“กรุงศรี” คาด GDP ไทยปีหน้าโตแค่ 2.5% ย้ำเศรษฐกิจแค่ “ชะลอ” ยังไม่วิกฤต 

กรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภาวะชะลอ เชื่อการคลังและการเงินเตรียมออกมาตรการกระตุ้นในไตรมาสแรกปีหน้า

หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีไม่สู้ดีนัก “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY จึงปรับตัวคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยปี 2562 เหลือ 2.4% จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าเติบโต 2.9% 

โดยปัญหาหลักมาจากการส่งออกที่คาดว่าติดลบถึง 2.5% ส่งผลให้การลงทุนปรับลดลงต่อเนื่อง การจ้างงานลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อแผ่วลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในปีหน้า ดังนั้นจึงคาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.5% จากที่คาดว่าเติบโตได้ 3.5%

“เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงถดถอย 27.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ 18% เมื่อไหร่ที่มีความเสี่ยงถึง 40% อีก 2 ไตรมาสจะเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าจะมีแนวโน้มโตไปในทางต่ำมากขึ้น”

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกไทยเติบโต 1.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตา ได้แก่ สงครามการค้า การที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีหรือ GSP (Generalized System Preference) ส่งผลให้มีโอกาสกระทบกับภาคส่งออกไทยราว 0.9% นอกจากนี้ยังมีข้อตกลง FTA ระหว่างอียูและเวียดนาม และการแข็งค่าของบาทไทย ที่อาจจะไม่เร็วเท่าปีที่ผ่านมา แต่น่าจะยังแข็งค่าที่ 30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในไทยเอง คาดว่ามาจากด้านนโยบาย ปัญหา Over Supply และปัญหาภัยแล้ง แต่ในส่วนเสถียรภาพและการเมืองยังไม่มีความเสี่ยงเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ถ้าการเมืองสะดุดเศรษฐกิจจะยิ่งแย่ เพราะความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ อาจส่งผลต่อการลงทุน โดยเฉพาะ Private Investment

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มองว่าโอกาสของไทยจะมาจากการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเติบโตได้ 2-3 เดือนติด และคาดว่าอีก 7 ปีข้างหน้า ประชากรจีนจะถือพาสปอร์ตถึง 30% อีกทั้ง ชนชั้นกลางของจีนจะมีมากขึ้น ซึ่งชนชั้นกลางชื่นชอบประเทศไทย ต่อไปจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศถึง 18 ล้านคน/ปี ดังนั้นไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับให้ดี

นอกจากนี้ มองว่านโยบายการคลังยังมีช่องว่างช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แม้ว่าที่ผ่านมาได้ออกมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ไปแล้ว เนื่องจากปัจจุบันหนี้ต่อ GDP ไทยยังคิดเป็น 40% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น อาจออกมาตรการเกี่ยวกับภาษี เพื่อกระตุ้นได้อีก ในส่วนของภาคการเงินยิ่งต้องจับตา แม้ตอนนี้นโยบายการเงินจะผ่อนคลาย มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 2 ครั้ง แต่คาดว่าปีหน้าจะปรับลงได้อีกและเป็นระดับต่ำสุดที่เคยมีมา แต่จะให้สิทธิ์เฉพาะกลุ่ม เช่น จีนให้ sme กู้แบงก์ได้ถูกลง ดังนั้นไทยก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น คาดว่าจะได้เห็นในช่วงไตรมาสแรกของปี

“บทบาทของการเงินและการคลังจะมีบทบาทมากกว่าปีนี้ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการคลังสำคัญมาก เนื่องจากเห็นผลเร็ว แต่ต้องดูจังหวะเวลา ตั้งเป้าหมายให้ถูกกลุ่ม และให้เงินที่เหมาะสม ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่การบรรเทา แต่เป็นการกระตุ้น ดังนั้นต้องโฟกัสให้คนที่มีกำลัง เช่น ชนชั้นกลาง โดยอาจจะออกมาตรการให้หัก ณ ที่จ่ายก็จะช่วยได้เยอะ”

ในส่วนของการส่งเสริมการส่งออกของภาครัฐ มองว่าไทยมีจุดแข็งด้านการผลิต แต่ไทยยังอยู่ในการผลิตแบบเดิม ขณะที่โลกเปลี่ยนไป ทุกประเทศกำลังแย่งกันผลิตพวกของใหม่ ๆ เช่น IoT ดังนั้นรัฐอาจจะต้องหาทางเสริมในส่วนนี้ และขอย้ำว่าวิกฤตเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจชะลอตัวไม่เหมือนกัน ตอนนี้เศรษฐกิจชะลอหรือตัวถดถอย เป็นสิ่งที่รู้ตัว ดังนั้นตอนนี้ช่วงของการหาโอกาสต่าง ๆ.