กลยุทธ์ออนไลน์ “ช่อง 3” จับมือ “Tencent” ปลดล็อกละคร “ฉายสด” บน WeTV ส่งคอนเทนต์ตีตลาดจีน

ตั้งแต่ “อริยะ พนมยงค์” เข้ามาเป็นนายใหญ่ของ “ช่อง 3” เมื่อปีก่อน เขาได้เปลี่ยนกลยุทธ์ของช่องใหม่เพื่อสู้ศึกดิสรัปชั่น หนึ่งในกลยุทธ์เหล่านั้นคือการวางวิธีคิดใหม่ให้ช่อง 3 โดยไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นผู้ขาย ‘ช่องทีวี’ แต่เป็นผู้ขาย ‘คอนเทนต์’ และคอนเทนต์นั้นต้องไปทำรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในและนอกประเทศ

ที่ผ่านมา ช่อง 3 มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนเองไว้รองรับคอนเทนต์ชูโรงของช่องนั่นคือ “ละคร” โดยแบ่งเป็นสองแอปพลิเคชั่นคือ CH3 Thailand สำหรับดูละครฉายสดพร้อมๆ กับในทีวี และแอป Mello สำหรับดูละครหลังฉายทางทีวีจบไปแล้ว 2 ชั่วโมง

แต่เมื่อเปลี่ยนนโยบายให้การขายลิขสิทธิ์และหาโฆษณาออนไลน์เป็นช่องทางทำรายได้เพิ่มขึ้น ละครช่อง 3 จึงไปปรากฏใน YouTube และ Line TV ด้วยเพียงแต่จะฉายช้ากว่า โดยลงฉายช่องทางเหล่านี้หลังละครแต่ละตอนจบไปแล้ว 48 ชั่วโมง รวมถึงมีการขายลิขสิทธิ์ละครเป็นเรื่องๆ ไปใน Netflix และ Hooq หลังละครฉายจบถึงตอนอวสาน

มาถึงปี 2563 ช่อง 3 ยังรุกตลาดนี้ต่อเนื่อง เริ่มแรกคือสังคายนาแอปพลิเคชั่น CH3 Thailand กับ Mello ใหม่ จับผนวกรวมกันเป็นแอป CH3+ (ซี เอช สาม พลัส) เพื่อให้ฐานสมาชิก 3 ล้านคนสามารถดูสตรีมมิ่งสดและรับชมย้อนหลังได้ในแอปเดียว ซึ่งแอปนี้จะเปิดตัวกลางเดือน ก.พ. 63 และแอป CH3 Thailand กับ Mello จะถูกปิดตัวไป

(ซ้าย) อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (ขวา) “เจฟฟ์ ฮาน” รองประธานอาวุโส เทนเซ็นต์ เพนกวิน พิคเจอร์

เรื่องต่อมาคือการที่ช่อง 3 ประกาศจับมือกับ Tencent เจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง WeTV เจ้าของลิขสิทธิ์ซีรีส์ “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” ที่ดังเป็นพลุแตกในไทยและ Tencent Video ในประเทศจีน โดยสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการปลดล็อกให้ลิขสิทธิ์ WeTV สามารถฉายสดละครภาคค่ำทุกเรื่องของช่อง 3 และรีรันได้หลังละครจบ 2 ชั่วโมง เหมือนๆ กับแอป CH3+ นอกจากนี้ยังดีลกับ Tencent Video เพื่อขนละครไทย 3 เรื่องไปฉายที่จีนในรูปแบบสดและรีรันด้วย

 

มองมุมกลับ: ช่อง 3 ต้องเจาะผู้ชมกลุ่มใหม่

เรื่องที่น่าแปลกใจคือการที่ช่อง 3 ยอมให้แอปอื่นสามารถฉายละครสดและลงรีรันละครได้ในเวลาเดียวกับแอป CH3+ ของตนเอง ต่อเรื่องนี้ “วรุตม์ ลีเรืองสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ บอกว่า เป็นเพราะช่อง 3 พิจารณาฐานผู้ชมของ WeTV แล้วเป็นคนละกลุ่มกับผู้ชม CH3+ ในแง่ไลฟ์สไตล์และความชอบคอนเทนต์

“OTT (Over-the-Top) ของเราเองก็ยังให้ความสำคัญอยู่ แต่ที่เราเลือก WeTV เพราะผู้ชมไม่ทับซ้อนกันมาก คนดู WeTV เพราะชอบหนังจีน แต่อาจจะไม่ชอบดูหรือดูละครช่อง 3 น้อยมาก ดังนั้นมองว่าจะเป็นการขยายฐานผู้ชมมากกว่า” วรุตม์กล่าว “กลุ่มนี้จะต่างจากคนดู Mello เพราะผู้ชม Mello คือคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ละครเราอยู่แล้ว แต่อาจจะดูฉายสดไม่ทันหรือต้องการดูซ้ำฉากฟินๆ”

ฝั่ง “กนกพร ปรัชญาเศรษฐ” ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ WeTV เสริมว่า ปัจจุบัน WeTV มีคอนเทนต์ซีรีส์ หนัง การ์ตูนอยู่ราว 300 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์จากจีน แต่ปีนี้ต้องการเพิ่มคอนเทนต์ไทยให้มากขึ้น เชื่อว่าความร่วมมือกับช่อง 3 จะทำให้มีผู้ชมรับชมละครไทยผ่าน WeTV สูงขึ้น 4 เท่าภายในปีนี้

ทั้งนี้ วรุตม์กล่าวย้ำว่าความร่วมมือของช่องกับ OTT อื่นยังคงเป็นไปตามเดิม เช่น Line TV และ YouTube ยังได้ลิขสิทธิ์จัดฉายละครหลังผ่านไป 48 ชั่วโมง

 

บุกแดนมังกร ฐานผู้ชม 550 ล้านคน

นอกจากการฉายในไทยแล้ว ดีลนี้ยังจะนำละครไทยช่อง 3 ไปฉายที่จีนผ่านแพลตฟอร์ม Tencent Video ซึ่ง “เจฟฟ์ ฮาน” รองประธานอาวุโส เทนเซ็นต์ เพนกวิน พิคเจอร์ เปิดเผยว่ามีผู้ชมในแพลตฟอร์มนี้ถึง 550 ล้านคนต่อเดือน และมียอดสมาชิกมากกว่า 100 ล้านคน

“รณพงศ์ คำนวณทิพย์” หัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานพาณิชย์ บมจ.บีอีซี เวิลด์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาช่อง 3 มีการทำงานร่วมกับ Tencent อยู่แล้ว โดยเริ่มส่งละครไทยไปฉายตั้งแต่ปี 2561 จนถึงขณะนี้ส่งไปแล้ว 8 เรื่อง เรื่องที่ได้รับผลตอบรับดีที่สุดคือ ลิขิตรัก (The Crown Princess) นำแสดงโดยดาราคู่ขวัญ ณเดชน์-ญาญ่า มียอดชมในจีน 280 ล้านครั้ง และถูกพูดถึงบน Weibo 66 ล้านครั้ง

ลิขิตรัก (The Crown Princess) ละครช่อง 3 ที่กวาดยอดวิว 280 ล้านครั้งบนแพลตฟอร์ม Tencent Video ประเทศจีน

ดีลครั้งนี้จึงมีการลงนามนำละครช่อง 3 ไปฉายที่จีนอีก 3 เรื่องผ่านแพลตฟอร์ม Tencent Video และจะยกระดับขึ้นคือเป็นการออกอากาศสดพร้อมกับในไทยและมีการรีรันหลังจบตอน 2 ชั่วโมง แต่จะเป็นเรื่องใดบ้างยังเปิดเผยไม่ได้

“คนจีนชอบละครทุกรส แต่เรื่องที่จะผ่านระบบเซ็นเซอร์ เขาได้คือต้องไม่ขัดความเชื่อทางศาสนาและจริยธรรม ตอนนี้การคัดเลือกเรื่องไปฉายยังเกิดขึ้นหลังละครถ่ายทำจบไปแล้ว แต่ต่อไปเราจะสกรีนให้เหมาะกับการเข้าไปฉายที่จีนตั้งแต่ต้น” รณพงศ์กล่าว

 

เพิ่มสัดส่วนรายได้ออนไลน์เท่าตัว

การบุกออนไลน์มากขึ้นนี้เป็นไปตามกลยุทธ์องค์กรที่ต้องการสร้างรายได้ดิจิทัลให้มากขึ้น โดย “วรุตม์” กล่าวว่าบีอีซี เวิลด์มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลจาก 5% ของรายได้รวมเมื่อปี 2562 เป็น 10% ของรายได้รวมในปีนี้

รายได้ดิจิทัลปัจจุบันหลักๆ จะมาจากค่าลิขสิทธิ์และค่าโฆษณาออนไลน์อย่างละ 50:50 ซึ่งวรุตม์มองว่า ดิจิทัลยังมีช่องทางอีกมากให้หาเม็ดเงินเข้ามา เช่น ปีที่ผ่านมาบริษัททดลองการโฆษณาแบบ Second Screen Concept ให้สินค้าขึ้น QR Code ระหว่างฉายละครออนไลน์เรื่อง “Tee ใครทีมันส์” ผู้ชมสามารถสแกน QR Code นี้เปิดเป็นคูปองไปรับส่วนลดสินค้าตามร้านค้าต่างๆ ได้ หลังทดลองอยู่กว่า 10 ตอน มีผู้ชมร่วมสแกนหลักหมื่นคนและพบว่าส่วนใหญ่นำคูปองไปใช้จริง ปีนี้คาดว่าจะนำลูกเล่นนี้มาใช้เต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังมีแผนอนาคตเมื่อแอป CH3+ ติดตลาดอาจจะเริ่มมีการเก็บค่าสมาชิก จากปัจจุบันเป็นระบบดูฟรีมีโฆษณา (แอป WeTV เป็นระบบ ‘ฟรีเมียม’ ดูฟรีแบบจำกัดจำนวนตอนต่อวัน หากต้องการดูเพิ่มต้องสมัครสมาชิกวีไอพี)

รายได้ของ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2562 รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำรายได้ที่ 6,721 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 138 ล้านบาท การเปลี่ยนมุมมองตัวเองเป็นผู้ขายคอนเทนต์มากกว่าขายสล็อตเวลาในช่องตามนโยบายใหม่ ยังมีเส้นทางอีกไกลให้เดินทางเพื่อพลิกขาดทุนกลับมาเป็นกำไร