Miss Universe: เปิดจักรวาล “ความงาม” ที่มีจุดเริ่มต้นจากโฆษณาชุดว่ายน้ำ!

MIss-Universe-2019

(photo by : Paras Griffin/Getty Images)

“ฉันเติบโตมาในโลกที่ผู้หญิงที่รูปร่างหน้าตาเหมือนฉัน – ด้วยสีผิวแบบนี้และทรงผมเช่นนี้ – ไม่เคยถูกมองว่าสวยเลย และฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ (แนวคิดดังกล่าว) จะต้องหยุดลงวันนี้”

คำกล่าวกินใจในช่วง Final Words ของ Zozibini Tunszi ผู้เข้าประกวดจากแอฟริกาใต้ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งให้เธอคว้ามงกุฎ Miss Universe 2019 มาครอบครอง Tunszi เป็นนางงามผิวสีคนที่ 7 ที่ชนะบนเวทีนี้ในประวัติศาสตร์ 67 ปีที่จัดประกวดกันมา

หากมองย้อนไปในอดีตของการจัดประกวด Miss Universe เวทีนี้เปรียบเหมือนภาพสะท้อนคอนเซ็ปต์ความงามของหญิงสาวตลอดเกือบ 7 ทศวรรษ ซึ่ง Positioning ขอไล่เรียงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความงามของผู้หญิงบนเวทีจากอดีตถึงปัจจุบันมาเสนอด้านล่างนี้!

 

1952 – แผนการตลาดของบริษัทชุดว่ายน้ำ
Miss-Universe-1952
(กลาง) Armi Kuusela จากฟินแลนด์ ผู้ชนะการประกวด Miss Universe ครั้งแรก (photo: Keystone-France/Gamma-Rapho via Getty Images)

จุดเริ่มต้นของเวที Miss Universe เป็นแผนการตลาดของบริษัทชุดว่ายน้ำเท่านั้น!! รากฐานของการประกวดมาจากบริษัทเจ้าของแบรนด์ Catalina Swimwear ต้องการให้ Yolanda Betbeze ซึ่งเป็น Miss America ประจำปี 1951 สวมชุดว่ายน้ำของบริษัทแต่เธอปฏิเสธ ทางออกน่ะหรอ? บริษัทจึงจัดเวทีของตัวเองเสียเลยโดยใช้ชื่อ Miss Universe (แบบเกทับให้ยิ่งใหญ่ระดับจักรวาล) ปีแรกนั้นมีผู้เข้าประกวด 30 คนจาก 30 ประเทศ และ Armi Kuusela จากฟินแลนด์เป็นผู้ชนะไป

 

1959 – ครั้งแรกที่ผู้หญิงเอเชียครองมงกุฎ

Akiko Kojima สาวญี่ปุ่นวัย 22 ปีเป็นผู้ชนะเวที Miss Universe เป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงเอเชียครองมงกุฎ ชาวญี่ปุ่นไม่เคยชนะบนเวทีนี้อีกเลยจนกระทั่งปี 2007 ที่ Riyo Mori ได้ชัยชนะ

 

1960 – การประกวดเริ่มบรรจุช่วง “สัมภาษณ์”

เป็นครั้งแรกที่กองประกวดจัดให้มีการสัมภาษณ์บนเวทีและนับเป็นคะแนน ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่จัดช่วงชุดประจำชาติซึ่งเป็นรางวัลและคะแนนที่แยกออกจากการประกวดหลัก

กำแพงภาษาในรอบสัมภาษณ์ยังไม่ถูกทลายลงจนกระทั่งปี 1969 ที่กองประกวดอนุญาตให้ใช้ล่ามบนเวที และในปี 1972 เป็นปีแรกที่นางงามใช้ภาษาประจำชาติตอบคำถามแล้วชนะมงกุฎ นั่นคือ Georgina Rizk จากเลบานอน

 

1977 – ครั้งแรกที่ผู้หญิงผิวสีชนะการประกวด
Miss-Universe-1977
Janelle Commissiong นางงามผิวสีคนแรกของเวทีนี้ (Photo by Nury Hernandez/New York Post Archives /(c) NYP Holdings, Inc. via Getty Images)

Janelle Commissiong นางงามจากตรินิแดดแอนด์โตเบโก ประเทศแถบอเมริกากลาง และเป็นนางงามผิวสีคนแรกที่ชนะการประกวดพร้อมๆ กับรางวัลขวัญใจช่างภาพ

ในช่วงเดียวกันนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงการประกวดความงาม เพราะเวที Miss World ปี 1976 อนุญาตให้ประเทศแอฟริกาใต้ส่งนางงามได้ 2 คนตามชาติพันธุ์คือนางงามคอเคเชียน (ผิวขาว) และนางงามแอฟริกัน (ผิวสี) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ช่วงนั้น ทำให้หลายชาติแบนการส่งนางงามของตนลงประกวดเวที Miss World ดังนั้นเมื่อ Commissiong ชนะการประกวด Miss Universe จึงเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์และเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของคอนเซ็ปต์ความงามในยุคที่การเหยียดผิวยังพบเห็นได้ทั่วไป

 

1980s – รูปร่างของผู้หญิงในอุดมคติเปลี่ยนไป พวกเธอผอมลงเรื่อยๆ
BMI ของผู้ชนะ Miss Universe เทียบกับ BMI ของผู้หญิงอเมริกันส่วนใหญ่ (photo: Superdrug Online Doctor)

ทศวรรษนี้จนถึงปัจจุบัน รูปร่างของนางงามที่เข้าร่วมการประกวดส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนจากหุ่นอวบสะโพกผาย เป็นหญิงสาวรูปร่างผอม

Superdrug Online Doctor วัดค่า BMI (Body Mass Index) ของ Miss Universe ที่ชนะการประกวดตั้งแต่ปี 1952-2015 พบว่าตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ผู้ชนะ 21 ใน 27 คน (บางปีไม่มีข้อมูล) มีค่า BMI ร่างกายต่ำกว่ามาตรฐานหรือผอมเกินไปนั่นเอง นั่นเป็นเพราะพวกเธอมีน้ำหนักใกล้เคียงเดิมแต่ความสูงของนางงามนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1980 มีนางงามเพียงคนเดียวที่มีส่วนสูงต่ำกว่า 170 ซม.และชนะเวทีนี้คือ Miss Norway ในปี 1990 โดยเธอสูง 168 ซม.

 

1997 – “บิกินี่” ได้รับอนุญาตให้ใช้สวมใส่ในรอบชุดว่ายน้ำ

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Miss Universe (@missuniverse) on

ก่อนหน้านี้บิกินี่ไม่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่บนเวทีประกวด จนกระทั่งการสวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับอนุญาตในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การใส่บิกินี่ยังเป็นประเด็นถกเถียงและเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหากมองกองประกวดโดยรวม โดยเวที Miss World ตัดรอบชุดว่ายน้ำออกในปี 2013 โดยกองประกวดให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องอวดเรือนร่าง ความงามของผู้หญิงไม่ได้อยู่ในจุดนั้น แต่คาดกันว่าอีกเหตุผลสำคัญคือปีนั้นกองประกวดจัดขึ้นที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมทำให้ต้องตัดรอบชุดว่ายน้ำออก

หลังจากนั้น ปี 2018 เวที Miss America ประกาศแบนชุดบิกินี่เริ่มต้นปีแรกปี 2019 เนื่องจากเห็นด้วยกับกระแสสังคมว่าการประกวดชุดว่ายน้ำบิกินี่เป็นการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศมากกว่าเสริมความมั่นใจให้กับผู้หญิง

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Miss America (@missamerica) on

2011 – “ความสวย” ยังสำคัญที่สุด

เวทีประกวดเป็นเป้าโจมตีเมื่อ Scott Lazerson หนึ่งในคณะกรรมการ Miss Universe 2011 ให้สัมภาษณ์กับ Forbes ยอมรับว่า ถึงแม้ผู้เข้าประกวดส่วนใหญ่จะมีประวัติการศึกษาดี มีผลงานแสดงออกถึงความฉลาดเฉลียวและไหวพริบ แต่สุดท้ายแล้วถ้าหากพวกเธอไม่มีความงามภายนอกตามอุดมคติ เธออาจไม่ผ่านเข้ารอบลึกๆ ตั้งแต่แรก ความงามเหล่านั้นรวมถึงขนาด “หน้าอก” ด้วย

 

2012 – ปีแรกที่อนุญาตให้ “ผู้หญิงข้ามเพศ” เข้าประกวด

 

View this post on Instagram

 

A post shared by ANGELA PONCE (@angelaponceofficial) on

ปีนี้เป็นปีแรกที่กองประกวดอนุญาตให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้าประกวดได้ แต่ยังไม่มีชาติใดส่งทรานส์เจนเดอร์เข้าร่วมจนกระทั่งปี 2018 ที่ Angela Ponce เป็นตัวแทนประเทศสเปนเข้าชิงมงกุฎ แม้ว่าเธอจะไปไม่ถึงรอบ Top20 แต่เธอได้สร้างหน้าประวัติศาสตร์ใหม่อย่างชัดเจน

 

2019 – ปีแรกที่ผู้เข้าประกวดประกาศเพศวิถี “เลสเบี้ยน” ของตน

Swe Zin Htet นางงามเมียนมา เปิดใจระหว่างทำกิจกรรมเข้าร่วมประกวด Miss Universe 2019 ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน ซึ่งเป็นครั้งแรกบนเวทีนี้ที่มีผู้เข้าประกวดประกาศตนเป็นเลสเบี้ยนโดยเปิดเผย

ความเคลื่อนไหวในโลกของการประกวดความงามของผู้หญิงเป็นกระจกสะท้อนสังคมต่อเพศหญิงอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2010s นั้นเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อนิยามความงามของผู้หญิง ผู้หญิงผิวสีชาติพันธุ์แอฟริกัน 3 ใน 7 คนได้รับมงกุฎ Miss Universe ไปครองในช่วงทศวรรษนี้ การตอบคำถามที่แสดงไหวพริบและแนวคิดทางสังคมกลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น ชุดว่ายน้ำเป็นประเด็นถกเถียงในเชิงสตรีนิยม มีผู้หญิงข้ามเพศและเลสเบี้ยนร่วมประกวด

แม้กระทั่งคำว่า “Miss” อาจจะถูกท้าทายในอนาคต หลังจาก Veronika Didusenko นางงามยูเครนถูกตัดออกจากการประกวด Miss World 2019 เมื่อกองประกวดพบว่าเธอฝืนกฎการคัดเลือกเนื่องจากเธอมีลูกชายวัย 5 ขวบ และ Didusenko ตัดสินใจที่จะฟ้องกลับว่ากฎข้อนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงที่เป็น “แม่”

 

Source: Insider, Pageant-Almanac, Business Insider, Forbes, Independent