“ซีเอเอที” เผยแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก พร้อมทิศทางการดำเนินงานปี 2563 มุ่งยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินไทยสู่ความยั่งยืน

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือซีเอเอที (CAAT) กางแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก เน้นส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมการบินพลเรือนในทุกมิติ ขับเคลื่อนการบินพลเรือนของไทย และองค์กร พร้อมเผยแผนการดำเนินงานปีพ.ศ. 2563 เน้นงานด้านกำกับดูแลการบินพลเรือน และด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) การยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และ การเตรียมการสำหรับมาตรฐานใหม่ในอนาคต อาทิ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS) 2) การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และ 3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานของการบินของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้ง    ในด้านมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการ องค์ความรู้ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มั่นใจแผนงานดังกล่าวจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินได้ตามวิสัยทัศน์ “มาตรฐานสู่ความยั่งยืน: Standard toward Sustainability”

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือซีเอเอที (CAAT) คือ หน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ขึ้นตรงกับรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และพัฒนากิจการการบินพลเรือนของไทย ครอบคลุมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือน อุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการ  ในอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และขยายขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศภายใต้มาตรฐานด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกทางการบินในระดับสากล ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “มาตรฐานสู่ความยั่งยืน: Standard toward Sustainability” มุ่งขับเคลื่อนการบินพลเรือนของไทย และองค์กรสู่ความยั่งยืนครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

สำหรับภาพรวมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าสถิติการขนส่งผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2562 จะมีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 76.20 ล้านคน ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนหน้าร้อยละ 7.3 โดยจากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงเทศกาล ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมสายการบินของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2562 มีสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certification : AOC) เพิ่มขึ้น 2 ราย จากเดิม 23 ราย ส่วนจำนวนผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operator License : AOL) เพิ่มขึ้น 3 ราย จากเดิม 40 ราย

นายจุฬา กล่าวต่อว่า “จากตัวเลขสถิติที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยนั้นมีภาวะการเติบโตแบบชะลอตัวเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุถึงปัจจัยที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมสายการบินโลกว่ามีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ค่าจ้างบุคลากรที่สูงขึ้น เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวมถึงการผลักดันการพัฒนาการบินพลเรือนให้มีความยั่งยืนในทุกๆ ด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซีเอเอทีจึงได้วางยุทธศาสตร์เชิงรุกปี พ.ศ. 2562-2565 เพื่อให้ทิศทางและการปฏิบัติงานขององค์กรสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดจนสามารถขับเคลื่อนการกำกับดูแลให้การบินพลเรือนของไทยเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพในระดับสากล ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ”

ยุทธศาสต์เชิงรุกปีพ.ศ. 2562-2565

ยุทธศาสตร์ที่ 1     จัดให้มีและพัฒนาระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมรับการตรวจประเมิน และยกระดับมาตรฐานให้สองคล้องกับ ICAO

ยุทธศาสตร์ที่ 2     การนำกลไกการกำกับดูแลไปบังคับใช้อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการออกใบอนุญาต การตรวจติดตามมาตรฐาน การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

ยุทธศาสตร์ที่ 3     ส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนทั้งในด้านความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 4     เสริมสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนขององค์กร ด้วยการเป็นองค์กรที่มีธรรมภิบาล บริหารทรัพยากรบุคคลให้ตรงตามความต้องการขององค์กร มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานให้มีความเป็นสากล

ยุทธศาสตร์ที่ 5     เป็นศูนย์กลางข้อมูล และองค์ความรู้ด้านการบินเพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม

“และเพื่อเป็นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ภายใต้วิสัยทัศน์ “มาตรฐานสู่ความยั่งยืน: Standard toward Sustainability” ในปี พ.ศ. 2563 นี้ ซีเอเอทีจึงได้มีการยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งภายใน และภายนอกองค์กร สำหรับงานภายในองค์กร ซีเอเอทีมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนขององค์กรด้วยการสร้างค่านิยมหลักภายในองค์กร (Core Value) เพื่อให้บุคลากรยึดมั่นเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยค่านิยมหลักของซีเอเอทีประกอบด้วย การพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ความหนักแน่นที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Integrity) ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (Accountability) การทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Respect) และความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust)”

“ในส่วนของงานภายนอกองค์กรซีเอเอทีจะมุ่งเน้นงานด้านกำกับดูแลการบินพลเรือน และด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินโดยจะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1) การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอนาคต อาทิ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการรับรองสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน และแผนนิรภัยการบิน หรือการบริหารความปลอดภัยด้านการบิน 2) การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการสายการบิน เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และอำนาจของซีเอเอทีในการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศฉบับใหม่ และ 3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานของการบินของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการ องค์ความรู้ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การตรวจรับรองมาตรฐานผู้ประกอบการการซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน การส่งเสริมกิจการการซ่อมบำรุง และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เช่น การอนุญาตให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้มากกว่าร้อยละ 49 เป็นต้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการบินของไทย

“นอกจากจะยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินพลเรือนของไทยทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วซีเอเอที ยังเน้นขับเคลื่อนการกำกับดูแลอากาศยานอื่นๆ ให้ปลอดภัยและมีคุณภาพในระดับสากลมากขึ้น โดยไฮไลท์ของซีเอเอทีในปี พ.ศ. 2563 นี้ มีสองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ การกำกับดูแลการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ ‘โดรน’ เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของโดรนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ประกอบกับมีราคาถูกลงจึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการบินพลเรือน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านความปลอดภัยต่อชุมชน และการปฏิบัติการบินของสายการบินพาณิชย์ ด้านความมั่นคง และความเป็นส่วนตัวของประชาชน โดยในปีนี้ ซีเอเอทีได้วางแผนให้มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAS license เพิ่มเติมจากประกาศผู้ควบคุมโดรนเดิมให้มีมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดของ ICAO นอกจากนี้จะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของซีเอเอที เพื่อให้การออกใบอนุญาตนักบินโดรนเป็นเหมือนใบเบิกทางให้อุตสาหกรรมการบินโดรนของไทย และผู้ที่ต้องการบินโดรนอย่างมืออาชีพและเพื่อการพาณิชย์ โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตโดรนนี้ต้องได้รับการอบรมที่ถูกต้องจากสถาบันที่มีมาตรฐาน ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ รวมถึงมีการจัดสอบเพื่อให้ได้นักบินโดรนที่มีคุณภาพ โดยซีเอเอทีจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยี ป้องกันประเทศ หรือ DTI ในการพิจาณาหลักสูตรการอบรมเพื่อการรับรองสถาบันฝึกอบรมนักบินโดรนที่จัดตั้งโดย DTI ซึ่งจะเป็นสถาบันต้นแบบในการฝึกบินโดรน และให้บริการการฝึกบินที่ได้มาตรฐานให้กับประชาชนเพื่อให้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบการกำกับดูแลของอุตสาหกรรม และกิจกรรมการบินโดรนของประเทศไทย”

“ไฮไลท์เรื่องที่สอง คือ การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ HEMS โดยซีเอเอทีมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นสิ่งที่ซีเอเอทีจะให้การส่งเสริมในปีพ.ศ. 2563 นี้ คือ การปลดล็อคให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563เพราะระยะเวลาในการขนส่งผู้ป่วย 1 ชั่วโมงถือเป็น Golden Hour ที่มีค่า โดยซีเอเอทีได้ร่วมมือกับสถาบันการแพยท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่ง ทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์ และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย โดย HEMS มีจุดเด่น คือ สามารถเข้าถึงผู้ได้รับบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงหรือเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ใกล้ขึ้น รับส่งผู้บาดเจ็บ หรือบุคลากรทางการแพทย์นอกเขตสนามบินได้ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้มากยิ่งขึ้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินสากล และมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน”

“จากแผนงานดังกล่าวทั้งในด้านกำกับดูแลการบินพลเรือน และด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน ซีเอเอทีมั่นใจว่าจะ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีความเป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการจากนานาประเทศได้อย่างทัดเทียมในสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ของซีเอเอทีที่ว่า ‘มาตรฐานสู่ความยั่งยืน’” นายจุฬา กล่าวทิ้งท้าย