สรุป 10 ข่าวเด่นรอบโลกประจำปี 2019

ปี 2019 ที่ผ่านพ้นไปมีหลากหลายเหตุการณ์ที่เป็นกระแสข่าวดังในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนหนัก ปัญหาเบร็กซิต การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง รวมไปถึงกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้การเมืองอเมริกันในช่วง 1 ปีก่อนศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ กลายเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

• จีนส่งยาน ‘ฉางเอ๋อ-4’ ไปลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. จีนกลายเป็นชาติแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ โดยภารกิจของยาน ฉางเอ๋อ-4 ประกอบด้วยการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์, สำรวจภูมิประเทศ, ลักษณะผิวดินและองค์ประกอบแร่ของดวงจันทร์ รวมถึงวัดการแผ่รังสีจากนิวตรอนและอะตอมที่เป็นกลาง เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมด้านมืดของดวงจันทร์

• สหรัฐฯ เล่นงาน ‘หัวเว่ย’

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทวีความร้อนระอุยิ่งกว่าเก่าเมื่อรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาตรการแบน ‘หัวเว่ย’ บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่แดนมังกร หวังตัดวงจรธุรกิจและยับยั้งการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้แจ้ง 23 ข้อหาต่อหัวเว่ยและบริษัทในเครือ รวมถึง เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินหัวเว่ยซึ่งถูกจับอยู่ในแคนาดา โดยมีทั้งข้อหาขโมยเทคโนโลยี, ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และฉ้อโกงธนาคาร

หน่วยข่าวกรองอเมริกันกล่าวหา หัวเว่ย ว่าได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจีน และอ้างความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์ของบริษัทนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือสอดแนมของปักกิ่ง ขณะที่ปฏิบัติการเล่นงานหัวเว่ยครั้งนี้พลอยทำให้ซัพพลายเออร์ในอเมริกาได้รับผลกระทบ และยังเป็นแรงขับให้จีนลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมไฮเทคเพื่อปลดแอกตัวเองจากซิลิคอนแวลลีย์

• ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน

กลุ่มติดอาวุธ จาอิช-อี-โมฮัมเหม็ด (JeM) ในปากีสถานก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในพื้นที่ควบคุมของอินเดียในแคชเมียร์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งคร่าชีวิตทหารพรานอินเดียไปอย่างน้อย 40 นาย รัฐบาลเดลีโทษปากีสถานว่าเป็นต้นเหตุและแก้แค้นด้วยการส่งเครื่องบินเข้าไปทิ้งบอมบ์ค่ายฝึกของกลุ่ม JeM ในปากีสถานเมื่อวันที่ 26 ก.พ. นำมาสู่ปฏิบัติการตอบโต้จากอิสลามาบัดจนหวิดเกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ทว่าโชคดีที่สถานการณ์คลี่คลายลงได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดได้ปะทุขึ้นอีกระลอกเมื่อนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศเพิกถอนสิทธิ์ในการปกครองตนเองของ ‘แคชเมียร์’ และนำดินแดนแถบหิมาลัยที่เต็มไปด้วยชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง การกระทำของเดลีคราวนี้เสียงประณามจากจีนและปากีสถานซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดนแคชเมียร์เช่นกัน

• วิกฤต ‘โบอิ้ง 737 แม็กซ์’

Boeing

โศกนาฏกรรมเครื่องบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สตกเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 5 เดือนตามหลังอุบัติเหตุไลอ้อนแอร์อินโดนีเซียดิ่งทะเลชวา ส่งผลให้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8 ถูกสั่งระงับการบินทั่วโลก ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้เปิดการสอบสวนและบังคับให้ค่ายอากาศยานแห่งนี้ปรับปรุงระบบควบคุมการบิน ผลกระทบจากคำสั่งระงับบินที่ส่อแววยืดเยื้อไปถึงปี 2020 สร้างความเสียหายแก่โบอิ้งแล้วไม่ต่ำกว่า 9,200 ล้านดอลลาร์

• เปิดภาพถ่าย ‘หลุมดำ’ ครั้งแรก

ภาพหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ในกาแล็กซี M87

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. หอดูดาวซีกฟ้าใต้ยุโรป (European Southern Observatory) ได้เผยภาพแรกของหลุมดำ (black hole) ซึ่งเผยให้เห็นแสงรัศมีอันเจิดจ้ารอบๆ ใจกลางที่ดำมืด นับเป็นภาพแรกที่พิสูจน์ได้ถึงการมีตัวตนของหลุมดำ โดยภาพที่เผยแพร่ออกมานี้เป็นภาพหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ในกาแล็กซี M87 ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 6,500 ล้านเท่า

• ไฟไหม้มหาวิหาร ‘น็อทร์-ดาม’

อาสนวิหาร น็อทร์-ดาม เดอ ปารีส (Notre-Dame de Paris) โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่ที่เป็นสัญลักษณ์คู่เมืองหลวงฝรั่งเศสมานานกว่า 850 ปี ถูกทำลายลงในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เม.ย. สร้างความตกตะลึงต่อชาวเมืองน้ำหอมและผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ที่ต่างเศร้าเสียดายกับการสูญเสียสมบัติทางวัฒนธรรมชิ้นเอก ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสลั่นจะฟื้นฟูมหาวิหารแห่งนี้ให้กลับมางดงามดังเดิมภายในระยะเวลา 5 ปี

• จักรพรรดินารูฮิโตะขึ้นครองราชย์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดินารูฮิโตะแห่งญี่ปุ่น

เจ้าฟ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ในเช้าของวันพุธที่ 1 พ.ค. หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชบิดา ได้ทรงสละราชสมบัติในวันอังคารที่ 30 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัชสมัยเฮเซที่ยาวนาน 30 ปี และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีที่จักรพรรดิญี่ปุ่นสละบัลลังก์ในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่

ญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ว่า “เรวะ” ซึ่งมีความหมายว่า “ความสอดผสานอันปีติ”

• การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

ชาวฮ่องนับล้านคนออกมาชุมนุมต่อต้านการเสนอร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีในจีนเมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งแม้ว่าต่อมานาง แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงจะยอมถอนร่างกฎหมายดังกล่าว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านความพยายามลิดรอนอำนาจปกครองตนเองโดยจีน การประท้วงที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 เดือนส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

• อังกฤษเลื่อน ‘เบร็กซิต’

อังกฤษพลาดเส้นตายในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ในขณะที่ความสับสนอลหม่านทางการเมืองทำให้นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ตัดสินใจสละตำแหน่งในวันที่ 7 มิ.ย. เปิดทางให้ บอริส จอห์นสัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่

ล่าสุด รัฐบาลจอห์นสันได้ขอเลื่อนเบร็กซิตออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 31 ม.ค. ปี 2020 ซึ่งชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคคอนเซอร์เวทีฟในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาคาดว่าจะทำให้ จอห์นสัน สามารถทำตามสัญญา “Get Brexit Done” ได้สำเร็จ

• กระบวนการถอดถอน ‘ทรัมป์’

กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นเปิดการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.ย. โดยอาศัยมูลเหตุที่ ทรัมป์ ไปกดดันผู้นำยูเครนให้ตรวจสอบ โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีตัวเก็งของพรรคเดโมแครต ซึ่งเข้าข่ายใช้อำนาจมิชอบและแทรกแซงศึกเลือกตั้ง

ต่อมาสภาผู้แทนฯ ได้มีมติถอดถอน ทรัมป์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งทำให้คดีนี้ต้องถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการไต่สวนในช่วงเดือน ม.ค. ว่า ทรัมป์ นั้นมีความผิดจริงและสมควรถูกถอดออกจากเก้าอี้ประธานาธิบดีหรือไม่ แต่เนื่องจาก ส.ว.รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาจึงมีโอกาสน้อยมากที่ ทรัมป์ จะพ่ายแพ้ในขั้นตอนนี้.

Source