ธุรกิจดาวรุ่ง! SCB ประเมิน “ขนส่งพัสดุ” ปี 2020 โตพุ่ง 35% แข่งขันหนัก-ค่าบริการลดลง

  • ธุรกิจบริการ “ขนส่งพัสดุ” คือธุรกิจดาวรุ่งแห่งปีนี้ โดย SCB EIC ประเมินมูลค่าทั้งตลาดอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 35% จากปีก่อน ควบคู่ไปกับการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ
  • 2 เจ้าใหญ่ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย และ Kerry ครองส่วนแบ่งตลาดรวม 80% แต่มีผู้เล่นใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้การแข่งขันดุเดือด ค่าบริการลดลงเหลือเริ่มต้น 27 บาท เพื่อชิงลูกค้า
  • บริษัทจะยั่งยืนได้ต้องเป็นพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม มีโมเดลธุรกิจที่ลดต้นทุน

อี-คอมเมิร์ซโต ขนส่งพัสดุก็โตตาม! SCB EIC เปิดรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมขนส่งพัสดุของไทย พบว่าภาคธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโต 35% YoY ในปี 2020 ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญยังคงเติบโต โดยมองว่าปีนี้อี-คอมเมิร์ซจะโตขึ้นอีก 17% YoY ทำให้มีมูลค่าแตะ 1 แสนล้านบาท

ภาพรวมตลาดมีการแข่งขันกันดุเดือดขึ้น เพราะนอกจากผู้เล่นหน้าเก่าที่เราคุ้นเคยอย่าง “ไปรษณีย์ไทย” และ “Kerry Express” ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาห้ำหั่นเพิ่มขึ้นอีก สภาวะตลาดเป็นอย่างไร และ SCB EIC มองเทรนด์อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ติดตามต่อได้ด้านล่าง

 

ไปรษณีย์ไทย-Kerry ยังเป็นเจ้าตลาด

ข้อมูลจากปี 2018 ระบุส่วนแบ่งตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ มีเจ้าตลาด 2 รายที่ครองส่วนแบ่งรวมกัน 80% ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย มาร์เก็ตแชร์ 41% Kerry Express ตามมาแบบหายใจรดต้นคอที่ 39% ส่วน Lazada Express ซึ่งรับขนส่งให้แพลตฟอร์มของตัวเองมีส่วนแบ่งที่ 8% นอกเหนือจากนี้เป็นบริษัทรายอื่นๆ เช่น Nim Express ส่วนแบ่ง 3% DHL ส่วนแบ่ง 2%

อย่างไรก็ตาม แค่เพียงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2018-2019) มีผู้เล่นใหม่ที่เป็นทุนใหญ่จากต่างชาติเข้าตลาดมาถึง 3 ราย ได้แก่ Best Logistics ซึ่งมี Alibaba เป็นหุ้นส่วน, J&T Express ทุนจีนที่ขณะนี้เป็นเบอร์ 1 ธุรกิจขนส่งพัสดุในอินโดนีเซีย และ CJ Logistics บริษัทในเครือธุรกิจขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ และยังมีบริการเดลิเวอรีส่งด่วน เช่น Lalamove, Grab Express, Lineman เข้ามาชิงตลาดในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลอีกด้วย

 

กดค่าบริการเริ่มต้นเหลือเฉลี่ย 27 บาท

สภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการเลือกใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดย SCB พบว่าค่าบริการเริ่มต้นเฉลี่ยทั้งตลาดลดลงเหลือ 27 บาทในปี 2019 เทียบกับช่วงปี 2016-2018 ซึ่งเฉลี่ยเริ่มต้น 34 บาท หากเจาะลึกไปรายบริษัท จะพบว่าผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง J&T Express คือผู้ดัมพ์ราคาลงมาเริ่มต้นเพียง 19 บาท หรือผู้เล่นดั้งเดิมอย่าง ไปรษณีย์ไทย ก็กดราคาลงมาเริ่มต้นที่ 25 บาท และปีนี้ตลาดอาจจะลดราคาลงอีกเพื่อดึงดูดลูกค้า

การกดราคาลงเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขนส่งเฟื่องฟูทำให้ต้นทุนถูกลงเพราะเกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังแข่งขันกันให้การจัดส่งรวดเร็วและปลอดภัยขึ้น โดยขณะนี้การจัดส่งพัสดุทำได้เร็วที่สุดคือภายในวันเดียวสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภายในวันรุ่งขึ้นสำหรับต่างจังหวัด เทียบกับในอดีตต้องใช้เวลาจัดส่ง 5-7 วัน

ส่วนความปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคพิจารณามากขึ้น เพราะสินค้าที่ส่งมีมูลค่าสูงขึ้น อ้างอิงจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มูลค่าเฉลี่ยของสินค้าที่ส่งเพิ่มจาก 1,300 บาทต่อชิ้นในปี 2017 มาเป็น 1,700 บาทต่อชิ้นในปี 2018

 

จะเกิดอะไรขึ้นในโลกแห่งการขนส่งพัสดุ

SCB มองว่า เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญมากขึ้นในธุรกิจนี้ เช่น รถขนส่งมี GPS ติดตั้ง คลังสินค้าระบบอัจฉริยะ ใช้หุ่นยนต์แพ็กสินค้า กระทั่งใช้ยานยนต์ไร้คนขับหรือการใช้โดรนส่งในพื้นที่ห่างไกล

อย่างไรก็ตาม ในระยะใกล้ 2-3 ปีนี้ อาชีพ “คนขับรถ” จะมีความต้องการสูงขึ้น ประเมินจากทั้งบริษัทขนส่งพัสดุข้ามจังหวัดและบริษัทเดลิเวอรี่ส่งด่วน คาดว่าจะต้องการคนขับรถเพิ่มอีก 50,000 คน

รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าและร้านบริการรับพัสดุจะเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่ง SCB ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการเปิดร้านแฟรนไชส์ พึงคำนึงถึงทุกปัจจัยให้รอบด้าน เช่น ดีมานด์ผู้ใช้ในพื้นที่ ส่วนแบ่งรายได้จากแบรนด์ ฐานลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ การทับซ้อนจากร้านบริการพัสดุที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ทั้งแบรนด์เดียวกันและคู่แข่ง

 

แข่งขันหนัก ใครกันที่จะรอด

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่หรืออผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่กำลังต่อสู้กันในตลาด SCB มองว่าผู้ที่จะอยู่รอดได้ควรจะใช้กลยุทธ์เหล่านี้

1.เป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เพราะกลุ่มนี้เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการจัดส่งพัสดุจำนวนมาก แม้ว่าจะถูกหักค่าคอมมิชชั่นจากเจ้าของแพลตฟอร์มแต่จะทำให้ได้ลูกค้ามากขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทั้ง Lazada, Shopee และ JD Central คือ Kerry และ DHL

2.สร้างความแตกต่าง เจาะกลุ่มเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น SCG Express เป็นเจ้าแรกที่จัดส่งพัสดุควบคุมอุณหภูมิได้ หรือ Lalamove กับ Deliveree มีบริการเรียกรถขนส่งได้ 24 ชม. และจองล่วงหน้าได้

3.โมเดลความร่วมมือ เป็นการหาทางบริหารต้นทุน ตัวอย่างเช่น Best Express ใช้วิธีปล่อยสิทธิแฟรนไชส์ในการบริหารจัดส่งพัสดุช่วง Last-mile (การส่งขั้นสุดท้ายที่จะส่งให้บ้านลูกค้า) ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น ตัวบริษัทจะดูแลเฉพาะศูนย์กระจายสินค้า การขนส่งระหว่างศูนย์ฯ และซอฟต์แวร์ระบบ ทำให้ประหยัดต้นทุนมากกว่า

ต้องติดตามกันต่อว่าใครจะอยู่หรือไปในปี 2020!!