The Car Show Disrupt จับตาอนาคตงานโชว์รถระดับโลก เริ่มส่งสัญญาณล่มสลาย

เค้าลางแห่งการล่มสลายของการจัดแสดงรถ หรือมอเตอร์โชว์ เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแบบชัดเจนแล้ว แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเริ่มเห็นการถอนตัวของผู้ประกอบการหลายราย

อย่างที่ทราบกันดีว่า งานแสดงรถยนต์ระดับโลก มีอยู่ด้วยกัน 5 งานใหญ่ ได้แก่ ดีทรอย ออโต้โชว์, เจนีวา มอเตอร์โชว์, แฟรงก์เฟิร์ต ออโต้โชว์, ปารีส มอเตอร์โชว์ และ โตเกียว มอเตอร์โชว์ ถือว่าเป็นงานที่ทุกค่ายรถต้องไปร่วมจัดแสดงเพื่อโชว์ศักยภาพของแบรนด์ตัวเอง

ซึ่งในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ เราจะเห็นข่าวของการถอนตัวไม่เข้าร่วมแสดงงานทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีใครคาดคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วเพียงนี้ โดยในช่วงต้นปี ภาพความยิ่งใหญ่ของงานแสดงรถยนต์ระดับโลกนั้น อย่างเจนีวา ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสัมผัสได้ หลังจากที่ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมแสดงเหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

แฟรงก์เฟิร์ต -โตเกียว เหลือเพียงเจ้าบ้าน

2 งานแสดงรถยนต์ระดับโลกที่ถือว่าเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญโลก รวมถึงการมีแบรนด์รถยนต์เป็นหน้าเป็นตาของประเทศอีกด้วย

งานแรก แฟรงเฟิร์ต ออโตโชว์ หรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า IAA 2019 ในปีนี้ ความยิ่งใหญ่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในทุกสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยนต์ ผู้เข้าร่วมแสดง และขนาดพื้นที่จัดแสดง ที่มีเพียงค่ายเจ้าบ้านเป็นหัวเรือหลักอย่าง เมอร์เซเดส -เบนซ์ ที่ยังจัดเต็มพื้นที่ฮอลล์ใหญ่ทางด้านหน้างาน แต่ลดจำนวนของรถที่จัดแสดงลง โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมงานผ่านระบบแสง สี เสียง ต่างๆ

ขณะที่โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป จัดรถในเครือทั้งหมดไปรวมไว้ในฮอลล์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ปอร์เช่, โฟล์คสวาเกน, อาวดี้, ลัมโบกินี่, เซียท และ สโกด้า โดยมีรถใหม่เปิดตัวเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า อย่าง โฟล์คสวาเกน ไอดี3 และ ปอร์เช่ ไทคานน์ จากในอดีตที่แต่ละแบรนด์จะใช้พื้นที่มากกว่านี้ (หนึ่งฮอลล์ของที่งานนั้นจะมีขนาดพอๆ กับชาเลนเจอฮอล์ 1-3 รวมกัน)

ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู และมินิ งานครั้งนี้ลดขนาดลงไปอย่างน่าใจหาย โดยจัดแสดงอยู่ที่ฮอลล์สุดท้ายด้านในสุดขนาดพื้นที่แบ่งร่วมกันกับค่ายอื่นๆ อย่างเช่น จากัวร์ แลนด์โรเวอร์, โอเปิล, อัลพินา และฮุนได ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นนั้นมีเพียง ฮอนด้า รายเดียวเท่านั้นที่มาร่วมจัดแสดงในงานนี้โดยมีขนาดพื้นที่เท่าๆ กับที่จัดแสดงในเมืองไทย

ทั้งนี้ ค่ายอื่นที่เข้าร่วมแสดงด้วยได้แก่ ฟอร์ด และค่ายรถจากประเทศจีน 3 ราย รวมแล้วมีค่ายรถมาจัดแสดงเพียง 11 รายเท่านั้น โดยพื้นที่อื่นๆ จะมีค่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาจัดแสดง เรียกได้ว่า ไม่มีค่ายจาก อิตาลี และฝรั่งเศส มาร่วมแสดงเลย

สำหรับงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ปีนี้ แยกพื้นที่จัดแสดงเป็นหลายจุด เนื่องจากฮอลล์มีการปรับปรุงใหม่เพื่อรองรับกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในปีหน้า (ค.ศ. 2020) แต่ขนาดพื้นที่และค่ายรถที่เข้าร่วมแสดงนั้นมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับงานครั้งที่แล้ว

โตโยต้า ยังคงเป็นค่ายหลักที่เชิดหน้าชูตาของรถญี่ปุ่น แต่งานนี้ต้องย้ายมาแสดงในพื้นที่ใหม่และใช้พื้นที่ของเมกาเวป ในการแสดงเทคโนโลยีด้วย ส่วนค่ายอื่นๆ ของญี่ปุ่นมากันครบถ้วนทั้ง ฮอนด้า, นิสสัน, มาสด้า, ซูซูกิ, ไดฮัทสุ, อีซูซุ, มิตซูบิชิ, ซูบารุ, ฮีโน่, ฟูโซ่, ยูดี และ เลกซัส

ขณะที่ค่ายจากฝั่งยุโรป มีเพียง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ,อัลไพน์ และ เรโนลต์ (ในฐานะพันธมิตรของนิสสันและมิตซูบิชิ) เท่านั้น ที่เข้าร่วมแสดงในงานนี้ ส่วนบีเอ็มดับเบิลยูมาในนามของสำนักแต่งอัลพินา จากเดิมที่เคยมีหลากหลายแบรนด์เข้าร่วม เช่นเดียวกับค่ายสองล้อ มีเพียงสี่ค่ายที่เข้าร่วมแสดงงานได้แก่ ฮอนด้า, ยามาฮ่า, คาวาซากิ และ ซูซูกิ

ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าทั้งสองงานนี้จากที่เคยเป็นงานใหญ่ระดับโลกมีรถจากทุกค่ายมาจัดแสดงกันอย่างละลานตา ในปีนี้กลับกลายเป็นเหมือนงานโชว์รถของเจ้าบ้านเท่านั้น ขนาดและความยิ่งใหญ่ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจัยสำคัญมาจากการเข้าร่วมงานแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานที่จัดแสดงเพียงอย่างเดียว ไม่มีการขาย ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังอยู่ในช่วงถดถอยและมีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่ายรถยนต์เริ่มให้ความสำคัญกับการแสดงงานแบบนี้น้อยลง เพราะเมื่อผู้ร่วมแสดงมีจำนวนน้อย สิ่งที่ตามมาคือผู้เข้าชมงานจะน้อยลงตามไปด้วยเสมอ แล้วถ้างานลักษณะนี้กำลังจะล้มหาย แล้วงานแบบไหนจะไปรอด

งานโชว์พร้อมขาย ทางรอดอีเวนต์

ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการเข้าร่วมแสดงงานในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ล้วนๆ ไม่มีส่วนของการขายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นงานที่โชว์เทคโนโลยี นำรถมาจัดแสดงให้ผู้เข้าชมงานได้สัมผัส ไม่มีพนักงานขายหรือการรับจองรถภายในงานแต่อย่างใด ดังนั้นงบประมาณที่ทุ่มลงทุนมานั้น จะไม่มีผลตอบแทนกลับมาเป็นตัวเลขให้เห็นได้

ซึ่งจะตรงข้ามกับการจัดงานแสดงยานยนต์อีกประเภทหนึ่งที่นอกจากจัดโชว์แล้วยังมีการขายพ่วงเข้าไปด้วย สามารถวัดผลตอบรับเป็นตัวเลขยอดจองได้ ซึ่งในเมืองไทยของเราถือว่า คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ส่วนในต่างประเทศนั้น งานแสดงรถที่มีการขายด้วยนั้นเริ่มได้รับความนิยมและค่ายรถให้ความสำคัญมากขึ้น

ตัวอย่างของงานแสดงรถที่กำลังเป็นขาขึ้นและได้รับความสนใจจากทั้งผู้ชมและค่ายรถยนต์ในต่างประเทศ คือ งานกู๊ดวู๊ด เฟสติวัล ออฟ สปีด (GoodWood Festival of Speed) จากเดิมที่เป็นงานเฉพาะกลุ่ม แต่เมื่อเกิดกระแสขึ้นและเจ้าของงานคือคนที่เข้าใจคนรักรถ เปิดโอกาสให้ทั้งรายใหญ่และรายย่อย เจ้าของรถโดยตรงนำรถของตัวเองมาโชว์ในงานได้ และหากถูกใจสามารถทำการซื้อขายกันได้โดยตรง

สิ่งนี้เองทำให้กลุ่มผู้ประกอบการทั้งพ่อค้ารถมือสอง คนเล่นรถเก่า รถโบราณ ใช้งานดังกล่าวเป็นเวทีในการจัดแสดงขายรถตัวเอง เช่นเดียวกับค่ายรถยนต์ที่นำรถรุ่นใหม่มาร่วมงาน พร้อมจัดให้มีพนักงานขายรับจอง รวมถึงการเปิดตัวรถใหม่ในงานนี้กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นงานที่ไม่ใช่แค่นำรถมาโชว์เพียงอย่างเดียว แต่มีการวิ่งจริงให้ดู พร้อมกับขับแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน นับเป็นแรงจูงใจให้ผู้เข้าชมงานได้ลุ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ การได้รับความนิยมของ งานกู๊ดวู๊ด เฟสติวัล ออฟ สปีด สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ค่ายรถยนต์หลายๆ ค่ายเลือกนำรถมาทั้งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในโลกหรือนำมาโชว์ให้เห็นก่อน ไม่ว่าจะเป็น ปอร์เช่ ไทคานน์, ฮอนด้า อี และ เดอโทมาโช พี72 เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น เราคุ้นเคยกับการจัดแสดงรถที่มีการขายพ่วงอยู่ในงาน หรือเรียกอีกอย่างว่า เรามักจะรอช่วงงานดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น งานมอเตอร์โชว์ ช่วงต้นปี หรืองานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ช่วงปลายปีเพื่อจะซื้อรถเนื่องจากจะมีการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างหนักหน่วงเป็นประจำทุกงาน

เมื่อทิศทางของการจัดแสดงรถยนต์เปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ น่าจะเรียกได้ว่า ประเทศไทยของมีการจัดแสดงงานที่เป็นแนวคิดก้าวหน้า รับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างน่าทึ่ง

อย่างไรก็ตาม อนาคตยังคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าของค่ายรถระดับหรูหรา ที่เริ่มหันมาจัดอีเวนท์ของตัวเองในพื้นที่ของตัวเอง เช่นงาน ยูนิเวอโซ่ ของเฟอร์รารี่ ที่มีการเชิญลูกค้าจากทั่วโลกให้มาชมรถทุกรุ่นของแบรนด์ตัวเอง แน่นอนว่าย่อมจะต้องมีพนักงานคอยดูแลและเป็นผู้ประสานงานในการพาเข้าเยี่ยมชม ส่วนในเมืองไทยเริ่มมีค่ายรถจัดอีเวนท์เฉพาะของตัวเองขึ้นแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายจะสามารถวัดด้วยยอดขายเทียบกับต้นทุนค่าจัดงานได้

ดังนั้นการจัดแสดงรถแบบรวมทุกยี่ห้อเช่นนี้จะได้รับความนิยมอยู่หรือไม่ จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปในทิศทางใด ยังต้องจับตาดูต่อไปในอนาคต

Source