“มณี Free Solution” ขุมพลังของผู้ประกอบการ SMEs ปีหน้ามุ่งเป้า “แสนบัญชี” ยอดเงินฝากหมื่นล้าน

  • มณี Free Solution อาวุธใหม่ ผู้ช่วยเรื่องธุรกิจแบบครบวงจร ให้ค้าขายราบรื่น ร่ำรวย เติบโตอย่างมั่งคั่ง ช่วยปลดล็อกแก้โจทย์ พร้อมต่อยอดธุรกิจให้กลุ่ม SMEs
  • เปิดตัว 3 เดือน มีลูกค้าสมัครบัญชีมณีมั่งคั่งแล้วกว่า 30,000 บัญชี ในจำนวนนี้ 20% เป็นลูกค้าใหม่ของ SCB
  • เป้าปี 2563 เพิ่มจำนวนเป็น 100,000 บัญชี ยอดเงินฝากรวม 8,000-10,000 ล้านบาท พร้อมต่อยอดประโยชน์ด้านแหล่งเงินทุนและเครือข่ายธุรกิจ

 

ปางใหม่ของ “แม่มณี” นั้นเปลี่ยนจากผู้หญิงนุ่งสไบกลายเป็นนุ่งโจงกระเบนและกำหมัดพร้อมต่อสู้ นี่คือภาพใหญ่ของ ไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ต้องการสื่อถึงการยกระดับของธนาคารว่าจะเป็นขุมพลังช่วยผู้ประกอบการ SMEs ต่อสู้ในยุคที่เศรษฐกิจติดขัดเช่นนี้

“อรรัตน์ ชุติมิต” รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เกริ่นถึงผู้ประกอบการ SMEs ไทย ก่อนว่า มีอยู่ราว 3 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าธุรกิจในประเทศไทย ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้จึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“เศรษฐกิจแบบนี้ ผู้ประกอบการไม่ได้อยู่ในจุดที่สบายใจในการทำธุรกรรม” อรรัตน์กล่าว “แล้วอะไรที่จะช่วยเขาได้?”

เป็นที่มาให้ SCB เข็นบริการใหม่ “มณี Free Solution” ลงสู่ตลาดเมื่อ 3 เดือนก่อน เป็นบริการเพื่อ SMEs ที่มียอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาทโดยเฉพาะ และเปิดกว้างให้ทั้งนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็สมัครใช้บริการได้ โดยมีเงื่อนไขการบริการสำคัญๆ ที่ช่วยแก้โจทย์ข้อติดขัดของผู้ประกอบการ ดังนี้

1.“บัญชีมณีมั่งคั่ง” บัญชีเดินสะพัด ดอกเบี้ยสูงสุด 1% – ปกติแล้วบัญชีเดินสะพัดซึ่งใช้ในการทำธุรกิจมักจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่บัญชีมณีมั่งคั่งให้อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ต่ำสุด 0.375% และสูงสุด 1% เมื่อมีเงินฝากขั้นต่ำในบัญชี 1 แสนบาท

2.ยกเลิกค่าธรรมเนียม – เมื่อผูกบัญชีมณีมั่งคั่งกับอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง ทำธุรกรรมบนดิจิทัล แพลตฟอร์มของไทยพาณิชย์จะไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งการโอนจ่ายเงินข้ามธนาคาร จ่ายบิลชำระค่าสินค้า และจ่ายเงินเดือนพนักงาน และยังได้สิทธิฟรีค่าบริการรับฝากเช็คข้ามเขตด้วย

3.สัมมนา อบรม เครือข่ายธุรกิจ – ฟรีสัมมนาและเข้าใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซที่ SCB Business Center ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สยามสแควร์ ซอย 1, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 5 ฝั่งอิเซตัน และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ชั้น 3 ฝั่งโรงภาพยนตร์ และขอคำปรึกษาเพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายธุรกิจผ่าน SCB มีพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมแล้ว เช่น Wongnai, GET, ไปรษณีย์ไทย

3 เดือน กว่า 30,000 บัญชี จับกลุ่ม “Early Adopter”

หลังเปิดตัว 3 เดือน อรรัตน์เปิดเผยผลตอบรับว่าเป็นไปตามเป้า โดยมีลูกค้าสมัครบัญชีมณีมั่งคั่งกว่า 30,000 บัญชี ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน มียอดเงินฝากทะลุกว่า 1,000 ล้านบาท (ทั้งนี้ ยอดเงินฝากอาจไม่สูงมากเนื่องจากเป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้รับจ่ายเงิน) มีลูกค้าจากทุกอุตสาหกรรม เช่น อาหาร เต้นท์รถ อะไหล่รถยนต์ ค้าทอง ฯลฯ และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเล็กจริงๆ โดยมียอดขายปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ ลูกค้า 20% เป็นลูกค้าใหม่ของธนาคารซึ่งไม่เคยมีบัญชีกับ SCB มาก่อนเลย และ 80% ที่เหลือเป็นลูกค้าที่ย้ายมาใช้ SCB เป็นบัญชีหลัก ส่วนถ้าวัดตามโลเคชั่น 70% เป็นธุรกิจในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 30% อยู่ในต่างจังหวัด

 

ลูกค้ากลุ่มแรกนี้ยังนับได้ว่าเป็นกลุ่ม “Early Adopter” เพราะเงื่อนไขของมณี Free Solution จะต้องทำธุรกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพอสมควร

“กลุ่มนี้คือคนที่อ่านเงื่อนไขของเราแล้วเข้าใจทันทีเลยว่าบริการนี้มีคุณค่าอย่างไร และเขาพร้อม มั่นใจที่จะใช้งานดิจิทัล เพราะเขาใช้อยู่แล้ว” อรรัตน์กล่าว “ปีหน้าเราก็คงยังจับกลุ่ม Early Adopter ก่อน แต่กลุ่มนี้ก็มีจำนวนจำกัด เราต้องหาทางไปต่อว่าจะนำกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับดิจิทัลเข้ามาอย่างไร”

ปี 2563 ตั้งเป้า “แสนบัญชี” ช่วย SMEs ให้แข็งแรง

จากผลสำเร็จของช่วง 3 เดือนแรก อรรัตน์วางเป้าต่อถึงปีหน้าสำหรับ มณี Free Solution จะมีจำนวนบัญชีมณีมั่งคั่งเพิ่มเป็น 100,000 บัญชี และยอดเงินฝากรวม 8,000-10,000 ล้านบาท ไม่เพียงยอดรวมเท่านั้น SCB ยังเตรียม บุกต่างจังหวัด เข้มข้นขึ้น หวังขยายฐานบัญชีในต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 40%

ส่วนในแง่ฟีเจอร์หรือสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ นั้น อรรัตน์กล่าวถึง “เงินทุน” ที่เป็น pain point สำคัญของ SMEs ว่าขณะนี้ธนาคารกำลังวางแผนเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยแย้มว่าน่าจะมาในช่องทาง Digital Lending ให้สินเชื่อผ่านโมบาย แบงก์กิ้งที่ SCB เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้

อีกจุดหนึ่งที่จะช่วยเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการคือเรื่องของ “คอนเทนต์ธุรกิจและเครือข่ายธุรกิจ” ปัจจุบัน SCB จัดสัมมนาทางธุรกิจเดือนละ 1 ครั้ง และอบรมกลุ่มย่อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเนื้อหาจะหมุนเวียนไปแล้วแต่สถานการณ์ในช่วงนั้น เช่น ขายของออนไลน์ วิเคราะห์เศรษฐกิจ กลยุทธ์หรือเคล็ดลับทำธุรกิจ วิเคราะห์ตลาดจีน เป็นต้น เนื้อหาเหล่านี้จะมีมากขึ้น รวมถึงเรื่องของเครือข่ายธุรกิจ SCB จะดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาเชื่อมต่อเพิ่มเติม และพร้อมให้คำปรึกษา SMEs ในการทำธุรกิจ

“กลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่เล็กจริงๆ หลายรายทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาเลย ทำให้ปกติเขาไม่พร้อมที่จะจ่ายทุนเข้าไปในงานสัมมนาเพื่อรับความรู้และสร้างเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งตรงนี้เราช่วยเขาได้” อรรัตน์กล่าว

ผู้บริหารหญิงจาก SCB กล่าวด้วยว่า ในแง่ของธนาคาร ความท้าทายที่มากที่สุดในการเสนอบริการนี้คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าที่ “ติดแบงก์” ยอมก้าวข้ามกรอบความคิดและความคุ้นชินนั้นเพื่อเปิดใจศึกษาโซลูชันที่ SCB มีให้ แต่ความท้าทายของ SMEs หนักหนากว่า พวกเขาต้องแข่งขันลดต้นทุนและปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ในธุรกิจให้ได้ ดังนั้น SCB จะมุ่งมั่นช่วยผู้ประกอบการต่อไป