ถอด 4 ประเด็นสำคัญที่ SME ต้องรู้จากงาน TMB SME Industry Forum 2019 เสริมไอเดียให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างแข็งแรง


เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในยุคนี้ที่มี Digital เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เรียกว่าเข้ามา Disrupt ธุรกิจให้มีความท้าทายมากขึ้นไปอีก ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ต้องมีการปรับตัว และเสริมศักยภาพให้มากขึ้นไปอีก ไม่สามารถหยุดนิ่งได้อีกต่อไป

ในประเทศไทยขึ้นชื่อว่าขับเคลื่อนด้วยธุรกิจ SME มีผู้ประกอบการ SME เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การแข่งขันในโลกธุรกิจที่รุนแรงทำให้เป็นข้อจำกัดในการสร้างการเติบโตให้ SME และเป็นความท้าทายอย่างมาก ต้องมีการปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างแข็งแกร่งแต่ด้วยธรรมชาติของผู้ประกอบการ SME อาจจะมีเงินลงทุนไม่มาก หรือมีประสบการณ์น้อย จึงจำเป็นต้องมี “กูรู” เพื่อให้คำแนะนำ เพื่อเสริมศักยภาพต่อไปในอนาคต

ซึ่ง TMB ได้มุ่งเน้นเรื่องการศึกษา และทำความเข้าใจความต้องการของ SME ในทุกๆ แง่มุม เพื่อสามารถนำเสนอโซลูชันและบริการที่ตอบโจทย์ Pain Point และช่วยให้ SME สามารถเติบโตและต่อยอดได้อย่างเต็มศักยภาพ ล่าสุดได้จัดงานสัมมนา “TMB SME Industry Forum 2019 เสริมศักยภาพรอบด้าน ให้เอสเอ็มอีก้าวไกลได้มากกว่า”

ภายในงานโดยเชิญกูรูมาให้ความรู้ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักได้แก่ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง, อุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมผู้ค้าส่ง และอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศทั้งสิ้น ความน่าสนใจของงานนี้อยู่ที่องค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการให้ตรงกับ Need and Pain ของแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้นกูรูเรียนเชิญมาเพื่อถ่ายถอดประสบการณ์ล้วนแล้วเป็นผู้คว่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนาน

จัดการสต็อกบวมให้ผู้ค้าส่ง

นายพรเทพ เหลือทรัพย์สุข ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงกระบวนการทำงานและเพิ่มผลผลิต มาให้ความรู้ต่อเนื่องเรื่องระบบการจัดการที่ดีหรือ Lean ในหัวข้อ “ตอบโจทย์ปัญหาสต๊อก ด้วยเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพให้ SME” พร้อมวิธีจัดการสต๊อกบวมสำหรับ Pain Point ของธุรกิจค้าส่งอยู่ที่ “กำไรส่วนต่างน้อย” เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงมักซื้อสินค้ามาตุน เพื่อให้ต้นทุนธุรกิจถูกที่สุด จนเกิดปัญหาสต๊อกบวม

พรเทพได้บอกกฎสำคัญ 3 ข้อคือ

1.ต้องดูแลสินค้าตามมูลค่า สินค้าราคาแพงต้องเข้มงวดในการดูแลสต๊อกมากกว่าสินค้าราคาถูก

2.การจัดสินค้าที่ขายบ่อยต้องจัดพื้นที่ให้อยู่ใกล้จุดจ่ายมากที่สุดเพื่อลดการเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น

3. การคำนวณสินค้าที่ควรจัดเก็บ และการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Visual Control เพื่อจะสามารถรู้ได้ทันทีว่าสินค้าตัวใดควรสั่งเพิ่ม หรือ ยังไม่ต้องสั่งเพิ่ม

ถอดบทเรียนจากตั้งงี่สุน

จากนั้น นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการ บริษัท ตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ จำกัด (จังหวัดอุดรธานี) มาเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจในหัวข้อ “กลยุทธ์น้ำปลา ความสำเร็จธุรกิจค้าส่งแบบตั้งงี่สุน” ว่าผู้ประกอบการค้าส่งควรยึดหลักการตั้งสินค้าในราคาที่เป็นธรรม เราควรมองว่าให้ลูกค้าเรา (คือ ร้านค้ารายย่อย) รวยก่อน เพราะหากลูกค้าอยู่ได้ เค้าก็จะกลับมาซื้อสินค้ากับเราอีกแน่นอน

ในการจัดโปรโมชั่นสินค้า ก็ควรดูถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก บางครั้งการขายยกลัง อาจเป็นไปได้ยาก ลองพิจารณาแตกแพ็คดู และสุดท้ายควรบริหารความสัมพันธ์กับ Distributor ที่จัดส่งสินค้าด้วย ถือว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

จัดทำบัญชีกับกูรูภาษี และการเงิน

เท่ากับว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจผู้ค้าส่งคือ การจัดการสต๊อก มีการวางระบบที่ดี คำนวนสินค้าได้ถูกต้อง นอกจากจะส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนแล้ว ยังส่งผลต่อการจัดทำบัญชีด้วย ภายในงานยังมีหัวข้อ “บัญชี ภาษี เรื่องสำคัญที่คนค้าส่งควรรู้” โดย นายถนอม เกตุเอม กูรูด้านภาษีและบล็อกเกอร์ด้านการเงิน บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ @TAXBugnoms ได้ให้ความรู้แก่ SME ว่า บัญชีกับภาษีมีความเชื่อมโยงกัน เช่น เรื่องความเข้าใจในภาษีซื้อ ภาษีขาย และ รายได้เกี่ยวพันโดยตรงกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาษีทุกเรื่อง แต่ต้องรู้ว่ามันมีอะไรบ้าง และส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายรายมักคิดว่าเสียภาษีน้อยสุดยิ่งดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องระวังคือ การเสียภาษีนั้นถูกต้องหรือไม่ หากอนาคตโดนย้อนหลัง มันจะแพงขึ้นจากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับถึง 4 เท่าทีเดียว

นอกจากนี้ ถนอมยังให้ความรู้ในเรื่อง “บัญชี ภาษี ที่คนออนไลน์ต้องรู้” โดยเฉพาะการมาของ พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากรฉบับที่ 48 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลบัญชีธนาคารแก่สรรพากรหากเข้าเงื่อนไข ซึ่งหมายรวมทั้งบัญชีธนาคารปกติ และ e-Wallet ผู้ประกอบการหลายรายจงใจเลี่ยงภาษีด้วยการเปิดหลายบัญชี ซึ่งนั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสิ่งที่ควรทำคือแยกบัญชีธุรกิจกับบัญชีส่วนตัวออกจากกัน ทำบัญชีให้เรียบร้อย มีหลักฐานชี้แจงที่มาของรายได้ ความเชื่อถือของธุรกิจในสายตาสรรพากรย่อมเพิ่มขึ้น อีกทั้งการรับเงินได้จาก social platform ต่างๆ เช่น Lazada และ Shopee ก็ยังอยู่ในวิสัยที่สรรพากรสามารถตรวจสอบได้อยู่ดี

จัดเทรนด์การตลาดออนไลน์

จากนั้นมาอัพเดต “เทรนด์โลกออนไลน์ การตลาดออนไลน์ ทำอย่างไรให้ขายได้และแตกต่าง” กับ นายณัฐพัชญ์ วงเหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและบล็อกเกอร์การตลาดสุดฮิต nuttaputch.com

ณัฐพัชญ์บอกว่าสิ่งสำคัญที่ SME ขาด และมักมองข้ามคือ “กลยุทธ์การตลาด” กล่าวคือ ผู้ประกอบการควรจะคุยกับลูกค้าที่ใช่ ด้วยเรื่องที่ใช่ และส่งมอบสิ่งที่คนต้องการมากที่สุด หากวิเคราะห์ไม่ขาดอาจวางกลยุทธ์ผิด ดังนั้นลองใช้เวลาคุยกับลูกค้าให้มาก เพื่อรับรู้ปัญหาว่าทำไมลูกค้ายังไม่ซื้อสินค้า เมื่อได้ข้อมูลมากพอ เข้าใจลูกค้ามากพอ จะนำไปสู่การวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง และไอเดียในการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าแบบที่ลูกค้าต้องการด้วย

นอกจากจะมีเครื่องมือในการทำการตลดาแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ก็คือ Influencer Marketing โดยที่ นางสาวขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ความรู้ในหัวข้อ “Influencer Marketing สำคัญแค่ไหนกับธุรกิจออนไลน์”

ขนิษฐาบอกว่าผู้บริโภคยุคดิจิทัลฉลาด เป็นมืออาชีพ ทำให้การโฆษณาไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้ Influencer มาบอกเล่าแทนแบรนด์ แต่ในความจริง Influencer ที่ดีที่สุด พูดแล้วได้ผลมากที่สุด คือ ลูกค้าตัวจริง หาก SME ทำสินค้าที่ดี มีบริการที่แตกต่าง ซื่อสัตย์ สร้างให้เกิด “Right before Like” ลูกค้าจะเป็น Influencer ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือที่สุด

จากงานสัมมนา TMB SME Industry Forum 2019 เชื่อว่าผู้ประกอบการ SME ต้องได้ความรู้ และประสบการณ์อย่างที่หาที่ไหนไม่ได้อย่างแน่นอน ซึ่ง TMB พร้อมอัพเดตองค์ความรู้ที่ใช่ และพัฒนาโซลูชันมาตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นที่จะเติบโตเพื่อให้ SME “ได้มากกว่า” (Get MORE with TMB)