สรุปไทม์ไลน์ “Brexit” มหากาพย์ 3 ปีแห่งความปั่นป่วนก่อน UK พ้นสมาชิกสภาพคืนนี้

เป็นเวลาสามปีครึ่งหลังการลงประชามติของชาวอังกฤษ เพื่อตัดสินใจให้ประเทศของตนลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นป่วนทางการเมืองและเศรษฐกิจตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในที่สุด สหราชอาณาจักรจะพ้นการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการแล้วคืนนี้

สมาชิกรัฐสภายุโรปเพิ่งลงมติรับรองเงื่อนไขข้อตกลง Brexit ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 29 มกราคม 2020 ซึ่งหมายถึงสหราชอาณาจักรกำลังจะได้ออกจากการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นสภายุโรปได้ร่วมกันร้องเพลง Auld Lang Syne เพื่อบอกลาสมาชิกจาก UK ทำให้บรรยากาศในรัฐสภายุโรปอึมครึมและโศกเศร้ายิ่ง

ประวัติศาสตร์ 47 ปีของ UK ที่ได้ร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังจะสิ้นสุด ณ เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ (หรือ 6.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 ตามเวลาประเทศไทย) เราขอชวนคุณมาย้อนติดตาม ไทม์ไลน์ของการ “Brexit” ที่ไม่ง่าย และต้องใช้เวลาถึง 3 ปีครึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้

 

มิถุนายน 2016: ลงประชามติ Brexit

เหตุผลหลักๆ ของการเปิดลงประชามติเพื่อ Brexit ของชาวอังกฤษ เกิดจากความรู้สึกประชาชนจำนวนมากที่มองว่า UK เสียมากกว่าได้ ในการอยู่กับ EU เพราะการเป็นสมาชิกทำให้ต้องจ่ายค่าสมาชิกมหาศาล และอังกฤษยังเป็นประเทศที่รับผู้อพยพเข้ามาซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายรวมถึงมีผลต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่

การลงประชามติครั้งนี้นับเป็นแผ่นดินไหวสะเทือนวงการการเมืองอังกฤษในรอบหลายทศวรรษ เมื่อประชาชนโหวตเพื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก EU ด้วยคะแนนฉิวเฉียด 52 ต่อ 48 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้ “เดวิด คาเมรอน” นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 24 มิถุนายน 2016 เพื่อเปิดทางให้ผู้นำคนใหม่เข้ามานำพาประเทศไปในทิศทางที่ประชาชนเลือก เนื่องจากตัวคาเมรอนเองมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการให้ UK ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

กรกฎาคม 2016: เธเรซ่า เมย์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ

ภายในพรรคอนุรักษนิยมมีการแข่งขันกันภายในอย่างดุเดือดเพื่อคัดเลือกสมาชิกขึ้นเป็นนายกฯ แทนที่คาเมรอน ในที่สุด “เธเรซ่า เมย์” คือผู้ชนะและรับตำแหน่งนายกฯ พร้อมภารกิจสุดหิน นั่นคือการเจรจาเงื่อนไขการลาออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปให้สำเร็จ โดยเงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นที่พอใจทั้งฝั่งรัฐสภายุโรปและรัฐสภาอังกฤษ

เธเรซ่า เมย์ ในวันแรกที่่ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ (Photo by Karwai Tang/Getty Images)

ตุลาคม 2016: แผน Brexit ร่างแรก

ผ่านไปหลายเดือน ในที่สุดนายกฯ เมย์เผยเงื่อนไขร่างแรกของการ Brexit ในที่ประชุมพรรคอนุรักษนิยมที่เบอร์มิงแฮม โดยใจความสำคัญคือสหราชอาณาจักรจะไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมแห่งยุโรปอีกต่อไป และส่งสัญญาณว่าเธอมีความตั้งใจที่จะออกจากระบบตลาดเดียว (*ระบบตลาดเดียวคือระบบที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และคนได้อย่างเสรี เช่น การนำเข้า-ส่งออกสินค้าใน EU สามารถส่งข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษี)

ต่อมา เมย์ปาฐกถาอย่างชัดเจนในเดือนมกราคม 2017 ว่าเธอต้องการพาอังกฤษออกจากระบบตลาดเดียว และปฏิเสธโมเดลการเป็น ‘กึ่ง’ สมาชิก EU แบบนอร์เวย์ ลิคเทนสไตน์ หรือไอซ์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก EU แต่ยังอยู่ในระบบตลาดปลอดภาษีกับสหภาพยุโรปอยู่

มีนาคม 2017: เมย์ประกาศใช้มาตรา 50

รัฐสภาอังกฤษโหวตการประกาศใช้มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน 2007 เป็นมาตรากฎหมายว่าด้วยการแจ้งเรื่องขอลาออกจากการเป็นสมาชิก EU ทำให้การเจรจาเพื่อ Brexit เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป ยืนยันได้รับการแจ้งจากรัฐบาลอังกฤษและจะเริ่มเปิดการเจรจา พร้อมกับตั้งเดดไลน์การเจรจาจะต้องลุล่วงภายในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หรือ 2 ปีนับจากวันได้รับแจ้ง

เมษายน 2017: เลือกตั้งทั่วไป

ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่ชนะขาดดังที่เห็นจากผลลงประชามติ ทำให้ UK ตกอยู่ในความแตกแยก เพราะเมื่อเจาะลึกลงในผลโหวต Brexit จะเห็นได้ว่ากลุ่มวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นส่วนใหญ่โหวตให้อยู่กับ EU ต่อไป ขณะที่วัยเบบี้บูมโหวตลาออก รวมถึงในแง่ภูมิศาสตร์ด้วย ประเทศทางตอนเหนืออย่างสก๊อตแลนด์ต้องการอยู่กับ EU แต่ประเทศอังกฤษกลับต้องการลาออก ดังนั้นในรัฐสภาอังกฤษจึงปั่นป่วนเช่นกัน

สภาพการณ์นี้นำไปสู่การตัดสินใจที่น่าตกตะลึงของเธเรซ่า เมย์ โดยเธอประกาศจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ถือเป็นการตัดสินใจที่นำตำแหน่งทางการเมืองของเธอเข้าเสี่ยงอย่างมาก เพราะผลการเลือกตั้งนั้นไม่มีใครรู้ว่าพรรคอนุรักษนิยมจะได้คะแนนเสียงและจำนวนส.ส.มากขึ้นหรือน้อยลง

แต่เมย์อธิบายการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นเพราะส.ส.หลายรายในสภาพยายามขัดขวางแผนการเจรจาเพื่อลาออกจาก EU “ประเทศนี้กำลังเดินไปทางเดียวกัน แต่รัฐสภาไม่เป็นเช่นนั้น” เมย์กล่าว

เธเรซ่า เมย์ ในช่วงหาเสียงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 8 มิถุนายน 2017 (Photo by Carl Court/Getty Images)

การเสี่ยงดวงของเมย์นำไปสู่หายนะ เพราะหลังการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน 2017 ผลปรากฏว่าพรรคอนุรักษนิยมได้จำนวนที่นั่งส.ส.น้อยลงไปอีก และพรรคแรงงานซึ่งสนับสนุนการอยู่ใน EU ต่อมาตลอดได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น จนพรรคอนุรักษนิยมมี ส.ส.มากกว่าพรรคแรงงานแค่ 8 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม โชคดีที่พรรคแรงงานเองยังมีเสียงไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคอนุรักษนิยมยังได้เป็นรัฐบาลผสม โดยต้องดึงเสียงจากพรรค DUP มาเข้าร่วม

ธันวาคม 2017: เฟสที่สองของ Brexit

หลังจากนั้นสหราชอาณาจักรเจรจากับ EU อย่างต่อเนื่องและยากลำบาก จนถึงเดือนธันวาคม 2017 เมย์จึงเผยข้อตกลงเบื้องต้นกับ EU เกี่ยวกับ 3 ประเด็นหลักเพื่อ “หย่าขาด” กับสหภาพยุโรป ได้แก่ ประเด็นพรมแดนประเทศไอร์แลนด์ (*ประเทศไอร์แลนด์ยังเป็นสมาชิก EU อยู่ ทำให้ชายแดนที่ติดกับ UK ระยะทาง 500 กม. เป็นปัญหาที่ต้องตกลงกันถ้า UK ออกจาก EU แล้ว) ประเด็นค่าธรรมเนียมการลาออกที่ UK ต้องจ่ายให้ EU และประเด็นสิทธิของประชาชนชาวยุโรป

พรมแดนระหว่างประเทศไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร

ฤดูร้อน 2018: ออกกฎหมาย Brexit + รัฐบาลป่วน

เดือนมิถุนายน 2018 มีความคืบหน้าไปอีกขั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายการถอนตัวจากการเป็นสมาชิก EU กฎหมายนี้จะว่าด้วยการโอนย้ายกฎหมายของสหภาพยุโรปมาใช้ในกฎหมายของสหราชอาณาจักรด้วยหลัง Brexit แล้ว แต่รายละเอียดสำคัญๆ ยังต้องอภิปรายกันต่อ

หลังจากนั้นเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลมีการจัดประชุมที่บ้านเชคเกอร์ บ้านพักตากอากาศประจำตำแหน่งนายกฯ เหล่ารัฐมนตรีต่างอนุมัติแผน Brexit ของเมย์ที่มุ่งเป้าการคงความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหภาพยุโรปไว้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาเขตการค้าปลอดภาษี UK-EU ด้วย

แต่แล้วทั้ง “เดวิด เดวิส” เลขาธิการ Brexit และ “บอริส จอห์นสัน” เลขาธิการรัฐด้านกิจการต่างประเทศ กลับประกาศลาออกจากรัฐบาล โดยจอห์นสันกล่าวว่าเป็นเพราะแผนการของนายกฯ เมย์จะทำให้อังกฤษ “มุ่งไปสู่สถานะการเป็นอาณานิคมของ EU อย่างแท้จริง”

แม้จะมีการลงประชามติไปแล้ว แต่การประท้วงเพื่อหยุดยั้งการลาออกจาก EU ยังคงมีขึ้นต่อเนื่องในสหราชอาณาจักร (Photo by Dan Kitwood/Getty Images)

พฤศจิกายน 2018: ร่างแรกเตรียมเข้าสู่รัฐสภา + รัฐบาล (ยังคง) ป่วน

เส้นตายงวดเข้ามาทุกที ในที่สุดร่างแรกของข้อตกลง Brexit ก็ได้รับการยอมรับร่วมกันทั้งจากฝั่งรัฐบาล UK และสภา EU

แต่ระหว่างที่เมย์ก้าวต่อไปสู่การอภิปรายกับคณะรัฐมนตรีถึงเนื้อหารายละเอียดของข้อตกลง คณะรัฐมนตรีของเมย์ต้องเจอความปั่นป่วนแบบฉายซ้ำวนลูป เมื่อ “โดมินิค ราอับ” เลขาธิการ Brexit (คนใหม่) และ “เอสเธอร์ แมคเวย์” เลขาธิการรัฐด้านงานและบำนาญ พร้อมใจกันลาออก โดยกล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ให้เกียรติต่อผลของการลงประชามติ

ท่ามกลางความปั่นป่วนในคณะทำงานของรัฐบาลเองและความเป็นไปได้ที่สภาผู้แทนราษฎรจะคัดค้านแผน Brexit ของเธอ ในเดือนธันวาคม 2018 เมย์ก็ยังตัดสินใจเปิดโหวตครั้งสำคัญในสภาเพื่อตัดสินใจว่า ดีล Brexit นี้จะผ่านหรือไม่ผ่านมติที่ประชุม

ก่อนจะไปถึงการนำแผน Brexit เข้าสภา พรรคอนุรักษนิยมมีการจัดโหวตลับเพื่อลงมติไว้วางใจในความเป็นผู้นำของเธเรซ่า เมย์ ซึ่งเธอชนะไปด้วยคะแนนเสียง 200 ต่อ 117 ทำให้เธอยังคงดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป

มกราคม-มีนาคม 2019 : ข้อตกลง Brexit ถูกตีตกแบบยับเยินในสภา

เหลืออีก 2 เดือนกว่าก่อนถึงเดดไลน์ เมย์นำข้อตกลง Brexit เข้ารัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งกลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญ เพราะส.ส.โหวตค้านข้อตกลงฉบับนี้แบบขาดลอยโดยเสียงค้านชนะไปถึง 230 เสียง แม้แต่ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมข้างฝ่ายรัฐบาลเองก็โหวตค้านเป็นจำนวนมาก

ข้อตกลง Brexit เข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งที่สองในเดือนมีนาคม 2019 และยังคงถูกตีตกเหมือนเดิม ทำให้นายกฯ เมย์ต้องหาทางขอขยายเวลากับ EU ไปถึงเดือนมิถุนายน 2019

ฤดูใบไม้ผลิ 2019 : ขยายเวลาการ Brexit + นายกฯ เมย์ลาออก

หลังหารือกับสภายุโรป EU อนุมัติให้สหราชอาณาจักรขยายเวลาการลาออกจาก EU ไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2019

แต่แล้วเธเรซ่า เมย์ กลับประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019 หลังการต่อสู้และทนแรงกดดันมาเนิ่นนาน

“ดิฉันจะลาออกจากตำแหน่งเร็วๆ นี้ และรู้สึกเป็นเกียรติของชีวิตที่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้” เธอกล่าว “นี่คือยุคของนายกฯ หญิงคนที่สองแห่งอังกฤษ แต่จะไม่ใช่คนสุดท้ายอย่างแน่นอน ดิฉันลาออกโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่ทำไปเพื่อแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่ได้รับใช้ประเทศที่ดิฉันรัก” เมย์กล่าวแถลงการณ์หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่งด้วยน้ำตา

เธเรซ่า เมย์ แถลงการลาออกจากตำแหน่งทั้งน้ำตา (Photo by Leon Neal/Getty Images)

กรกฎาคม 2019 : บอริส จอห์นสัน ขึ้นเป็นนายกฯ

เธเรซ่า เมย์ ลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และ บอริส จอห์นสัน ชนะคู่แข่งในพรรคอนุรักษนิยม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยเขาแสดงความแข็งกร้าวและประกาศจุดยืนนำอังกฤษออกจาก EU ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 แบบ “ไม่มีคำว่าถ้า ไม่มีคำว่าแต่” จอห์นสันกล่าวว่าตนเอง “เชื่อว่าสามารถออกจาก EU โดยดีลข้อตกลงได้สำเร็จ” แต่อย่างไรก็ตาม เขาจะเตรียมตัวสำหรับการออกแบบ No-deal Brexit ไว้ด้วย

บอริส จอห์นสัน โบกมือทักทายหน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่ง ในวันรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (Photo: Wiktor Szymanowicz / Barcroft Media via Getty Images)

ตุลาคม 2019 : ดีลครั้งใหม่

จอห์นสันเริ่มเสนอแผน Brexit อย่างเป็นทางการกับ EU โดยข้อสำคัญคือการหาทางแก้ปัญหาพรมแดนประเทศไอร์แลนด์กับพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือของ UK โดยนายกฯ จอห์นสันประกาศว่าดีลครั้งนี้เป็น “ดีลที่ยอดเยี่ยม” และจะทำให้ UK ได้ออกจาก EU ทั้งหมด ประกอบด้วยอังกฤษ สก๊อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่ดีลของเขาก็ยังไม่ผ่านสภาอังกฤษเสียที จนต้องขอเลื่อนการ Brexit กับ EU อีกครั้งเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020

ในที่สุด เพื่อล้างไพ่ให้เสียงในสภาเข้าข้างเขา จอห์นสันพยายามผลักดันการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่เร็วกว่ากำหนดจนสำเร็จ และการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2019

ธันวาคม 2019 : จอห์นสันชนะท่วมท้น ปลดล็อก Brexit

จอห์นสันหาเสียงด้วยการชูนโยบาย “ทำ Brexit ให้สำเร็จ” และเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น โดยมี ส.ส.มากกว่าพรรคแรงงานถึง 80 ที่นั่ง เสียงที่ได้เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้จอห์นสันมีโอกาสดันดีล Brexit ผ่านรัฐสภาอังกฤษมากกว่าในยุคของเมย์ ส่วนพรรคแรงงานซึ่งได้รับผลการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1935 ส่งผลให้ “เจเรมีย์ คอร์บิน” ต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

บอริส จอห์นสัน หลังชนะเลือกตั้งทั่วไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2019

มกราคม 2020 : Brexit (จริงๆ)

เมื่อได้รับชัยชนะท่วมท้น ทำให้ข้อตกลงยอมรับการ Brexit ของจอห์นสันผ่านสภาสำเร็จ จากนั้นจึงเข้าสู่สภายุโรป และได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 29 มกราคม

ในวันที่ 31 มกราคม 2020 เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ และเข้าสู่ “ช่วงการเปลี่ยนผ่าน” เป็นเวลา 11 เดือนนั่นคือจนถึง 31 ธันวาคม 2020

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมของการ Brexit คือชื่อและธงชาติอังกฤษจะถูกปลดออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงจะไม่มีผู้แทนของ UK เข้าร่วมกับสหภาพยุโรปอีกต่อไป แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ช่วงนี้การค้าขาย การเดินทาง และอยู่อาศัยข้ามประเทศจะยังดำเนินไปตามปกติก่อน

UK ได้ออกจาก EU ไปแล้วแบบไม่มีทางหันหลังกลับ แต่ทางเดินยังไม่สิ้นสุดเท่านี้ เพราะในเวลา 11 เดือน บอริส จอห์นสันจะต้องดีลข้อตกลงต่างๆ กับ EU ให้ได้ โดยเฉพาะข้อตกลงทางการค้า มิฉะนั้นแล้วอังกฤษจะต้องออกแบบ No-deal Brexit จริงๆ ซึ่งนั่นหมายถึงกำแพงภาษีของ EU ที่จะเกิดขึ้นทันทีและมีผลกับเศรษฐกิจประเทศอังกฤษ

Source: The Independent, CNN