ธปท.สั่งเเบงก์คืนค่าธรรมเนียม ATM ปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ SME

Photo : Freepik

ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อลดภาระของประชาชน และออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือ SME ผู้ประกอบการรายย่อย 

โดยให้สถาบันการเงินการปรับปรุงใน 3 เรื่อง ได้แก่

1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ แทนการคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน

2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น แทนการคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ นอกจากนี้ให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ จากเดิมที่ไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น

มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือ SME โดยมีผลวันที่ 1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 64

จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่ลดลง จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เป็นการชั่วคราว ให้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างทันท่วงที โดยมีมาตรการดังนี้

1. มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันสำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL โดยการลดดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาชำระหนี้

2. มาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้ เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน จากเดิมที่ต้องรอถึง 12 เดือน

3. มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน สามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้ หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

4. มาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ และไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้

5. ให้สถาบันการเงินรายงานเป้าหมายสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้ เป็นรายเดือนภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand