“ไดเอท” ไม่ใช่คำหลอกลวงผู้บริโภค : ศาลยกฟ้องคดีบริษัทน้ำอัดลม หลังหญิงอเมริกันยื่นอุทธรณ์

การที่ผู้ผลิตน้ำอัดลมใช้คำว่า “ไดเอท” บนตราสินค้าไม่ใช่การหลอกลวงหรือไม่ซื่อสัตย์ เพราะเป็นคำที่ใช้เพื่ออธิบายการใช้สารเพิ่มความหวานแทนน้ำตาลซึ่งช่วยลดแคลอรีในเครื่องดื่ม – เป็นคำตัดสินจากศาลอุทธรณ์ในคดีนี้

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ของสหรัฐอเมริกาโดยมีศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ 3 ท่าน ตัดสินยืนตามคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียให้ “ยกฟ้อง” คดีความที่ผู้หญิงรายหนึ่งฟ้องร้องบริษัท Dr Pepper/Seven Up Inc. กล่าวหาว่าบริษัทมีการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค

Shana Becerra จาก Santa Rosa รัฐแคลิฟอร์เนีย คือผู้ยื่นฟ้องคดีนี้ โดยอ้างว่าเครื่องดื่ม “ไดเอท ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์” มีการสร้างแบรนด์และทำการตลาดชวนเชื่อว่าเครื่องดื่มนี้จะช่วยลดน้ำหนักได้ ทั้งนี้ เธอได้ยื่นฟ้องครั้งแรกมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 โดยยื่นดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class-action) เป็นตัวแทนของชาวแคลิฟอร์เนียที่ยื่นร้องทุกข์ในลักษณะเดียวกันต่อผลิตภัณฑ์นี้

ในคำยื่นฟ้องศาลชั้นต้นของเธอ Becerra กล่าวว่าเธอต้องต่อสู้กับโรคอ้วนมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มซื้อไดเอท ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์รับประทานมานานกว่า 13 ปี โดยเชื่อว่าเครื่องดื่มนี้จะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ แต่เธอไม่ได้รับผลลัพธ์ในสิ่งที่เธอจ่ายไป อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง ทำให้ Becerra ยื่นอุทธรณ์

สำหรับคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ Becerra อ้างว่าไดเอท ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าเครื่องดื่มนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคลดน้ำหนักหรือคุมน้ำหนักได้ และเสริมด้วยว่า การที่เครื่องดื่มนี้ใช้สารแอสปาแตมเพื่อเป็นสารทดแทนความหวานที่ไม่มีแคลอรี ยังกระตุ้นให้คนที่เป็นโรคเดียวกับเธอมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากสารนี้ไปรบกวนความสามารถของร่างกายในการเผาผลาญแคลอรีได้อย่างเหมาะสม

แต่คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ก็ยังยืนตามศาลชั้นต้น โดยพิพากษาว่า “ไม่มีผู้บริโภคที่มีเหตุผลคนใดจะเชื่อได้ว่าคำว่า ‘ไดเอท’ บนตราสินค้าของน้ำอัดลมเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะนำไปสู่การลดน้ำหนัก หรือการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี” ศาลยังเสริมด้วยว่าคำฟ้องของ Becerra ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า “สาธารณชนมีแนวโน้มที่จะถูกหลอกลวง”

“น้ำอัดลมแบบไดเอทเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไปในตลาด และความเข้าใจที่แพร่หลายต่อคำนี้ในบริบทนี้ก็คือ ‘ไดเอท’ หมายถึงน้ำอัดลมแบบที่มีแคลอรีน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ปกติของยี่ห้อนั้นๆ” Jay S. Bybee ศาลในคดีนี้ระบุในความเห็นของศาล “แค่เพียงผู้บริโภคที่อาจไม่มีเหตุผลนักบางคนตีความคำนี้แตกต่างออกไป ไม่สามารถเปลี่ยนคำว่า ‘ไดเอท’ บนตราสินค้าของน้ำอัดลมให้กลายเป็นเรื่องผิดหรือหลอกลวงไปได้”

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังยกฟ้องคดีอีกคดีหนึ่งของ Becerra ที่ยื่นมาในลักษณะเดียวกันแต่เปลี่ยนไปฟ้องร้องบริษัท Coca-Cola Co. ทั้งนี้ ทีมทนายของ Becerra เคยนำคดี “ไดเอท โค้ก” ของ Coca-Cola ไปยื่นฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใน New York มาแล้ว แต่ขณะนั้นโจทก์คือ Evan Geffner และ Ivan Babsin ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน ทีมทนายจึงใส่ชื่อ Becerra เข้าไปและมายื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แทน

“เราขอบคุณที่ศาลฯ ภาค 9 ยอมให้สามัญสำนึกเป็นผู้ชนะ และปฏิเสธความพยายามสร้างเรื่องซับซ้อนในสิ่งที่แสนจะธรรมดานี้” Evan Young ทนายความของบริษัท Dr Pepper/Seven Up Inc. กล่าวด้วยความพึงพอใจหลังทราบผลคดีความ

สำหรับประเทศไทยคงไม่ต้องห่วงอะไรนัก เพราะไม่มีแบรนด์ไหนเลยที่ใช้คำว่า ‘ไดเอท’ ที่อาจตีความว่า ‘ช่วยลดน้ำหนัก’ บนฉลากสินค้า

Source