เจาะลึกเทรนด์ ‘E-Commerce’ ปี 2020 ปีที่ ‘คนกลาง’ กำลังจะหายไป

เจาะลึก 12 เทรนด์ E-Commerce ของไทยในปี 2020 โดยกูรูของวงการ ‘ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO and Founder tarad.com’ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยในการรับมือกับการแข่งขันและการเปลี่ยนเเปลงของตลาดในปีนี้ ซึ่งหลายสัญญาณบ่งบอกว่า ตลาดยิ่งโต ตัวกลางยิ่งอยู่ยาก

1. แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสเริ่มทำกำไร

หลังจากที่ลงทุนมาเป็นหมื่นล้านบาทตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ในที่สุดเหล่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee, Lazada และ JD Central เริ่มทำกำไรมากขึ้น อาทิ Shopee ที่เริ่มเก็บค่าคอมมิชชั่นและค่าบริการต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ Lazada ที่มีทั้งค่าโฆษณาและคอมมิชชั่นจาก Lazmall หรือแบรนด์ที่เข้ามาขายบนแพลตฟอร์ม

“Shopee ในปี 61 ขาดทุนกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ปี 62 เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมผู้ขาย 2% จากเดิมฟรี ดังนั้นจากนี้พ่อค้าแม่ค้าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วน Shopee จะขาดทุนน้อยลง ส่วน Lazada คาดว่าตลอด 5-6 ปียังขาดทุนเกือบหมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ บริการสั่งอาหารออนไลน์หรือเดลิเวอรี่เติบโตอย่างมาก และปีนี้จะมีการลงทุนในระบบ ‘คลาวด์คิทเช่น’ อีกมาก ดังนั้น ร้านอาหารควรต้องเข้าไปสู่ตลาด แต่การจะเข้าได้นั้น ร้านต้องมีแบรนด์ มีความน่าสนใจ ต้องแตกต่าง และด้วยคลาวด์คิทเช่น จะช่วยให้ร้านอาหารดังได้ทั่วไทยเพียงเกาะกับแพลตฟอร์ม

2. สงคราม E-Wallet ที่ยิ่งดุเดือด

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2562 การใช้งาน e-Money มีปริมาณการใช้งานทั้งสิ้น 473.27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 67 พันล้านบาท ส่วนปี 2561 มีปริมาณการใช้ 1,510.84 ล้านรายการ มูลค่า 209 พันล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ที่มีการใช้งานเพียง 1,272.22 ล้านรายการ มูลค่า 126 พันล้านบาท เรียกได้ว่าสงคราม E-Wallet ในเมืองไทยมาถึงแล้ว

ทั้งนี้ E-Wallet สามารถแบ่งได้ 4 รูปแบบ คือ 1. Pure Wallet เช่น True Money, Rabbit Line Pay (mPay), xCash, Dolfin, Blue Pay, AirPay สำหรับปีนี้กลุ่ม Pure Wallet น่าจะมีการฟาดฟันกันหนักมากขึ้น 2. E-Commerce Wallet วอลเล็ตของผู้ที่ให้บริการออนไลน์อยู่แล้ว เช่น Lazada Wallet, Shopee (AirPay), Grab Pay, Get Pay โดแต่ละรายพยายามจะดึงให้ผู้บริโภคฝากเงินไว้ที่ตัวเอง ผ่านการทำโปรโมชั่น

3. Mobile Banking เป็นกลุ่มที่ได้เปรียบ เพราะหลาย ๆ คนใช้บัญชีธนาคารอยู่แล้วและธนาคารเองยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง สุดท้าย Mobile Device Wallet เช่น Samsung Pay หรือนาฬิกา Fitbit Pay และ Garmin Wallet รวมไปถึง Apple Pay

“ตอนนี้ผู้ชนะใน E-Wallet ไทย คือ กลุ่มธนาคาร เพราะธนาคารตั้งใจจะเป็น every day app และใครก็ตามที่ชนะจะได้ข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ยังเผลอไม่ได้ เพราะ E-wallet มีหลายราย”

3. สงครามขนส่ง (E-Logistic)

ยิ่งอีคอมเมิร์ซเติบโต การขนส่งยิ่งโตตาม ปัจจุบันมีบริษัทขนส่งกว่า 10 บริษัท หลายบริษัทมาจากจีน และในปี 2563 จะยิ่งมีมากขึ้น ยังไม่รวมพวก Grab Express หรือ GET Express ซึ่งการส่งของภายในวันเดียว (Same day Delivery) เป็นเรื่องปกติ ต่อไปจะเป็นการส่งภายใน 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

4. บริการ Fulfillment Service ที่จะยิ่งเติบโต

บริการ Fulfillment Service หรือ Outsource แพ็ก-ส่งสินค้า โดยปีนี้จะยิ่งโตมากขึ้น เพราะผู้ขายที่มีจำนวนออเดอร์ปริมาณมากไม่สามารถจัดการเองได้ ในไทยตอนนี้อาจมีอยู่ไม่เยอะมากนัก เช่น Trustbox Fulfillment, Siam Outlet, MyCloud Fulfillment แต่แพลตฟอร์มอย่าง Lazada หรือ Shopee ก็เริ่มมี fulfillment ของตัวเอง

5. Brand กระโดดเข้าสู่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

เพราะการมาของ Mall ต่าง ๆ เช่น Shopee Mall, LazMall และ JD Central เองที่เน้นสินค้าแบรนด์ ดังนั้น แบรนด์จะกระโดดเข้ามาขายออนไลน์มากขึ้น ๆ โดยไม่ผ่านดีลเลอร์ ซัพพลายเออร์ ส่งผลกระทบต่อบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือบรรดาตัวแทนสินค้า เพราะผู้ผลิตสินค้าหรือโรงงานเริ่มขายตรงกับผู้บริโภคเอง

“ทุกแบรนด์เริ่มมาเปิดขายตรงบนมาร์เก็ตเพลส เพราะได้รายได้มากกว่า และยังได้ข้อมูลลูกค้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล เพราะคนกลางจะตาย”

6. การค้าข้ามประเทศ Cross Border ที่ไทยต้องหาทาง Go Inter

ในส่วนของ Inbound Cross Border หรือสินค้าที่มาจากต่างประเทศ เป็นส่วนที่น่าเป็นห่วง แค่เฉพาะสินค้าจากจีนบน 3 มาร์เก็ตเพลสดังของไทยมีสัดส่วนถึง 77% หรือประมาณ 135 ล้านชิ้น ขณะที่สินค้าไทยมีสัดส่วนแค่ 23% หรือประมาณ 39 ล้านชิ้นเท่านั้น ซึ่งเริ่มชัดแล้วว่าสินค้าจีนกำลังบุกมามากขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลต้องเน้นด้าน Outbound Cross Border หรือการนำสินค้าออกทางออนไลน์ ตอนนี้มีหลายมาร์เก็ตเพลสอย่าง Amazon, eBay, Wish, Rakuten และ Alibaba ที่เป็นช่องทางเอาสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศได้

“ตอนนี้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทย ซึ่งอันตรายมาก เพราะราคาสินค้าของเขาถูกกว่า โดยราคาสินค้าไทยเฉลี่ยที่ 700 กว่าบาท/ออเดอร์ ส่วนจีนเฉลี่ย 350 บาท/ออเดอร์ ถูกกว่าครึ่ง มีเพียงสินค้าประเทศ อาหาร, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ ตั๋วและสิทธิพิเศษที่ยังขายได้ ดังนั้นอย่าอยู่แค่ไทยไปขายนอกประเทศ อย่างตอนนี้ตลาด CLMV น่าสนใจมาก”

7. โซเชียลคอมเมิร์ซ 

เป็นส่วนที่เติบโตเยอะ เนื่องจากเม็ดเงินมหาศาลจากสื่อโฆษณาออนไลน์จะเทลงมาในโซเชียลมีเดียมากขึ้น ปีที่ผ่านมามียิงการโฆษณาบนเฟซบุ๊กเดือนละเป็นล้านบาท เนื่องจากยิงไปแล้วยอดขายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โซเชียลคอมเมิร์ซโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ร้านค้าที่มีลูกค้าน้อย อาจจะลองเข้าไปใน ‘เฟซบุ๊กกรุ๊ป’ ที่จะมีการขายสินค้าแบบเฉพาะกลุ่ม เพื่อขยายตลาดดึงลูกค้าใหม่ ๆ

8. Live & Conversational Commerce ไลฟ์อย่างไรให้ปังกว่าชาวบ้าน

การค้าแบบไลฟ์และแชทจะมาจริง ๆ แล้ว ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า Lazada มีไลฟ์สดขายของ Shopee ก็มีไลฟ์ขายของ ทุกคนมองการทำไลฟ์เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขายของออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ปีนี้เราจะเจอแพลตฟอร์มเพื่อการไลฟ์ขายของที่สามารถเก็บเงินได้เลย และมีการทำระบบการจัดการขายของบนไลฟ์อย่างเดียว

“ไลฟ์แบบเดิม ๆ ยอดอาจจะตก ดังนั้นต้องรีเฟรชตัวเองตลอดเวลา โดยเทคนิคการไลฟ์ อย่างแรกต้องมีคาแร็กเตอร์, มีการวางแผนล่วงหน้า มีสคริปต์ มีธีม, มีเวลาที่ชัดเจน และบอกล่วงหน้า เนื้อหาในการไลฟ์ต้องน่าสนใจ ต้องอธิบายสินค้าและบริการแบบลงลึกทุกรายละเอียด พยายามทักทายผู้ชม เพื่อให้มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม ชวนคนแชร์ live เพื่อให้เกิดการบอกต่อ ต้องวางสินค้าดึงดูด ให้โดดเด่นน่าสนใจ มีโปรโมชั่น กระตุ้นให้เขาซื้อ”

9. นำ Data แตกไลน์ธุรกิจ

ผู้ที่มีข้อมูลผู้บริโภคและร้านค้า จะนำข้อมูลดังกล่าว หรือ Big Data ไปต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ อาทิ Grab ที่เตรียมปล่อยเงินกู้ เช่นเดียวกันกับ Lazada และ GET ที่จะมีการปล่อยกู้เช่นกัน ดังนั้นในปีนี้จะเห็นการนำ data มาใช้มากขึ้น

“บิ๊กดาต้าเป็นอะไรที่ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ใหญ่หรือร้านใหญ่ ร้านเล็ก ๆ ก็ทำได้ ดังนั้นต้องเก็บดาต้าต่อไปและควรเริ่มตั้งแต่วันนี้”

10. อีคอมเมิร์ซเฉพาะทาง Vertical E-Commerce

อย่าง Pomelo ขายสินค้าแฟชั่น หรือ Konvy ที่ขายเครื่องสำอางอย่างเดียว การจับตลาดเฉพาะ จะทำให้โดดเด่นมาก อีกทั้งอาจจะสามารถทำให้เกิดบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ ได้

11. ออมนิชาแนล

ออนไลน์กับออฟไลน์ทุกช่องทางจะประสานเข้าด้วยกันอย่างเห็นได้ชัด อย่าง JIB สามารถซื้อออนไลน์ และไปรับหน้าร้านได้ หรือไปหน้าร้านแต่ไม่มีของ ก็สามารถให้ทางร้านสั่งออนไลน์และรอรับได้

12. กฎหมายดิจิทัลที่ออกครบ

กฎหมาย 6 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ Digital การค้าออนไลน์ ได้แก่ 1. พ.ร.บ. ภาษีอีเพย์เมนต์ ที่จะเริ่มมีการตรวจสอบข้อมูล การโอนเงินต่าง ๆ รวมถึงจำนวนครั้งที่โอน 2. พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต่อไปนี้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างจะมีกฎหมายรองรับ 3. พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีการปรับปรุงเช่นเดียวกัน 4. พ.ร.บ. คุุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 5. พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่มอบอำนาจให้กับภาครัฐในการควบคุมความมั่นคงของประเทศ และ 6. พ.ร.บ. ภาษี E-Business จะเป็นการเก็บรายได้จากธุรกิจต่างชาติ

“เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ทำงานครบ จะสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น บางอย่างก็เป็นข้อดี เช่น ภาษี E-Business ที่ต่อไปหากต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็ต้องมีการเสียภาษี และจะทำให้เราได้เห็นตัวเลขสำคัญหลายอย่าง จึงอาจต้องมีการกลับมาคุยกันมากขึ้นในเรื่องของการปรับตัวเนื่องจากกฎหมายเหล่านี้”

ทั้งนี้ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซกำลังจะ ฆ่า ร้านค้าท้องถิ่นหรือโชห่วยในต่างจังหวัด เพราะ 55.9% ของยอดขายออนไลน์มาจากต่างจังหวัด ดังนั้นเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปีร้านในชุมชนจะปิดตัวลง ดังนั้นนี่เป็นความท้าทายของร้านค้าในต่างจังหวัดที่จะต้องปรับตัวให้ได้