุบันเซ็นสัญญากันแล้ว 2 รายคือ โจ๊กกองปราบ และ หมูทอดประมวญ และอยู่ระหว่างพูดคุยกับสตรีทฟู้ดอื่นๆ อีก 5-10 ราย

ณัฐอธิบายว่า ลักษณะดีลแต่ละเจ้าจะต่างกันไป แต่คอนเซ็ปต์คือการขอซื้อสูตรและ/หรือวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารขายในร้านอร่อยดี โดยยังมีชื่อแบรนด์ของเจ้าของสูตรบนเมนู และร้านจัดการขายให้ทั้งแบบทานที่ร้านและจัดส่งเดลิเวอรี

โดยเชื่อว่าโมเดลของอร่อยดีจะช่วยแก้ pain point ให้ร้านท้องถิ่นชื่อดังแต่อาจไม่มีกำลังพอที่จะขยายสาขาเอง สามารถใช้ช่องทางนี้แทนได้ ส่วนการแบ่งรายได้-กำไรขึ้นอยู่กับสัญญา มีทั้งแบบคิดค่า loyalty fee เพื่อซื้อสูตร ค่าคอมมิชชั่นต่อหน่วยที่ขายได้ และสัญญาจัดซื้อวัตถุดิบ หรือผสมผสานกัน

บรรยากาศร้านอร่อยดี (photo: Facebook@AroiDeeRestaurant)

ต่อยอดสู่คลาวด์ คิทเช่น

CRG ยังมีแผนต่อยอดจากการรวมเมนูจากหลายเจ้าเข้ามาไว้ในร้านอร่อยดี คือการเปิด “คลาวด์ คิทเช่น” ของตัวเอง โมเดลคล้ายกับ Grab Kitchen ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ นั่นคือการลงทุนทำครัวกลางสำหรับให้ร้านต่างๆ เข้ามาทำอาหารส่งผ่านบริการเดลิเวอรีโดยเฉพาะ จึงไม่ต้องมีหน้าร้านหรือที่นั่ง

โดยคลาวด์ คิทเช่นในแบบ CRG มองว่าจะลงทุนราว 2-3 ล้านบาทต่อแห่งเพื่อรองรับร้านอาหารได้มากกว่า 10 สเตชั่น เปิดให้ร้านดังเข้ามาใช้เป็นศูนย์ส่งอาหารทั้งแบบส่งผ่านเดลิเวอรีและ Click & Collect คือให้ผู้บริโภคสั่งอาหารล่วงหน้าแล้วเข้ามารับเอง ส่วนการดีลกับร้านดังอาจมีทั้งโมเดลให้เช่าที่และร้านส่งบุคลากรเข้ามาบริหารเอง หรือโมเดลเดียวกับอร่อยดีคือซีอาร์จีซื้อสูตรเข้ามาและมีแม่ครัวทำอาหารให้

ผู้บริหารซีอาร์จี: (จากซ้าย) ธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ, ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาด และ ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่

“คลาวด์ คิทเช่น มีโอกาสมาก เพราะปัจจุบันบริการจัดส่งอาหารเช่น Grab จะให้บริการในรัศมี 5 กิโลเมตรเป็นหลัก ดังนั้นต้องมีฮับให้ทั่วกรุงเทพฯ คิดว่ามีโอกาสขยายได้นับร้อยจุด” ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาด ซีอาร์จี กล่าว

สตรีทฟู้ด+เดลิเวอรี โอกาสทองแห่งยุค

ทิศทางของ CRG ที่หันมาเน้นอาหารสตรีทฟู้ดผนวกกับเดลิเวอรีเช่นนี้เกิดจากการเติบโตของทั้งสองกลุ่ม โดยณัฐให้ข้อมูลว่า ตลาดอาหารประเภทสตรีทฟู้ดของไทยมีมูลค่าประมาณ 2.7 แสนล้านบาท และเติบโตดีจากบริการเดลิเวอรีที่ช่วยให้ลูกค้าสั่งอาหารง่ายขึ้น

การเติบโตของอาหารเดลิเวอรียังวัดได้จากยอดขายของ CRG ปีนี้คาดว่าจะมียอดขายผ่านเดลิเวอรีมากกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 300% และคิดเป็นสัดส่วน 6% ของยอดขายรวม (*ทั้งหมดไม่รวมยอดขายจาก KFC) และณัฐเชื่อว่าสัดส่วนนี้อาจขึ้นไปถึง 20% ได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

เทรนด์การเปิดเชนร้านอาหารแบบสตรีทฟู้ด เน้นอาหารทั่วไปที่ทานง่ายและเร็วนั้นกลายเป็นขุมทองใหม่ที่เครือร้านอาหารใหญ่ๆ เข้ามารุมชิงเค้ก เช่น เซ็นกรุ๊ปที่ผลักร้าน “เขียง” เข้าตลาดเมื่อปลายปีก่อนและวางแผนขยายเป็น 1,000 สาขาภายใน 5 ปี หรือ เอ็มเคกรุ๊ปที่เริ่มชิมลางกับ Bizzy Box ไปแล้ว 4 สาขา